#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารเป็นปัญหาเรื้อรัง ที่มีให้เห็นบ่อยครั้ง จนสร้างความระอาใจแก่ผู้ใช้บริการเป็นอย่างมาก จึงเป็นที่มาของการเลือกหาบริการที่ดีกว่า แม้จะผิดกฎหมายก็ตาม อย่าง Uber หรือ Grab car แต่ในมุมของคนขับแท็กซี่ กลับมองว่าปัญหาดังกล่าวมาจากอัตราค่าบริการที่ไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง โดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งมีการจราจรหนาแน่น ทำให้ต้องใช้เวลามากขึ้น สิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากขึ้น ทำให้คนขับแท็กซี่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น ล่าสุด ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร จึงได้เข้าหารือกับกระทรวงคมนาคม โดยนำเสนอแนวทางแบ่งราคาค่าโดยสารเป็น 2 โซน เพื่อแก้ไขปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในระยะยาว
เสนอแบ่งราคาเป็น 2 โซน รถติด-รถไม่ติด
ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานครได้เสนอให้กรมการขนส่งทางบก ทบทวนหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าโดยสารรถแท็กซี่มิเตอร์ในเขตกรุงเทพฯ ใหม่ จากเดิมค่าโดยสารมิเตอร์กรณีรถติดไม่สามารถวิ่งได้เกินกว่า 6 กิโลเมตร/ชั่วโมง มีการกำหนดไว้เป็นอัตราเดียวกันทั้งหมด คือนาทีละ 2 บาท ซึ่งไม่สะท้อนต้นทุนค่าขนส่งที่แท้จริง จึงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในเขตเมือง ซึ่งเป็นย่านการค้าและห้างสรรพสินค้า จึงเสนอให้ปรับค่าโดยสารแบ่งเป็นโซน ดังนี้
1. อัตราค่าโดยสารแท็กซี่ที่วิ่งให้บริการในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน
2. อัตราค่าโดยสารแท็กซี่วิ่งให้บริการในเขตกรุงเทพฯ ชั้นนอก
เนื่องจากพื้นที่ทั้ง 2 ส่วนมีปัญหาการจราจรติดขัดแตกต่างกัน โดยรถที่วิ่งให้บริการในเส้นทางกรุงเทพฯ ชั้นใน จะมีปัญหารถติดมากกว่า และใช้เวลานานกว่า ทำให้มีอัตราการสิ้นเปลืองน้ำมันซึ่งเป็นต้นทุนค่าขนส่งมากกว่ารถในเขตกรุงเทพฯ ชั้นนอก ที่รถติดน้อยกว่า
ขึ้นราคาโซนรถติดมากกว่านาทีละ 2 บาท
อัตราค่าโดยแบ่งออกเป็น 2 โซน คือโซนที่รถติด กับโซนที่รถไม่ติด โดยในโซนที่รถติดจะต้องมีการคิดค่าโดยสารในช่วงเวลาที่รถติดหรือจอดนิ่งในอัตราที่สูงกว่าโซนที่รถไม่ติด คือมากกว่านาทีละ 2 บาทที่เก็บอยู่ในปัจจุบัน ส่วนอัตรา ค่าโดยสารเริ่มต้นก็จะอยู่ที่ 35 บาทเท่าเดิม และจะปรับเฉพาะค่าโดยสารช่วงที่รถติดเท่านั้น ส่วนจะปรับเพิ่มเป็นนาทีละกี่บาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด แต่เชื่อเป็นอย่างยิ่งว่าหากดำเนินการตามนี้ ปัญหาแท็กซี่ปฏิเสธผู้โดยสารในพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน จะหมดไป เนื่องจากคนขับแท็กซี่ไม่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงและขาดทุนเหมือนในปัจจุบัน นอกจากนี้ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานครยังรอความชัดเจนจากกระทรวงคมนาคมที่สัญญาว่าจะมีการปรับราคาค่าโดยสารแท็กซี่รอบที่ 2 ขึ้นอีก 5% ด้วย
นานาปัญหาต้นทุนสูง-รถป้ายดำแย่งลูกค้า
ปัจจุบันรายได้ของรถแท็กซี่ที่ถูกกฎหมายลดลงกว่า 30% ส่วนหนึ่งมาจากที่ผ่านมามีการนำรถยนต์ส่วนบุคคล หรือรถยนต์ป้ายดำ มาให้บริการเป็นรถโดยสารสาธารณะเป็นจำนวนมาก ถึงกว่า 50,000 คัน ทำให้มีการแย่งผู้โดยสาร และปัญหาการกระทบกระทั่งกัน แต่ทางเครือข่ายสหกรณ์แท็กซี่ในเขตกรุงเทพมหานคร ก็ไม่ได้ปิดกั้นการนำแอปพลิเคชั่นมาใช้ แต่ควรทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย
ก.คมนาคม รับเรื่อง เตรียมให้ ทีดีอาร์ไอ ศึกษา
ทางกระทรวงคมนาคมได้สั่งการให้ทางกรมขนส่งทางบกศึกษาความเป็นไปได้ของเสนอดังกล่าวแล้วว่ามีผลดี ผลเสียอย่างไร และมีความเหมาะสมหรือไม่ คาดว่าต้องใช้เวลาสักระยะ ขณะนี้อยู่ระหว่างการรอผลการศึกษาการปรับโครงสร้างอัตราค่าบริการแท็กซี่ครอบคลุมทั้งข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบต่อผู้โดยสารจัด รวมทั้งโครงสร้างต้นทุนรถแท็กซี่โดยรวมจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ ซึ่งคาดว่าจะได้ผลการศึกษากลับมาเสนอกับทางกรมภายใน 3 เดือน
อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงคมนาคมเน้นย้ำว่า ไม่ว่าจะขึ้นหรือไม่ขึ้นราคาอย่างไร จะต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน เพราะอาชีพนี้เกี่ยวข้องกับปากท้องของประชาชนกว่า 5 แสนคน หากอัตราค่าโดยสารไม่สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ก็จะกระทบกับผู้ประกอบการ และคนขับแท็กซี่ ส่งผลให้การบริการที่ไม่ดี แต่ถ้าสูงเกินไปก็จะกระทบไปถึงผู้ใช้บริการ