3 มุมมองกูรูแบงก์ มาตรการ LTV ช่วยอสังหาฯ ได้จริงหรือ?

3 มุมมองกูรูแบงก์ มาตรการ LTV ช่วยอสังหาฯ ได้จริงหรือ?

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

ธอส. ชี้ LTV ทำยอดปล่อยกู้บ้านลด 30-35%
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธอส. ได้รับผลกระทบจากมาตรการ LTV ค่อนข้างรุนแรง การปล่อยกู้ไตรมาสแรกปี 2562 โดยเฉพาะเดือนมีนาคม มีการอนุมัติกู้ซื้อบ้านถึง 19,000 ล้านบาท เพื่อหนีมาตรการ LTV ที่มีผลบังคับในเดือนเมษายน
ขณะที่การปล่อยกู้ครึ่งเดือนแรกของเดือนพฤษภาคม ยอดปล่อยกู้ลดลง 30-35% หากเป็นเช่นนี้จะทำให้ปีนี้ปล่อยกู้ต่ำกว่าเป้าหมาย 60,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 203,000 ล้านบาท ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ธปท.จะผ่อนผันเกณฑ์ได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี แม้ LTV จะเป็นมาตรการที่ดี ถูกต้องตามทฤษฎี เหมาะสำหรับการควบคุมการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ ที่กำหนดให้ปล่อยกู้ได้ไม่เกิน 95% ของราคาประเมิน ซึ่งไม่กระทบกับผู้มีรายได้ดี แต่ไม่เหมาะกับการปล่อยกู้บ้านของ ธอส. ที่เป็นลูกค้ากลุ่มผู้มีรายได้น้อยและเป็นผู้กู้ซื้อบ้านหลังแรก เช่น ขอกู้ 1 ล้านบาท ต้องหาเงินมาดาวน์ 50,000 บาท สำหรับผู้มีรายได้น้อยเป็นเรื่องลำบาก ทำให้การปล่อยกู้บ้านหลังแรกนั้นได้รับผลกระทบ
ออมสิน เล็งออกมาตรการบรรเทาผลกระทบ LTV
ด้าน นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ช่วงเดือนเมษายนที่ผ่านมา หลังจากมาตรการ LTV ของ ธปท. มีผลบังคับใช้ ทางธนาคารออมสินได้เริ่มเห็นแนวโน้มการชะลอลงบ้างของการปล่อยสินเชื่อ จึงได้พยายามหามาตรการ หรือโปรโมชั่นพิเศษเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ รวมถึงประชาชนที่ไม่สามารถกู้บ้านได้ เพื่อลดผลกระทบจากมาตรการ LTV ซึ่งเบื้องต้นอาจออกมาในรูปแบบของการออมก่อนกู้ หรือทดลองผ่อนดาว์นก่อนการกู้จริง
สำหรับในปีนี้ ธนาคารออมสินตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัย ไว้ที่ 60,000-70,000 ล้านบาท โดยไตรมาสแรกที่ผ่านมาปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 10,000 ล้านบาท เป็นไปตามเป้าหมายที่ธนาคารวางไว้ เนื่องจากในช่วงไตรมาสแรก ผู้ประกอบการได้เร่งการโอนก่อนมาตรการ LTV จะมีผลบังคับใช้ ทำให้ยอดปล่อยสินเชื่อในช่วงเวลาดังกล่าวสูง และถึงแม้หลายสถาบันการเงินจะเริ่มทยอยปรับเป้าสินเชื่อปีนี้ลง
ธปท. ต่อเวลาประเมิน LTV ยันส่งผลดีต่อภาคอสังหาฯ
ส่วน นายวิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จะยังไม่มีการทบทวนปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์มาตรการ LTV ที่ได้บังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา และจะขอดูผลจากมาตรการไปอีกระยะหนึ่งก่อน ซึ่งในขณะนี้ ที่มีการชะลอตัวของสินเชื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงิน เกิดจากการเร่งตัวการขอสินเชื่อและโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยจำนวนมากไปตั้งแต่ไตรมาสที่ 4 ของปี 2561 ต่อเนื่องมายังไตรมาส 1 ของปี 2562 จึงทำให้ยอดการขอสินเชื่อในเเดือนเมษายนและพฤษภาคมชะลอตัวลงไปบ้าง
ทั้งนี้ วัตถุประสงค์หลักของการออกมาตรการ LTV ต้องการควบคุมการเก็งกำไรของผู้ที่ทำธุรกรรมบ้านสัญญาหลังที่ 2-3 เพื่อไม่ให้เกิดการเก็งกำไร จนส่งผลต่อราคาที่อยู่อาศัยให้ปรับตัวสูงขึ้นเกินไป ซึ่งการออกมาตรการนี้จะไม่ส่งผลต่อผู้ที่ต้องการมีบ้านหลังแรก แต่กลับกันจะเป็นผลดีต่อผู้ที่ต้องการมีบ้านหลังแรกที่จะซื้อบ้านในราคาที่ไม่สูงเกินไป ขณะเดียวกันหาก ธปท. ไม่ดูแลอาจทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดปัญหาฟองสบู่ และมีปัญหาในวงกว้างตามมาได้
Cr. DDproperty