เผยทำเลฮอต อสังหาฯ ‘บูม’ กลุ่มตลาดบน

เผยทำเลฮอต อสังหาฯ ‘บูม’ กลุ่มตลาดบน

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2561 ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ส่วนหนึ่งมาจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านการคมนาคมของภาครัฐ แม้ว่าจะส่งผลดีที่ทำให้การพัฒนาที่อยู่อาศัยไม่ได้กระจุกตัวอยู่เฉพาะใจกลางเมืองอีกต่อไป แต่ก็มีส่วนผลักดันให้ราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยสูงขึ้น เมื่อประกอบกับภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง และกำลังซื้อยังไม่ฟื้นแบบกระจายตัว ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ยังคงเน้นพัฒนาสินค้าในกลุ่มตลาดบน
ทำเลที่มีซัพพลายที่อยู่อาศัยหรูระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่จะยังอยู่ในเขต CBD และเริ่มมีการกระจายตัวออกสู่พื้นที่รอบนอกเขตศูนย์กลางธุรกิจเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะตามแนวรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายที่เปิดให้บริการ และสายที่การก่อสร้างมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยพบว่า ที่อยู่อาศัยราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป (รวมทุกประเภทที่อยู่อาศัย บ้านเดี่ยว-ทาวน์เฮ้าส์-คอนโดมิเนียม) ทำเลที่มีซัพพลายมากที่สุด 3 เขตอยู่ในเขต CBD ทั้งหมด ได้แก่

เขตวัฒนา มีจำนวนมากที่สุด มีซัพพลายถึง 32.26% ของซัพพลายระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยซัพพลายส่วนใหญ่ถึง 65% อยู่ในแขวงคลองตันเหนือ ครอบคลุมทำเลเอกมัย ทองหล่อ พร้อมพงษ์
เขตคลองเตย มีจำนวนซัพพลายมากถึง 19.14% ของซัพพลายระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยซัพพลายส่วนใหญ่ 57.90% อยู่ในแขวงคลองตัน เนื่องจากเป็นทำเลแนวรถไฟฟ้า BTS สถานีทองหล่อถึงพร้อมพงษ์ ครอบคลุม ถ.สุขุมวิท ฝั่งเลขคู่ เชื่อมต่อกับ ถ.พระราม 4
เขตปทุมวัน มีจำนวนซัพพลายอยู่ที่ 8.79% ของซัพพลายระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไปทั้งหมดในกรุงเทพฯ โดยซัพพลายส่วนใหญ่อยู่ในแขวงลุมพินีถึง 94.13% แนวรถไฟฟ้า BTS สถานีเพลินจิต ชิดลม และรถไฟฟ้าใต้ดิน MRT สถานีลุมพินี สีลม รายล้อมด้วยถนนสายสำคัญ อาทิ วิทยุ ราชประสงค์ สุขุมวิท พระราม 4 สวนสาธารณะขนาดใหญ่อย่างสวนลุมพินี ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ อาทิ เซ็นทรัล เอ็มบาสซี เซ็นทรัลเวิลด์ เกษรพลาซ่า
ตอบรับกับดีมานด์ที่มีอยู่อย่างต่อเนื่อง สังเกตได้จากอัตราดูดซับที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะใน 3 เขตที่มีอัตราดูดซับมากที่สุด ได้แก่

เขตจตุจักร ซัพพลายมีปริมาณลดลงมากถึง 10.24% โดยแขวงที่มีอัตราดูดซับสูงสุดคือ แขวงจตุจักร เนื่องจากเป็นทำเลอนาคตที่ครอบคลุมพื้นที่สถานีกลางบางซื่อ และรถไฟฟ้าหลายสาย รายล้อมด้วยแหล่งงานขนาดใหญ่ และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน
เขตคลองเตย ซัพพลายลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าราว 8.93% โดยแขวงที่มีอัตราดูดซับสูงสุดคือ แขวงคลองตัน เนื่องจากเป็นทำเลแนวรถไฟฟ้า BTS สถานีทองหล่อถึงพร้อมพงษ์ ครอบคลุม ถ.สุขุมวิท ฝั่งเลขคู่ เชื่อมต่อกับ ถ.พระราม 4
เขตบางคอแหลม มีซัพพลายลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า 8.41% โดยเฉพาะในแขวงพระยาไกร เนื่องจากเป็นทำเลแนว ถ.เจริญกรุง ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ใกล้แหล่งงานทั้งย่านสาทร สีลม และพระราม 3 นอกจากนี้ยังใกล้เอเชียทีค