4 วิธี โบกมือลาการเป็นหนี้

4 วิธี โบกมือลาการเป็นหนี้

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
“หนี้สินหมดได้ ขอเพียงหยุดสร้างหนี้เพิ่ม ปรับลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น และอดทนไม่ย่อท้อในการชำระหนี้”
เชื่อว่าคนที่มีภาระหนี้สิน สิ่งที่ตั้งหน้าตั้งตารอคอย ก็คือ วันที่หมดหนี้ หรือหมดภาระการเงินทั้งหลายแล้ว เพราะแต่ละวัน แต่ละเดือน จะได้ไม่ต้องเป็นกังวลว่า รายได้จะพอใช้จ่าย หรือพอชำระหนี้ไหม ซึ่งหนทางที่เราจะไปถึงวันที่เป็นไทจากภาระหนี้ได้อาจไม่ง่ายนัก ยิ่งใครที่มีหนี้หลายก้อน คิดเป็นหลายเท่าเมื่อเทียบกับรายได้ อาจต้องเหนื่อยหน่อย แต่ก็เชื่อว่าไม่ยากเกินความสามารถ ถ้าเราอยากปลดหนี้ให้หมดอย่างแน่นอน ซึ่งการเป็นหนี้สร้างปัญหาอย่างไรบ้างนั้น แล้วจะทำอย่างไรให้ปลดหนี้ได้ วันนี้เรามีคำแนะนำเพื่อโบกมือลาการเป็นหนี้มาฝาก
ใครๆ ก็รู้ว่าการเป็นหนี้ไม่เพียงสร้างความกังวลใจให้กับตัวเรา แต่ยังมีโอกาสสร้างปัญหาตามมาอีกมากมาย เช่น
ไม่สามารถทำตามความฝันได้
หลายๆ ครั้งเราไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่เราต้องการได้ เช่น อยากพาครอบครัวไปเที่ยวพักผ่อน อยากซื้อเฟอร์นิเจอร์ใหม่ เพราะต้องนำเงินไปชำระหนี้สินก่อน หรือคนที่เป็นมนุษย์เงินเดือน แต่อยากออกมาเป็นฟรีแลนซ์ หรือทำธุรกิจของตัวเอง ก็ต้องพับความฝันเก็บไป ไม่กล้าตัดสินใจลาออก เพราะถ้ารายได้จากงานฟรีแลนซ์ หรือธุรกิจไม่เป็นไปตามที่คิด หรือไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายหรือภาระผ่อนหนี้ทั้งหลายแล้ว อาจสร้างปัญหาการเงินให้เพิ่มขึ้นได้
ไม่มีเงินออม
หลายคนไม่สามารถเก็บออมเงินได้ เพราะลำพังแค่กิน ใช้ จ่ายหนี้ ให้พอในแต่ละเดือนยังยากเลย ซึ่งการที่เราไม่สามารถเก็บออมเงินได้นั้น อาจยิ่งซ้ำเติมปัญหาหนี้สินของตัวเราเพิ่มเข้าไปอีก เช่น ต้องจ่ายค่าเทอมลูก ใช้เงินเพื่อเป็นค่ารักษาพยาบาลของตนเองหรือครอบครัว หรือใช้เงินซ่อมบ้าน แต่เมื่อไม่มีเงินออม ในขณะที่มีค่าใช้จ่ายที่เราจำเป็นต้องใช้เงิน อาจทำให้ต้องกู้หนี้ยืมสินมาเพื่อใช้จ่าย นอกจากนี้ ถ้าคิดจะเก็บออมเงินเพื่ออนาคต เช่น เก็บเงินแต่งงาน หรือเก็บเงินเกษียณ ก็ดูเป็นเรื่องไกลตัว ถ้ายังมีภาระหนี้สินติดตัวอยู่
เมื่อหนี้สินเป็นปัญหา สร้างภาระให้เรา จึงมีความจำเป็นที่เราควรวางแผนจัดการหนี้สินที่เรามีอยู่ โดยแนะนำดังนี้
1. หยุดสร้างหนี้เพิ่ม
อันดับแรกที่ต้องทำก่อนเลย คือ หยุดสร้างหนี้เพิ่มเด็ดขาด ประเภทการกดบัตรนั้นมาจ่ายบัตรนี้ กู้เงินที่นั่นมาจ่ายที่นี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนี้นอกระบบควรหลีกเลี่ยงเป็นอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นดินพอกหางหมู ยากที่จะแก้ไข อย่างไรก็ตาม ถ้าจำเป็นต้องหยิบยืมจริงๆ เช่น ต้องชำระคืนหนี้สินที่ถึงกำหนดต้องจ่าย แต่เงินที่มีไม่เพียงพอ ก็สามารถกู้ยืมได้ แต่ขอให้เป็นการกู้ยืมที่ไม่ได้มีดอกเบี้ยแพงจนสร้างปัญหาการเงินเพิ่มขึ้นให้ตัวเราอีก เช่น หยิบยืมจากเพื่อนฝูง ญาติมิตร ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้จะเป็นการยืมจากญาติมิตรหรือคนรู้จัก ก็ควรมีดอกเบี้ยหรือผลตอบแทนให้เพื่อแสดงการขอบคุณที่ให้ความช่วยเหลือ และถ้าให้ดี ควรมีสัญญาหรือหลักฐานว่าเราจะชำระคืนในภายหลัง
2. ทำบัญชีรับจ่าย
ทำบัญชีรายรับรายจ่ายของตัวเราออกมาว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าเช่าบ้าน ค่าน้ำค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ รวมถึงค่าผ่อนชำระหนี้ต่างๆ เมื่อทำเสร็จแล้วก็ดูว่าทั้งเดือนเราใช้จ่ายเท่าไร รายได้พอกับรายจ่ายหรือไม่ เพราะถ้าเราไม่เขียนออกมา เราจะไม่รู้เลยว่าสถานะการเงินของเราเป็นอย่างไร เป็นบวก เท่าตัว หรือติดลบ โดยถ้าเท่าตัวหรือติดลบ ก็แสดงว่า เราเริ่มมีปัญหาการเงินขึ้นมาแล้ว นอกจากนี้ การทำบัญชีรายรับรายจ่ายช่วยให้รู้ว่า เรามีค่าใช้จ่ายอะไรที่เป็นค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยหรือไม่จำเป็น พอจะปรับลดได้บ้าง เช่น ค่าสังสรรค์ทานข้าวนอกบ้าน ค่ากาแฟ ซึ่งถ้าลดค่าใช้จ่ายเหล่านี้ลงได้ สถานะการเงินของเราก็จะดีขึ้น หรือมีเงินเหลือมาชำระคืนหนี้ได้มากขึ้นด้วย
3. สำรวจภาระหนี้สิน
เขียนรายการหนี้สินที่เรามีออกมาทั้งหมด ทั้งจำนวนยอดหนี้ อัตราดอกเบี้ย และยอดผ่อนชำระต่อเดือน โดยแยกประเภทหนี้ สินเชื่อส่วนบุคคล บัตรเครดิต บัตรกดเงินสด แล้วเรียงลำดับยอดหนี้จากน้อยไปมาก เพื่อดูลำดับเวลาชำระคืนหนี้สิน โดยถ้าเราไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ทั้งหมด ก็ดูว่ารายการหนี้สินที่มีอยู่มียอดชำระขั้นต่ำเท่าไร ก็ให้จ่ายอย่างน้อยขั้นต่ำ หรือจ่ายมากกว่าขั้นต่ำได้ก็ดี โดยพยายามปิดหนี้ก้อนที่เหลือยอดน้อยสุดก่อน เพื่อให้จำนวนเจ้าหนี้ของเราลดลง แล้วค่อยๆ ไล่ปิดหนี้แต่ละก้อนไปเรื่อยๆ แม้ว่าการจ่ายขั้นต่ำ หนี้อาจจะหมดช้า แต่ยังคงรักษาเครดิตหรือประวัติการชำระหนี้ของเราอยู่ โดยอย่าขาดการชำระหนี้ เพราะจะทำให้เสียประวัติได้
4. เก็บออมเงินสำรองเผื่อฉุกเฉิน
เมื่อชำระคืนหนี้สินได้หมดแล้ว ก็พยายามไม่ก่อหนี้เพิ่มจนกลายเป็นภาระการเงินให้กับตัวเราอีก ถ้ามีการรูดใช้จ่ายผ่านบัตร ก็ต้องมั่นใจว่ามีเงินมาชำระคืนตรงเวลาและเต็มจำนวน และเพื่อให้เราสามารถเก็บออมเงินได้ ไม่ใช้จ่ายจนหมด แนะนำให้หักเงินรายได้มาเก็บออมก่อนใช้จ่ายก่อนเลยทุกเดือน อย่างน้อย 20% ของรายได้ แล้วเก็บเป็นเงินสำรองเผื่อใช้จ่ายยามฉุกเฉินให้ได้ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน โดยสามารถเก็บออมในบัญชีเงินฝาก หรือกองทุนรวมตลาดเงิน เพราะถ้าจำเป็นต้องใช้เงินเร่งด่วนขึ้นมา จะได้มีเงินที่สำรองเก็บไว้มาใช้จ่าย ไม่ต้องกู้ยืมให้กลายเป็นหนี้เป็นสินตามมาอีก
สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราหมดหนี้ได้นั้นอยู่ที่ “ตัวเรา” โดยต้องมีความอดทน ไม่ว่าจะเป็นอดทนต่อการชำระคืนหนี้ โดยไม่หนีหายไป อดทนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น ปรับลดการใช้จ่ายบางอย่างลงเพื่อนำเงินมาชำระหนี้ ขอให้นึกถึงตอนที่ตัวเราไม่มีภาระหนี้สินมาผูกมัดแล้ว จะทำให้เรามีกำลังใจเพิ่มขึ้นมาอย่างแน่นอน