#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
ข่าวคราวภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างปลุกกระแสตื่นตัวในแวดวงอสังหาริมทรัพย์มาตั้งแต่ปี 2559 แต่จนแล้วจนรอดก็คลอดไม่ทันในปี 2560 จำเป็นจะต้องเลื่อนออกไปถึงปี 2561 และจะมีผลบังคับใช้จริง ๆ ในปี 2562 แต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก็ออกปากเป็นมั่นเป็นเหมาะว่ายังไงก็ต้อง ทำให้ได้ หลังจากรัฐบาลชุดอื่น ๆ ก่อนหน้านี้ได้แต่ ฝัน แต่ทำไม่ได้จริงมากว่า 30 ปี
หลังจากฟันฝ่าเสียงคัดค้านและมีการปรับร่างไปพอสมควร มีการลดเพดานภาษีให้ต่ำลงเพื่อลดแรงต่อต้านและไม่เป็นภาระต่อประชาชนมากเกินไป ล่าสุด ร่าง พรบ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างผ่านการพิจารณากฤษฎีกา และเสนอเข้าที่ประชุม ครม. เป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 21 มีนาคมที่ผ่านมา จากนั้นจะบรรจุวาระในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาได้ในปี 2561 แต่ในการยื่นเสียภาษีจริงจะมีผลในปี 2562
ส่วนหน้าตากฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ถูกปรับเปลี่ยนใหม่นั้น มีการแบ่งที่ดินออกเป็น 4 ประเภท คือ
1.ที่ดินเกษตรกรรม มีอัตราเพดานจัดเก็บ 0.2%
2.ที่อยู่อาศัย มีอัตราเพดานจัดเก็บ 0.5%
3.พาณิชยกรรมและอื่นๆ มีอัตราเพดานจัดเก็บ 2% และ
4.ที่ดินรกร้างว่างเปล่า มีอัตราเพดานจัดเก็บเริ่มต้น 2%
ถือว่ามีการอัตราเพดานจัดเก็บต่ำมาก มีการยกเว้นภาษีสำหรับที่ดินเกษตรและบ้านหลังแรก มูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท ส่วนที่เกินจาก 50 ล้านบาท เสียภาษีเพียง 0.05% หรือเสียภาษีประมาณ 500 บาท ทุก ๆ 1 ล้านบาทเท่านั้น บ้านหลังที่ 2 ขึ้นไป จากเดิมเสียภาษีคนละอัตรากับบ้านหลังแรก และมีการแบ่งมูลค่าทรัพย์สินเริ่มต้นตั้งแต่ไม่เกิน 5 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% เป็นขั้นบันไดไปจนถึง 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% เปลี่ยนเป็นแบ่งมูลค่าทรัพย์สินเหมือนกับบ้านหลังแรก คือไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% 50-100 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% สำหรับที่ดินรกร้างว่างเปล่ามีการปรับร่างจากเพดานจัดเก็บจาก 5% ถูกปรับเป็นเริ่มต้น 2% ปรับเพิ่ม 0.5% ทุก ๆ 3 ปี แต่ไม่เกิน 5%
นอกจากนี้ ยังได้ออกพระราชกฤษฎีกา เพื่อเป็นช่องทางการขอลดหย่อนภาษีได้ 90% จากอัตราฐานภาษี กรณีที่มีบ้านพักอาศัยอยู่มาเป็นระยะเวลานานแต่ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้นซึ่งเจ้าของบ้านมีรายได้ไม่มาก รวมทั้งกำหนดข้อบังคับห้ามขายห้ามโอนหากติดหนี้ภาระภาษี ยกเว้นกรณีขายทอดตลาด
พรบ.ฉบับนี้ช่วยให้ท้องถิ่นการเก็บภาษีไปพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้ โดยคาดการณ์ว่าจะทำให้ท้องถิ่นมีรายได้เพิ่มขึ้นปีละประมาณ 60,000 ล้านบาท ซึ่งแตกต่างจากการเก็บรายได้จากภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ที่ได้เพียงปีละประมาณ 20,000 ล้านบาท หากการจัดเก็บภาษีเป็นไปตามที่คิดจะช่วยลดงบประมาณส่วนกลางที่ต้องนำไปช่วยเหลือท้องถิ่นได้อย่างมาก จากที่จะต้องจัดสรรเงินจากส่วนกลางไปให้ท้องถิ่นถึงกว่า 2 แสนล้านบาท
จากนี้ก็ต้องมาลุ้นกันต่อว่า หลังจากกฎหมายฉบับนี้บรรจุในวาระสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งจะเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบเสนอข้อคิดเห็นอีกครั้ง จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร ซึ่งไม่เกินปลายปีนี้คงจะได้รู้กัน