มาตรการรัฐกระตุ้นอสังหาฯ คึก

มาตรการรัฐกระตุ้นอสังหาฯ คึก

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แถลงว่า ในปี 2558 มีหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล รวมกันประมาณ 196,100 หน่วย เพิ่มขึ้นร้อยละ 13 จากปี 2557 ซึ่งมีจำนวนรวมประมาณ 174,100 หน่วย หากนับเฉพาะหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี 2558 รวมกันมีประมาณ 50,300 หน่วย เพิ่มขึ้นมากถึงร้อยละ 45 เมื่อเทียบกับหน่วยโอนกรรมสิทธิ์ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม ปี 2557 รวมกัน

ทั้งนี้เป็นผลมาจากปัจจัยหลัก 3 ประการ คือ การเร่งโอนก่อนการประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดิน รอบบัญชีปี 2559-2563 ซึ่งมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 มกราคม 2559 การเร่งโอนก่อนภาษีมรดกมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2559 และการโอนเพื่อสิทธิประโยชน์จากมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าธรรมเนียมการจดจำนอง ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม 2558 ทั้งนี้ ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดว่ามาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนองจะส่งผลให้หน่วยโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่

สำหรับโครงการที่อยู่อาศัยประเภทห้องชุด ในปี 2558 มีอาคารชุดเปิดขายใหม่ประมาณ 152 โครงการ รวมหน่วยในผังประมาณ 60,400 หน่วย เมื่อเทียบกับปี 2557 ซึ่งมีโครงการอาคารชุดเปิดขายใหม่ 157 โครงการ หน่วยในผังรวมประมาณ 73,100 หน่วย ดังนั้น จำนวนหน่วยห้องชุดเปิดขายใหม่ลดลงประมาณร้อยละ 17 จากปี 2557

ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์คาดประมาณว่าในปี 2559 ยอดเปิดโครงการที่อยู่อาศัยใหม่จะยังทรงตัว โดยในช่วง 4 เดือนแรกจะยังไม่มีการเปิดขายโครงการใหม่มากนัก เนื่องจาก ผู้ประกอบการและผู้บริโภคมุ่งให้ความสนใจกับมาตรการลดหย่อนค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และการจดจำนองก่อนมาตรการหมดอายุ หลังจากนั้นจึงจะมีการเร่งเปิดโครงการ ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจะเปิดโครงการใหม่โดยอิงปัจจัยทิศทางแนวโน้มเศรษฐกิจเฉพาะหน้าและพร้อมปรับตัวตามสถานการณ์

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกที่สำคัญสำหรับตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2559 ได้แก่ การที่ภาครัฐเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ และการเร่งก่อสร้างโครงข่ายขนส่งคมนาคมทั้งระบบรางและระบบถนน เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง โครงการถนนเชื่อมต่อทางด่วนศรีรัชไปถนนกาญจนาภิเษก โครงการถนนสายพรานนก-พุทธมณฑล ฯลฯ