รฟท. เดินหน้า “สถานีแม่น้ำ” แลนด์มาร์คแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

รฟท. เดินหน้า "สถานีแม่น้ำ" แลนด์มาร์คแห่งใหม่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

การรถไฟแห่งประเทศไทย หรือ รฟท. เดินหน้าอีกครั้งกับ “สถานีแม่น้ำ” โครงการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาพื้นที่ 260 ไร่ หลังจากได้ริเริ่มโครงการพัฒนาที่ดินดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2552 โดยว่าจ้างสถาบันเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้ดำเนินการสำรวจศึกษาความเหมาะสมและออกแบบเบื้องต้น และจัดทำเอกสารสำหรับใช้ในการอนุมัติ โดยมีแผนจะพัฒนาเป็นอาคารพาณิชยกรรมและค้าปลีก อาคารพักอาศัย สำนักงาน ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ และโรงแรม ซึ่งจะทำให้ศักยภาพทำเลริมแม่น้ำเจ้าพระยาเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนในอนาคตอันใกล้ >>รวมโครงการที่อยู่อาศัยวิวแม่น้ำเจ้าพระยา

ทำความรู้จัก “สถานีแม่น้ำ”
รูปแบบการพัฒนาโครงการพัฒนาที่ดินสถานีแม่น้ำมี 6 รูปแบบ ประกอบด้วย คือ อาคารพาณิชยกรรมและค้าปลีก อาคารพักอาศัย สำนักงาน ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ และโรงแรม พร้อมกับแบ่งออกเป็น 5 โซนการพัฒนา ดังนี้ >>มิกซ์ยูส (Mixed-Use) จะเปลี่ยนโฉมที่อยู่อาศัยอย่างไร

โซนที่ 1 Gateway Commercial Park พื้นที่ 77 ไร่ อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เชื่อมโยงด้วยระบบขนส่งสาธารณะ นอกจากนี้ยังเหมาะสำหรับเป็นพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม ที่พักอาศัยและบริการ ประเภทของอาคารประกอบด้วย ห้างสรรพสินค้า (Lifestyle Mall) และสำนักงาน
โซนที่ 2 Iconic Marina พื้นที่ 44 ไร่ เหมาะสำหรับก่อสร้างอาคารสูงขนาดใหญ่พิเศษ อาทิ สำนักงาน ศูนย์ประชุมสัมมนา ที่พักอาศัย ศูนย์การค้า พาณิชยกรรม การแสดงสินค้า ธุรกิจการค้า ที่ทำการขององค์กรการค้าเอกชน ศูนย์ข้อมูลธุรกิจ ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และท่าเทียบเรือสำราญขนาดกลาง
โซนที่ 3 Cultural Promenade พื้นที่ 78 ไร่ เหมาะสำหรับพัฒนาเป็นพื้นที่พาณิชยกรรมค้าปลีก และศูนย์กิจกรรมทั้งด้านบันเทิง ด้านการสร้างสรรค์ ร้านอาหารภัตตาคาร สปา คลับ และอาคารใช้งานแบบผสมผสาน (Mixed-Use Tower)
โซนที่ 4 Riverfront Residence พื้นที่ 55 ไร่ เหมาะสำหรับก่อสร้างกลุ่มคอนโดมิเนียมหรือกลุ่มอาคารที่พักอาศัย สามารถเชื่อมต่อกับการใช้งานในพื้นที่อื่นของพื้นที่โครงการส่วนอื่นได้อย่างสะดวก
โซนที่ 5 Affordable Community พื้นที่ 22 ไร่ อยู่บริเวณริมคลองด้านทิศเหนือเหมาะสำหรับพัฒนารองรับธุรกิจการค้าระดับชุมชน สินค้าหัตถกรรม ร้านอาหารตามแนวริมคลองขุด
สถานีแม่น้ำดันศักยภาพทำเลริมเจ้าพระยา
การพลิกโฉมที่ดินริมแม่น้ำเจ้าพระยาครั้งใหญ่ในครั้งนี้ รฟท. จะทำการเปิดให้เอกชนเข้าร่วมประมูลโดยใช้รูปแบบพีพีพีเน็ตคอสต์ (PPP Net Cost) อายุสัมปทาน 30 ปี ทำให้ทำเลนี้กลายเป็นทำเลทองที่น่าจับจองมากขึ้น จากข้อมูลของคอลลิเออร์ส พบว่า สถานีแม่น้ำพื้นที่ 260 ไร่ สามารถตีมูลค่าที่ดินตามการประเมินของกรมธนารักษ์ได้ 1.3 หมื่นล้านบาท คิดเป็นราคาไร่ละ 25 ล้านบาทหรือราคา 6.5 หมื่นบาท/ตารางวา โดยพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ติดกับโค้งแม่น้ำเจ้าพระยาที่มีความยาวประมาณ 2 กิโลเมตร พื้นที่รอบบริเวณเป็นพื้นที่ชุมชนจำนวนมาก ถือว่าเป็นทำเลใจกลางเมืองใกล้กับศูนย์กลางเศรษฐกิจ และออฟฟิศชื่อดังย่านสาทรและสีลม

โดยปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวทั้งหมดในรัศมีโดยรอบกว่า 3 กิโลเมตร ประกอบด้วยสำนักงานให้เช่าทั้งหมดประมาณ 9.5 แสนตารางเมตร อาคารสำนักงานเกรดเอมากถึง 4.7 แสนตารางเมตร คิดเป็น 50% ส่วนอาคารเกรดบี มีพื้นที่ประมาณ 4.3 แสนตารางเมตร หรือคิดเป็น 46% และเกรดซี ประมาณ 3.9 หมื่นตารางเมตร คิดเป็น 4%
เติมเต็มศักยภาพการเดินทางที่หลากหลาย
โครงการสถานีแม่น้ำส่วนหนึ่งมีแผนจะพัฒนาเป็นท่าเทียบเรือ ซึ่งจะช่วยยกระดับการเดินทางในทำเลนี้ให้สะดวกยิ่งขึ้น โดยพื้นที่ย่านสถานีแม่น้ำตั้งอยู่บริเวณคุ้งน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้กับท่าเรือคลองเตย ตรงข้ามกับบางกระเจ้าซึ่งเป็นพื้นที่สีเขียว นับเป็นปอดขนาดใหญ่ของคนกรุงเทพฯ และสมุทรปราการ นอกจากนี้ยังอยู่ใกล้กับศูนย์กลางธุรกิจขอบกรุงเทพฯ (CBD) ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และไม่ไกลจากสนามบินสุวรรณภูมิ

ขณะที่เส้นทางการคมนาคมที่เชื่อมโยงกับพื้นที่โดยรอบนั้น สามารถเข้าถึงพื้นที่ได้ 3 เส้นทางโดยผ่านทางถนนเชื้อเพลิง ถนนพระราม 3 ซอยวัดช่องลม และถนนเลียบทางรถไฟเดิม ใกล้รถโดยสารด่วนพิเศษ BRT และรถไฟฟ้า MRT สถานีคลองเตย เชื่อมต่อกับระบบรถไฟฟ้า BTS รวมทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายอื่น ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นมาในอนาคต อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง รถไฟชานเมืองสายสีแดง (แนวเหนือ-ใต้) รถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตลิ่งชัน-มีนบุรี) และรถไฟฟ้าสายสีเทา วัชรพล-ทองหล่อ-พระราม 9 ซึ่งในเฟส 2 ของโครงการจะมีแนวเส้นทางวิ่งมายังถนนพระราม 3 ใกล้กับทำเลสถานีแม่น้ำอย่างมาก ทำให้การเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนได้ง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีเส้นทางเชื่อมออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ผ่านท่าเรือโดยรอบพื้นที่ ต่อเนื่องไปยังย่านศูนย์การค้าชั้นนำใกล้เคียง ไม่ว่าจะเป็นเอเชียทีค, ไอคอนสยาม, ยอดพิมาณ ที่สำคัญสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) และกรุงเทพมหานคร กำลังอยู่ระหว่างการศึกษาจัดทำโครงการถนนเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้พื้นที่บริเวณริมแม่น้ำเจ้าพระยามีการสัญจรเชื่อมโยงถึงกัน

อย่างไรก็ตาม ถือเป็นการเดินหน้าโครงการสถานีแม่น้ำ “อีกครั้ง” หลังจากที่ริเริ่มแนวคิดโครงการมานานหลายปี เป็นอีกหนึ่งโครงการที่ รฟท. หมายมั่นปั้นมือจะนำที่ดินของ รฟท. มาเพิ่มมูลค่า เพื่อนำเงินเหล่านั้นมาพัฒนาบำรุงกิจการ ซึ่งปัจจุบันทาง รฟท. มีโครงการที่แล้วเสร็จอย่างรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ โครงการที่อยู่ระหว่างการดำเนินงานอย่างรถไฟฟ้าสายสีแดง และโครงการที่อยู่ในแผนอย่างมักกะสันคอมเพล็กซ์ ซึ่งก็เป็นที่ทราบกันดีว่าแต่ละโครงการมีผลการดำเนินงานไม่ตรงตามเป้า สำหรับโครงการล่าสุด สถานีแม่น้ำ ก็ต้องมารอดูกันต่อไปว่าจะกู้หน้า รฟท. ได้หรือไม่