#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
คนกรุงเทพฯ เตรียมตัวควักกระเป๋าเพิ่มกันอีกรอบเพราะตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) จะปรับราคาค่าโดยสารสำหรับรถไฟฟ้า BTS สายสุขุมวิท สถานีหมอชิต-อ่อนนุช และสายสีลม สถานีสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ไม่รวมส่วนต่อขยายของกรุงเทพมหานคร เพิ่ม 1-3 บาท เพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนที่สูงขึ้นและรองรับการปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น
รถไฟฟ้า BTS ตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการในวันที่ 5 ธันวาคม 2542 จัดเก็บค่าโดยสารในอัตรา 10-40 บาท โดยมีการปรับขึ้นราคาครั้งแรกเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2549 เป็น 15-40 บาท ครั้งที่สองเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็น 15-42 บาท และครั้งล่าสุดที่จะเริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2560 นับเป็นครั้งที่ 3 ซึ่งถือว่ามีการปรับราคาน้อยครั้งมาก เมื่อเทียบกับสัญญาสัมปทานที่กำหนดให้สามารถปรับค่าโดยสารที่เรียกเก็บได้ทุก 18 เดือน แต่ต้องไม่เกินเพดานอัตราค่าโดยสาร ในอัตรา 20.11-60.31 บาท
อัตราค่าโดยสารใหม่จะเก็บเพิ่มขึ้น 1-3 บาท คือ จากราคาเดิม 15-42 บาท เป็น 16-44 บาท โดยแบ่งเป็น
1 สถานี ค่าโดยสาร 16 บาท
2 สถานี ค่าโดยสาร 23 บาท
3 สถานี ค่าโดยสาร 26 บาท
4 สถานี ค่าโดยสาร 30 บาท
5 สถานี ค่าโดยสาร 33 บาท
6 สถานี ค่าโดยสาร 37 บาท
7 สถานี ค่าโดยสาร 40 บาท
8 สถานีเป็นต้นไป ค่าโดยสาร 44 บาท
ส่วนบัตรโดยสารราคาพิเศษปรับขึ้นเที่ยวละ 1 บาท แบ่งเป็น
สำหรับบุคคลทั่วไป
ประเภท 50 เที่ยว 1,300 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 26 บาท
ประเภท 40 เที่ยว 1,080 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 27 บาท
ประเภท 25 เที่ยว 725 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 29 บาท
ประเภท 15 เที่ยว 465 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 31 บาท
สำหรับนักเรียน นักศึกษา
ประเภท 50 เที่ยว 950 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 19 บาท
ประเภท 40 เที่ยว 800 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 20 บาท
ประเภท 25 เที่ยว 550 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 22 บาท
ประเภท 15 เที่ยว 360 บาท เฉลี่ยเที่ยวละ 24 บาท
จากครั้งล่าสุดที่มีการปรับขึ้นราคาค่าโดยสารคือเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2556 หรือกว่า 4 ปีที่ผ่านมา ทางรถไฟฟ้า BTS มีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสูงเพิ่มขึ้นมาตลอด ซึ่งบางรายการสูงขึ้นถึง 20% เช่น ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา รวมทั้งยังมีการปรับปรุงบริการให้ดีขึ้น เช่น การสั่งซื้อรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 46 ขบวน ขบวนละ 4 ตู้ รวมเป็น 184 ตู้ ซึ่งจะเริ่มทยอยนำเข้ามาในประเทศไทยประมาณต้นปี 2561 มีการจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์อิเล็กทรอนิกส์บนชั้นชานชาลาเพื่อแจ้งความถี่ในการให้บริการรวมถึงแจ้งเหตุรถไฟฟ้าขัดข้องและข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ และมีแผนที่จะลงทุนติดตั้งประตูกั้นชานชาลาอัตโนมัติในสถานีต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ยังเตรียมปรับปรุงระบบตั๋วโดยสารซึ่งจะเปลี่ยนตู้จำหน่ายบัตรโดยสารเป็นระบบสัมผัส (Touch Screen) ทั้งหมด และสั่งตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตรด้วยมาติดตั้งในระบบเพิ่มขึ้นอีก 50 ตู้ จากปัจจุบันที่มีอยู่แล้วประมาณ 50 ตู้ โดยจะเริ่มทยอยติดตั้งในปี 2561
ระหว่างที่รอตู้จำหน่ายตั๋วโดยสารที่รับธนบัตร เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้โดยสารที่ต้องแลกเหรียญเพื่อซื้อบัตรโดยสารจากตู้จำหน่ายตั๋ว จะจัดเจ้าหน้าที่จำหน่ายตั๋วโดยสารประเภทเที่ยวเดียวในสถานีที่มีจำนวนผู้โดยสารมากในช่วงเวลาเร่งด่วน เช่น ที่สถานีหมอชิต สถานีอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ สถานีสยาม โดยจะใช้ห้องแลกเหรียญให้มีการจำหน่ายบัตรเที่ยวเดียวด้วย และจะมีการตั้งโต๊ะจำหน่ายตั๋วโดยสารเที่ยวเดียวทุกราคาที่สถานีพญาไท สถานีสยาม สถานีอโศก เป็นต้น โดยจะเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม แม้อัตราค่าโดยสารใหม่จะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2560 เป็นต้นไป แต่สำหรับผู้ใช้บัตรแรบบิทประเภทเติมเงิน ทางรถไฟฟ้า BTS จะยังคงราคาเดิมเป็นเวลา 6 เดือน จนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2561 ดังนั้นใครที่ยังไม่พร้อมรับภาระการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทางรถไฟฟ้า BTS แนะนำให้ผู้โดยสารที่เคยซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียวเปลี่ยนมาใช้บัตรเติมเงิน เพราะนอกจากจะประหยัดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังสะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลาด้วย ส่วนผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ยังจะได้รับส่วนลดครึ่งราคาจากอัตราราคาใหม่เมื่อใช้บัตรแรบบิทสำหรับผู้สูงอายุโดยสามารถเดินทางได้ไม่จำกัดเวลา