ขอนแก่นจับมือเอกชน ระดมทุนสร้าง BRT-รถไฟฟ้า แก้ปัญหาวิกฤตจราจร

ขอนแก่นจับมือเอกชน ระดมทุนสร้าง BRT-รถไฟฟ้า แก้ปัญหาวิกฤตจราจร

เทศบาลนครขอนแก่น กางแผนพัฒนาระบบขนส่ง ผนึกนักธุรกิจในพื้นที่ ตั้งบริษัทร่วมทุน”ขอนแก่น ทิงก์ แทงก์” สร้าง “BRT – รถไฟฟ้า” พร้อมเปิดเวทีสัมมนา 21 พ.ย.57 หวังระดมทุนผ่านอินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ นายจีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรี เทศบาลนครขอนแก่น เปิดเผยว่า ขณะนี้เทศบาลนครขอนแก่นกำลังเตรียมความพร้อม เพื่อจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน หรือ อินฟราสตรักเจอร์ฟันด์ โดยมีเป้าหมายเพื่อระดมทุนก่อสร้างระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ของจังหวัดขอนแก่น โดยมีนักธุรกิจรายใหญ่ในขอนแก่น จำนวน 17 ราย เข้ามาร่วมลงทุนเป็นพันธมิตรสำคัญ ในนาม “บริษัท ขอนแก่น ทิงก์ แทงก์ จำกัด หรือ KKTT (Khon Kaen Think Tank Co., Ltd.)

การจัดตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน จะดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดตั้ง “บริษัทจำกัดของเทศบาลนครขอนแก่น” เพื่อเป็นบริษัทนิติบุคคลสำหรับเป็นผู้ลงทุนสาธารณูปโภคพื้นฐานของเมือง เช่นเดียวกับรูปของบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด วิสาหกิจ ที่กรุงเทพมหานคร เป็นผู้ถือหุ้น 100% ซึ่งหากเป็นไปตามเป้าหมายจะเป็นองค์กรปกครองท้องถิ่นแห่งแรกในประเทศไทยที่ทำสำเร็จ

นายจีระศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ปัจจุบันเมืองขอนแก่นนับเป็นเมื่อหนึ่งที่มีการเติบโตอย่างอย่างรวดเร็ว แต่งบประมาณลงทุนพัฒนาสาธารณูปโภคจากรัฐบาลนั้นมีจำนวนจำกัด และต้องใช้เวลารอนาน กองทุนโครงสร้างพื้นฐานจึงเป็นทางเลือกสำหรับการระดมทุน โดยมีบริษัทจำกัดของเทศบาลฯ เป็นผู้ลงทุนระบบขนส่งสาธารณะ 2 รูปแบบ คือ ระบบรถเมล์ด่วน หรือ BRT (Bus Rapid Transportation) โดยเบื้องต้นจะใช้วงเงินที่เคยเสนอของบประมาณจากรัฐบาลจำนวน 1,400 ล้านบาท และระบบรถไฟฟ้า ซึ่งใช้วงเงินลงทุนสูงกว่า BRT 5-6 เท่า โดยทางบริษัทบีทีเอสนั้นเคยประเมินมูลค่าลงทุนเอาไว้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตาม วันที่ 21 พฤศจิกายนนี้ เทศบาลฯ จะเป็นเจ้าภาพจัดสัมมนาโดยจะมีการบรรยายจากผู้บริหารตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และผู้บริหารจากบริษัทกรุงเทพธนาคม เพื่อให้นักลงทุนและประชาชนได้มองเห็นโอกาสในการพัฒนาเมืองในครั้งนี้ไปด้วยกัน

ทั้งนี้ ในเบื้องต้นแผนลงทุนในรูปแบบรถบีอาร์ที (BRT) ของจังหวัดขอนแก่นจะมีทั้งหมด 5 เส้นทาง ได้แก่ 1.สายรอบเมือง 2.สายสำราญ-ท่าพระ 3.สายหนองโครต-หนองใหญ่ 4.สายน้ำต้อน-ศิลา และ 5.สายบ้านทุ่ม-บึงเนียม ระยะทางรวม 108 กิโลเมตร (ไป-กลับ) ใช้เงินลงทุนประมาณ 6,356 ล้านบาท