เกษียณแล้วแต่เงินไม่พอใช้ทำอย่างไร

เกษียณแล้วแต่เงินไม่พอใช้ทำอย่างไร

“หากชีวิตในวัยเกษียณไม่สวยหรูอย่างที่ฝันไว้ เนื่องจากเงินออมที่มีไม่มากพอ ควรรีบวางแผนการใช้จ่ายและวางแผนสำรองเพิ่มรายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ อย่ารอให้สายเกินไป”
ชีวิตในฝันของคนวัยเกษียณ หลังจากทำงานหนักมาทั้งชีวิต ใครๆ ก็คงอยากใช้ชีวิตที่สุขสบาย มีเงินใช้อย่างเพียงพอ ได้พักผ่อนท่องเที่ยวอย่างที่ใจต้องการ แต่ในความเป็นจริง มีคนจำนวนไม่น้อยที่ชีวิตในวัยเกษียณไม่เป็นไปอย่างที่ฝันไว้ โดยผลสำรวจของธนาคารกสิกรไทย ในปี 2558 พบว่า 2 ใน 3 ของผู้ที่เกษียณแล้วมีความเสี่ยงที่เงินจะไม่พอใช้ในยามเกษียณ เงินออมและทรัพย์สินที่มีไม่มากนัก ทำให้ต้องทำงานต่อหรือยังต้องพึ่งพารายได้จากลูกหลาน
ดังนั้นใครที่เกษียณแล้วอย่ารีรอ ควรรีบทบทวนเงินออมที่มี แล้ววางแผนการถอนเงินสำหรับใช้จ่ายในแต่ละปีหรือสร้างสูตรถอนเงินให้เหมาะสมกับระยะเวลาที่คาดว่าจะใช้ นอกจากนี้ควรทำงบประมาณรายจ่ายต่อเดือน เพื่อช่วยควบคุมไม่ให้ใช้จ่ายมากเกินความจำเป็น และจดบันทึกรายรับรายจ่ายอย่างสม่ำเสมอ แต่เมื่อวางแผนถอนเงินแล้วพบว่าเงินออมที่มีไม่เพียงพอ ต้องรีบวางแผนสำรองเพิ่มรายได้ทันที ซึ่งแผนสำรองเพิ่มรายได้สำหรับคนวัยเกษียณมี 4 แผน ดังนี้
1. แผนเพิ่มผลตอบแทนจากเงินออม
รวบรวมเงินออมทั้งหมดที่มี แล้วแบ่งเป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินไว้ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละเดือน โดยเก็บไว้ในบัญชีออมทรัพย์หรือลงทุนในกองทุนรวมตลาดเงินอย่างน้อย 12 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน ส่วนที่เหลือแนะนำให้นำไปลงทุนตามความเสี่ยงที่รับได้ เพราะเราไม่ได้ใช้เงินทั้งหมดในระยะสั้น บางส่วนยังใช้ในอีก 5-15 ปีข้างหน้า ทำให้สามารถลงทุนระยะยาว เพื่อเพิ่มโอกาสได้รับผลตอบแทนที่มากขึ้นได้ เมื่อลงทุนแล้วต้องหมั่นตรวจสอบเงินลงทุนของตนเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีความเสี่ยงหรือได้รับผลตอบแทนเป็นไปตามที่คาดหวังไว้หรือไม่ หากไม่เคยลงทุนมาก่อนแนะนำให้ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและทำความเข้าใจโดยละเอียดก่อนตัดสินใจลงทุน
2. แผนหารายได้เพิ่ม
เราสามารถสร้างรายได้จากประสบการณ์ที่มี เช่น รับเป็นที่ปรึกษา เป็นอาจารย์พิเศษ หรือ จากงานอดิเรก เปลี่ยนมาเป็นอาชีพเพิ่มรายได้ เช่น ชอบปลูกต้นไม้ นอกจากปลูกที่บ้านแก้เหงาแล้ว ให้ต่อยอดมาเป็นปลูกเพื่อขาย นอกจากจะได้ใช้ประสบการณ์ที่สะสมมาและได้ทำสิ่งที่ชอบแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้เพิ่มได้อีกด้วย
3. แผนขายทรัพย์สิน
เริ่มจากทรัพย์สินที่ไม่จำเป็นก่อน เช่น เครื่องประดับ ของใช้ที่มีมูลค่า ควรทยอยขายตั้งแต่เนิ่นๆ จะทำให้ขายได้ในราคาที่อยากขาย หากรอเงินออมใกล้หมดทำให้ต้องเร่งขาย อาจขายไม่ได้ราคาที่ต้องการ แต่หากเงินยังไม่พอใช้อีก คงต้องกระทบกับทรัพย์สินจำเป็น เช่น เวนคืนกรมธรรม์ประกันชีวิต รวมถึงต้องยอมตัดใจขายหรือลดขนาดทรัพย์สินจำเป็นหรือเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิต เช่น ขายบ้านเดิมแล้วซื้อบ้านใหม่ที่เล็กลง นอกจากจะได้เงินเพิ่มแล้วยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการดูแลบ้านอีกด้วย
4. แผนเปลี่ยนบ้านเป็นเงินกู้
ต้องเป็นบ้านที่อยู่อาศัยปลอดภาระหนี้และเป็นกรรมสิทธิ์ของเรา นำไปค้ำประกันเพื่อขอสินเชื่อกับธนาคาร หรือเรียกว่า Reverse Mortgage สินเชื่อนี้เฉพาะคนวัยเกษียณอายุ 60 – 85 ปีเท่านั้น กู้ได้ไม่เกิน 70% ของราคาประเมิน ระยะเวลากู้ไม่เกิน 20 ปี ผู้กู้ยังได้อยู่บ้านเหมือนเดิมและเลือกรับเป็นเงินก้อนหรือรายงวดหลังจากหักดอกเบี้ยได้ เมื่อเราสิ้นอายุขัยหรือเมื่อสิ้นสุดสัญญาบ้านจะเป็นกรรมสิทธิ์ของธนาคาร ข้อจำกัด คือ หากสิ้นสุดสัญญาแต่เรายังมีชีวิตอยู่ เราต้องออกจากบ้านนี้ไปหาที่อยู่ใหม่ ดังนั้นวิธีนี้จึงอยากแนะนำให้เป็นทางออกสุดท้าย
แผนการเงินของคนวัยเกษียณถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะโอกาสในการเพิ่มรายได้น้อย แต่ยังมีรายจ่ายที่จำเป็นเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นต้องหมั่นตรวจสอบเงินที่มีอย่างสม่ำเสมอ หากรู้ว่าเงินออมที่มีไม่เพียงพอ ควรปรับเปลี่ยนแผนการใช้เงินตั้งแต่เนิ่นๆ หาวิธีเพิ่มรายได้ ขายทรัพย์สินที่ไม่จำเป็น ตัดใจขายหรือปรับลดขนาดทรัพย์สินจำเป็น เพื่อเปลี่ยนเป็นเงินสำหรับใช้จ่ายในบั้นปลายของชีวิต ก่อนจะสายเกินไป