BTS ขึ้นราคา 1-3 บาท เริ่ม 1 ต.ค. นี้

BTS ขึ้นราคา 1-3 บาท เริ่ม 1 ต.ค. นี้

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
คนกรุงเทพฯ เตรียมตัวควักกระเป๋าเพิ่มกันอีกรอบเพราะตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะปรับราคาค่าโดยสารสำหรับรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร เพิ่ม 1-3 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนที่สูงขึ้นและรองรับการปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น
รถไฟฟ้า BTS ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 10-40 บาท โดยมีการปรับขึ้นราคาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็น 15-40 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็น 15-42 บาท และครั้งล่าสุดที่จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2560 นับเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งถือว่ามีการปรับราคาน้อยครั้งมาก เมื่อเทียบกับสัญญาสัมปทานที่กำหนดให้สามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสาร ในอัตรา 20.11-60.31 บาท
อัตราค่าโดยสารใหม่จะเก็บเพิ่มขึ้น 1-3 บาท คือ จากราคาเดิม 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท โดยแบ่งเป็น
– 1 สถานี ค่าโดยสาร 16 บาท
– 2 สถานี ค่าโดยสาร 23 บาท
– 3 สถานี ค่าโดยสาร 26 บาท
– 4 สถานี ค่าโดยสาร 30 บาท
– 5 สถานี ค่าโดยสาร 33 บาท
– 6 สถานี ค่าโดยสาร 37 บาท
– 7 สถานี ค่าโดยสาร 40 บาท
– 8 สถานีเป็นต้นไป ค่าโดยสาร 44 บาท
ส่วนบัตรโดยสารราคาพิเศษปรับขึ้นเที่ยวละ 1 บาท แบ่งเป็น
สำหรับบุคคลทั่วไป
– ประเภท 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท
– ประเภท 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท
– ประเภท 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท
– ประเภท 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท
สำหรับนักเรียน นักศึกษา
– ประเภท 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท
– ประเภท 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท
– ประเภท 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท
– ประเภท 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท
จากครั้งล่าสุดที่มีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารคือเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 หรือกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ทางรถไฟฟ้า BTS มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงเพิ่มขึ้นมาตลอด ซึ่งบางรายการสูงขึ้นถึง 20% เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา รวมทั้งยังมีการปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น เช่น การสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ ซึ่งจะเริ่มทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณต้นปี 2561 มีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์บนชั้นชานชาลาเพื่อแจ้งความถี่ในการให้บริการรวมถึงแจ้งเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องและข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ และมีแผนที่จะลงทุนติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติในสถานีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเตรียมปรับปรุงระบบตั๋วโดยสารซึ่งจะเปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นระบบสัมผัส (Touch Screen) ทั้งหมด และสั่งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตรด้วยมาติดตั้งในระบบเพิ่มขึ้นอีก 50 ตู้ จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วประมาณ 50 ตู้ โดยจะเริ่มทยอยติดตั้งในปี 2561
ระหว่างที่รอตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ต้องแลกเหรียญเพื่อซื้อบัตรโดยสารจากตู้จำหน่ายตั๋ว จะจัดเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสารประเภทเที่ยวเดียวในสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารมากในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ที่สถานีหมอชิต สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีสยาม โดยจะใช้ห้องแลกเหรียญให้มีการจำหน่ายบัตรเที่ยวเดียวด้วย และจะมีการตั้งโต๊ะจำหน่ายตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวทุกราคาที่สถานีพญาไท สถานีสยาม สถานีอโศก เป็นต้น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม แม้อัตราค่าโดยสารใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป แต่สำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน ทางรถไฟฟ้า BTS จะยังคงราคาเดิมเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 ดังนั้นใครที่ยังไม่พร้อมรับภาระการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทางรถไฟฟ้า BTS แนะนำให้ผู้โดยสารที่เคยซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียวเปลี่ยนมาใช้บัตรเติมเงิน เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลาด้วย ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังจะได้รับส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราราคาใหม่เมื่อใช้บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุโดยสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดเวลา