เคาะราคา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 300-500 บาท

เคาะราคา รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 300-500 บาท

ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการที่มีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องกับแนวทางรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบิน ได้แก่ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา แบบไร้รอยต่อ ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าค่าโดยสารจะอยู่ที่ 300-500 บาท ซึ่งใกล้เคียงกับค่าโดยสารรถสาธารณะในปัจจุบัน แต่รวดเร็วและสะดวกสบายมากกว่า
3 สนามบินเชื่อมกันแบบไร้รอยต่อ
การรถไฟแห่งประเทศไทยได้ศึกษาแนวทางที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยง 3 สนามบินแบบไร้รอยต่อเสร็จแล้ว โดยรถไฟความเร็วสูงนี้จะวิ่งรับส่งผู้โดยสารจากสนามบินดอนเมือง-สนามบินสุวรรณภูมิ-สนามบินอู่ตะเภาและพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี โดยไม่ต้องเปลี่ยนขบวน และใช้เวลาเดินทางระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา 45 นาที โดยมีสถานีมักกะสันเป็นสถานีกลางของรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โดยในส่วนช่วงที่ผ่านกรุงเทพฯ ชั้นในจะใช้ความเร็วที่ 160 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจะวิ่งความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร/ชั่วโมง ในเขตนอกเมือง
เคาะราคาที่ 300-500 บาท
รถไฟความเร็วสูงจะมีทั้งรถด่วนพิเศษเชื่อม 3 สนามบิน และรถธรรมดาที่จอด 10 สถานีระหว่างทาง ซึ่งจากการประเมินเบื้องต้น คาดว่าค่าโดยสารรถระหว่างสนามบินดอนเมืองไปยังสนามบินอู่ตะเภาจะอยู่ที่ประมาณ 500 บาท/เที่ยว และจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังสนามบินอู่ตะเภาค่าโดยสารจะอยู่ที่ประมาณ 300 บาท/เที่ยว ซึ่งใกล้เคียงกับค่าโดยสารทางรถสาธารณะในปัจจุบัน แต่ให้ความสะดวก และรวดเร็วมากกว่า
เอกชนลงทุนเองทั้งหมด 2.8 แสนล้านบาท
วงเงินลงทุนใหม่จำนวน 280,000 ล้านบาท เพิ่มจากเดิมที่คณะกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก คาดการณ์ไว้จำนวน 158,000 ล้านบาท รูปแบบการลงทุนจะให้เอกชนลงทุนทั้งหมด ประกอบด้วย การก่อสร้าง และให้บริการรถไฟความเร็วสูงมูลค่าประมาณ 200,000 ล้านบาท และลงทุนพัฒนาสถานีมักกะสัน รวมทั้งพื้นที่เชิงพาณิชย์บริเวณสถานีรถไฟฟ้าความเร็วสูงอื่น ๆ ใช้งบก่อสร้างประมาณ 80,000 ล้านบาท โดยคาดว่าจะสามารถประกาศเชิญชวนนักลงทุนได้ภายในปลายปี 2560 และเริ่มประมูลได้ในช่วงต้นปี 2561
อย่างไรก็ตาม โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมต่อ 3 สนามบิน ดังกล่าวเป็นเพียง 1 ใน 4 โครงการที่ทางภาครัฐเร่งรัดในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ซึ่งอีก 3 โครงการที่เหลือประกอบด้วย โครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุดระยะที่ 3 ซึ่งได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการเสร็จแล้ว ส่วนโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก และโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ปัจจุบันอยู่ระหว่างการจัดทำผลศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ