ข้อควรระวังเมื่อคิดจะก่อหนี้

ข้อควรระวังเมื่อคิดจะก่อหนี้

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
“เมื่อคิดจะก่อหนี้ ควรพิจารณาให้รอบคอบถึงความจำเป็น อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาในการผ่อนชำระ และความสามารถในการจ่ายหนี้”
ใครบ้างที่อยากเป็นหนี้ คำถามนี้ ถามใคร ก็คงไม่มีใครอยากเป็น แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่า แม้ไม่อยากเป็นหนี้ แต่ก็อาจหนีไม่พ้น ด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความต้องการพื้นฐาน บ้าน รถ หรือในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ฉุกเฉินต้องการใช้เงินด่วน ทั้งนี้ ไม่ว่าเหตุผลที่ทำให้ต้องเป็นหนี้คืออะไร ก่อนจะก่อหนี้ อยากให้พิจารณาให้รอบคอบ ดังนี้
ก่อหนี้เพื่อซื้อบ้าน
บ้านเป็นหนึ่งในปัจจัยสี่ที่สำคัญต่อการดำรงชีวิต ซึ่งการจะซื้อบ้านด้วยเงินสดไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะราคาค่อนข้างสูง อาจต้องเก็บเงินทั้งชีวิตเพื่อให้ได้บ้านสักหลัง สถาบันการเงินจึงได้ออกแบบสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ซึ่งมีระยะเวลาผ่อนชำระยาวนานกว่าสินเชื่อประเภทอื่น แต่จะนานแค่ไหนขึ้นอยู่กับอายุผู้ขอสินเชื่อ โดยสูงสุดมักไม่เกิน 30 ปี
สำหรับวงเงินสินเชื่อที่ได้รับ จะพิจารณาจากรายได้และภาระผ่อนหนี้ในปัจจุบัน ซึ่ง K-Expert แนะนำว่าสัดส่วนการผ่อนสินเชื่อทุกประเภทที่เหมาะสมคือ ไม่เกิน 30% ของรายได้ต่อเดือน ถ้าเราไม่มีภาระผ่อนใดๆ เลย ก็มีโอกาสขอสินเชื่อบ้านได้ในวงเงินที่สูงขึ้น และโดยทั่วไปจะกู้ได้ไม่เกิน 80-90% ของมูลค่าบ้าน ดังนั้น เมื่อตัดสินใจกู้ซื้อบ้านควรเตรียมเงินก้อนหนึ่งเพื่อดาวน์บ้านอย่างน้อย 10-20% ของมูลค่าบ้าน
ทั้งนี้ ไม่ใช่เพียงเตรียมเงินเพื่อดาวน์บ้านเท่านั้น ยังต้องเตรียมเงินเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอื่นๆ อีกด้วย เช่น ค่าโอน จ่ายให้กรมที่ดิน 2% ของราคาประเมิน ซึ่งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงกันว่าใครจะเป็นคนจ่าย หรือจ่ายคนละครึ่ง ค่าจดจำนอง 1% ของสัญญาจำนอง ค่าอากรแสตมป์ 0.05% ของวงเงินกู้ ค่าประเมินหลักประกันประมาณ 3,000 บาท ค่ามิเตอร์น้ำและไฟฟ้าประมาณ 7,000 บาท ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์ของแต่ละคน
แนะนำให้ ลองคำนวณดูว่าเงินคงเหลือในแต่ละเดือนหลังหักค่าใช้จ่ายจำเป็นและหนี้สินอื่นๆ เพียงพอแค่ไหนสำหรับค่าผ่อนบ้าน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ต้องจ่ายทุกเดือน หรือทุกปี เช่น ค่าส่วนกลาง ค่าน้ำไฟ ค่าประกันอัคคีภัย เพราะการซื้อบ้านที่ถูกใจ แต่เกินกำลังอาจนำมาซึ่งปัญหาการเงิน ทำให้สุดท้ายอาจไม่เหลืออะไรเลยแม้แต่บ้านในฝัน
ก่อหนี้เพื่อซื้อรถยนต์
แม้ปัจจุบันจะมีระบบขนส่งสาธารณะหลากหลายรูปแบบเป็นทางเลือกในการเดินทาง แต่รถยนต์ยังคงเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในการใช้ชีวิตของใครหลายๆ คน ถือเป็นสินทรัพย์อีกประเภทหนึ่งที่มีราคาไม่น้อย สถาบันการเงินจึงมีบริการสินเชื่อรถยนต์ ซึ่งมีทั้งสินเชื่อรถใหม่และสินเชื่อรถใช้แล้วให้เลือกใช้บริการ
• รถใหม่ มักให้วงเงินสินเชื่อประมาณ 75-80% ของราคารถยนต์ อีก 20-25% ผู้ซื้อต้องวางเงินดาวน์
• รถใช้แล้ว วงเงินสินเชื่อมักขึ้นอยู่กับสภาพรถ ระยะทาง และอายุการใช้งาน โดยอัตราดอกเบี้ยของสินเชื่อรถใช้แล้วจะสูงกว่าสินเชื่อรถใหม่ เนื่องจากมีความเสี่ยงสูงกว่าหากต้องนำรถใช้แล้วมาขายทอดตลาด
สินเชื่อรถยนต์มีลักษณะเป็นการเช่าซื้อ นั่นคือ ผู้เช่าซื้อต้องจ่ายเงินเป็นงวดๆ โดยสามารถนำรถมาใช้งานได้ก่อนแม้ยังผ่อนไม่หมด แต่กรรมสิทธิ์ในรถจะยังไม่เป็นของผู้เช่าซื้อจนกว่าจะชำระเงินครบตามสัญญา ส่วนการคิดดอกเบี้ยส่วนใหญ่คิดแบบดอกเบี้ยคงที่ (Flat Rate) ซึ่งคิดจากเงินต้นทั้งจำนวนและระยะเวลาการผ่อนชำระทั้งหมด
ต้องบอกว่า ราคารถมักตกลงอย่างรวดเร็ว ผิดกับบ้านหรือที่ดินที่ราคามักปรับสูงขึ้น ดังนั้น ก่อนตัดสินใจซื้อรถ อยากให้พิจารณาถึงความจำเป็นก่อนว่า ซื้อรถเพื่อวัตถุประสงค์อะไร เช่น ใช้ทำมาหากินสร้างรายได้ บ้านและที่ทำงานอยู่ไกลกัน เดินทางด้วยรถสาธารณะไม่สะดวก แบบนี้ก็ดูจำเป็นต่อการซื้อรถ แต่ถ้าซื้อรถเพราะอยากอวดเพื่อน ให้ดูโก้หรู ในขณะที่ตัวเองก็มีหนี้สินหรือค่าใช้จ่ายเยอะ รถอาจกลายเป็นภาระที่สร้างปัญหาการเงินตามมาได้
ก่อหนี้เพื่อความจำเป็นฉุกเฉิน
บางครั้งเราอาจไม่ตั้งใจก่อหนี้ แต่มีความจำเป็นบางอย่างเข้ามาในชีวิตและเราอาจตั้งรับไม่ทัน อย่างเช่น ประสบอุบัติเหตุ รถเสีย น้ำท่วม ดังนั้น การก่อหนี้ในลักษณะนี้ จึงเป็นลักษณะเร่งด่วน ซึ่งเราสามารถเลือกใช้สินเชื่อดังต่อไปนี้
– บัตรกดเงินสด (Emergency Cash Advance)
เป็นบัตรที่ให้วงเงินสำหรับการกดเงินสด มีข้อดีคือ หากจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วน สามารถถอนเงินได้ที่ตู้เอทีเอ็ม โดยทั่วไปไม่มีค่าธรรมเนียมในการกดเงิน อัตราดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดจะอยู่ที่ 20-28% ต่อปี ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงิน สามารถจ่ายคืนขั้นต่ำได้ตั้งแต่ 5% ของยอดใช้จ่าย ทั้งนี้ ดอกเบี้ยบัตรกดเงินสดจะเริ่มคิดเมื่อมีการกดถอนเงินสดออกมา ถ้าไม่มีการกดเงินสดก็จะไม่มีค่าธรรมเนียมหรือดอกเบี้ยเกิดขึ้น ดังนั้น การมีบัตรกดเงินสดติดตัวไว้เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนยามต้องการเงินฉุกเฉินได้
– บัตรเครดิต (Credit Card)
เป็นบัตรที่ช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมากทำให้มีความปลอดภัยในการใช้จ่ายมากขึ้น ได้ใช้สินค้าหรือบริการก่อนค่อยชำระเงินในภายหลัง แต่หากจำเป็นต้องใช้เงินสด ก็สามารถนำบัตรเครดิตไปกดเงินจากตู้เอทีเอ็มได้ไม่เกินวงเงินที่ได้รับอนุมัติ อย่างไรก็ตาม หากไม่สามารถชำระเงินเมื่อครบกำหนดได้เต็มจำนวน โดยชำระเพียงบางส่วน หรือจ่ายเพียงยอดขั้นต่ำ 10% หรือมีการกดเงินสดจากบัตรเครดิต จะเสียดอกเบี้ยที่สูงถึง 20% ต่อปี โดยดอกเบี้ยจะคำนวณจากยอดหนี้เต็มจำนวนตั้งแต่วันที่รูดซื้อของ หรือวันที่สถาบันการเงินผู้ออกบัตรจ่ายเงินค่าสินค้าหรือบริการแทนเจ้าของบัตรไปก่อน สำหรับการกดเงินสด จะคิดดอกเบี้ยตั้งแต่วันที่กดเงินสด จนถึงวันที่ชำระเงิน นอกจากนี้ การกดเงินจากบัตรเครดิตยังมีค่าธรรมเนียมการกดเงินสดอยู่ที่ 3% ของยอดเงินที่กดอีกด้วย
– สินเชื่อส่วนบุคคล
เป็นสินเชื่อที่ไม่ต้องมีหลักประกัน มักให้วงเงินไม่เกิน 5 เท่าของรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแต่ละละสถาบันการเงิน โดยทั่วไปสามารถผ่อนได้สูงสุดถึง 60 เดือน อัตราดอกเบี้ยรวมค่าปรับกรณีชำระล่าช้า ค่าบริการ และค่าธรรมเนียมใดๆ ทั้งหมดแล้วจะไม่เกิน 28% ต่อปี
เชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นหนี้ หรือมีภาระผูกพันต้องชำระหนี้ไปเรื่อยๆ แต่เมื่อจำเป็นต้องเป็นหนี้ ก็ควรพิจารณาให้รอบคอบ ก่อหนี้ให้อยู่ในความสามารถที่ผ่อนจ่ายไหว และเร่งปิดหนี้ให้หมดโดยเร็ว เพื่อเสียดอกเบี้ยจ่ายให้น้อยที่สุด ทั้งนี้ แนะนำให้มีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้อย่างน้อย 6 เท่าของค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อเดือน เพื่อช่วยป้องกันการก่อหนี้แบบเร่งด่วนหรือไม่ได้ตั้งใจ