#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน
การสร้างบ้านเป็นของตัวเองสักหลังอาจไม่ใช่เรื่องง่าย จึงควรต้องวางแผนและเตรียมความพร้อม เพื่อให้การสร้างบ้านเป็นไปอย่างราบรื่น และได้บ้านที่สวยตรงใจทั้งรูปแบบ ฟังก์ชั่น และดีไซน์ที่ตอบโจทย์ลงตัว วันนี้ เราจึงนำ 8 เช็คลิสต์น่ารู้ก่อนการสร้างบ้านมาฝากกันค่ะ
1.ที่ดิน สถานที่ตั้งบ้านมีความสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรกก่อนจะสร้างบ้าน ควรเลือกทำเลที่สะดวกสบาย หลีกเลี่ยงแหล่งมลพิษ เช่น โรงงาน โรงเลี้ยงสัตว์ หรือบ่อขยะ และควรตรวจสอบขอบเขตที่ดินและสิทธิ์ความเป็นเจ้าของเพื่อความถูกต้อง ซึ่งขอบเขตที่ดินนี้ จะเป็นอีกหนึ่งตัวแปรในการออกแบบบ้าน นอกจากนี้การทำธุรกรรมหนังสือสัญญาใดๆ ต้องทำต่อหน้าเจ้าหน้าที่กรมที่ดิน ณ สำนักงานที่ดิน เท่านั้น
2.รูปแบบและสไตล์ สภาพแวดล้อม อย่างเพื่อนบ้าน ทางเข้า ถนน ฯลฯ รวมถึงความต้องการใช้งานจะส่งผลต่อการกำหนดรูปแบบบ้านว่าจะเป็นชั้นเดียว สองชั้น หรือสามชั้น แสงแดดและทิศทางลมจะเป็นตัวกำหนดรูปแบบของการจัดวางพื้นที่ต่างๆ ของบ้าน และนอกจากนั้น ความชื่นชอบของแต่ละคนที่แตกต่างกัน ล้วนเป็นตัวกำหนดสไตล์บ้านที่สะท้อนตัวตนของเจ้าของได้เป็นอย่างดี
3.พื้นที่ใช้งานและงบประมาณเบื้องต้น สอบถามและพูดคุยความต้องการพื้นฐานของสมาชิกภายในบ้าน เพื่อกำหนดพื้นที่ใช้สอยส่วนตัวและส่วนรวม ซึ่งจะช่วยกำหนดงบประมาณในขั้นต้นได้ด้วย
หมายเหตุ : ค่าก่อสร้างโดยประมาณ = พื้นที่ใช้งาน X ราคาค่าก่อสร้างต่อตารางเมตร
ค่าก่อสร้างงานสถาปัตยกรรม 10,000 – 18,000 บาท/ตร.ม. และงานตกแต่งภายใน 4,000-8,000 บาท/ตร.ม.
4.วางแผนการใช้จ่าย เมื่อทราบค่าก่อสร้างโดยประมาณ ยังมีค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ อีก ซึ่งเราอาจวางแผนการใช้จ่ายเบื้องต้นได้จากข้อมูลสถิติอัตราส่วนงบประมาณที่ใช้ในการปลูกบ้าน ดังนี้
-งานสถาปัตยกรรม 60 % + ค่าออกแบบ 7.5 %
-งานตกแต่งภายใน 20 % + ค่าออกแบบ 2.5 %
-งานสวน 4 % + ค่าออกแบบ 1%
-ค่าดำเนินการ 3 % + ค่าจ้างควบคุมงานก่อสร้าง 2 %
5.การเลือกผู้ออกแบบและการออกแบบ ควรเลือกนักออกแบบที่มีประสบการณ์และมีผลงานออกแบบในสไตล์เดียวกัน หรือใกล้เคียงกับสไตล์ที่เราชอบและหากต้องการจ้างนักออกแบบตกแต่งภายในหรือนักออกแบบสวนควรแจ้งทุกส่วนงานทราบ เพื่อให้นักออกแบบทุกคนสามารถทำงานสอดคล้องกัน นอกจากนี้ ควรแจ้งจำนวนและลักษณะสมาชิกในครอบครัว พื้นที่ใช้งานและสไตล์หรือรูปแบบของบ้าน เพื่อเป็นข้อมูลให้นักออกแบบนำไปทำงานต่อ
6.การขออนุญาตก่อสร้าง โดยทั่วไปก่อนเริ่มก่อสร้างจะต้องเขียนใบคำร้องขออนุญาตปลูกสร้างที่สำนักงานเขต และต้องเตรียมเอกสารต่างๆ เช่นแบบก่อสร้างที่มีลายเซ็นของวิศวกรและผู้ออกแบบกำกับ, รายการคำนวณโครงสร้างของวิศวกร, หลักฐานใบประกอบวิชาชีพของวิศวกรและผู้ออกแบบ, สำเนาทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ขออนุญาตและเจ้าของที่ดิน, หนังสือเซ็นอนุญาตการใช้ที่ดินจากเจ้าของที่ดินพร้อมสำเนาโฉนดที่ดิน ซึ่งระยะเวลาในการขออนุญาตจะใช้เวลาอย่างน้อย 45 วัน
7.การคัดเลือกและการจัดจ้างผู้รับเหมาก่อสร้าง นิยมใช้วิธีประกวดราคา อาจคัดเลือกผู้รับเหมาโดยขอดูผลงานการก่อสร้างที่ผ่านมา ให้ได้ผู้รับเหมาประมาณ 3 ราย จากนั้นจึงส่งแบบก่อสร้างให้ผู้รับเหมาไปทำเอกสารเสนอราคาค่าก่อสร้าง และนำมาขอความคิดเห็นและเปรียบเทียบราคากลางจากผู้ออกแบบเพื่อช่วยตัดสินใจเลือกผู้รับเหมา
8.วางแผนควบคุมงานก่อสร้างและการส่งมอบงาน ควรหาผู้ควบคุมงานที่มีความรู้มาเป็นดูแลแทน และควรหมั่นตรวจสอบความเรียบร้อยของสถานที่ก่อสร้างอยู่เสมอ เพื่อลดปัญหาการก่อสร้างที่ผิดพลาด ในระหว่างก่อสร้างอาจมีการส่งมอบงานเป็นงวดเพื่อให้ผู้รับเหมาเบิกค่าใช้จ่าย ซึ่งเจ้าของบ้านต้องเตรียมค่าใช้จ่ายไว้ให้พร้อมตามสัญญาที่ตกลง เช่น เมื่อเสร็จสิ้นงานโครงสร้าง เสา คาน พื้น 30 % และเมื่องานเสร็จทั้งหมด 40 % เป็นต้น โดยทั่วไปผู้รับเหมาต้องรับประกันการก่อสร้างเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี การสร้างเงื่อนไขการรับประกันทำได้โดยเมื่อเจ้าของบ้านจ่ายเงินงวดสุดท้าย ควรให้ผู้รับเหมาออกเช็คส่วนตัวค้ำประกันประมาณ 5 % ไว้ให้ ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าวจะต้องระบุไว้ในสัญญาว่าจ้างตั้งแต่ต้นด้วยเช่นกัน
เพียงเตรียมวางแผนการสร้างบ้านให้ครบทั้ง 8 เช็คลิสต์ที่เรานำมาฝาก และหาตัวช่วยที่เป็นเสมือนแผนที่ในการสร้างบ้าน เพื่อไม่ให้คุณหลงทางไปเสียก่อน อย่าง เอสซีจี ที่ซึ่งคุณสามารถพบกับวัสดุอุปกรณ์สำหรับบ้านได้อย่างหลากหลายและครบครัน ทั้งหลังคา ฝ้า ผนัง พื้น ไม้สังเคราะห์ ผลิตภัณฑ์ตกแต่งภูมิทัศน์ และระบบรั้วสำเร็จรูป ก็พร้อมจะช่วยให้คุณสร้างบ้านสวยในสไตล์ที่ใกล้เคียงกับบ้านในฝันมากที่สุด
Cr: forfur