อสังหาฯ แนวราบยังโต บ้านเดี่ยว 3-7 ล้าน ครองตลาด

อสังหาฯ แนวราบยังโต บ้านเดี่ยว 3-7 ล้าน ครองตลาด

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

ผู้ประกอบการรุกตลาดแนวราบ ดันบ้านเดี่ยวบูม
จากการสำรวจของพลัส พร็อพเพอร์ตี้ พบว่า ปี 2562 บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หันมาพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยในรูปแบบบ้านเดี่ยวมากขึ้น ส่งผลให้ตลาดบ้านเดี่ยวในช่วงครึ่งปีแรก มีการเติบโตดีขึ้นทั้งในด้านอุปสงค์และอุปทาน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ๆ แต่ชะลอตัวลงเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีหลัง 2561 เนื่องจากการเร่งระบายสินค้าก่อนที่นโยบายการปล่อยสินเชื่อใหม่จะเริ่มใช้ในช่วงต้นปี 2562 โดยในรอบสำรวจนี้มีอุปสงค์รวมเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาอยู่ที่ 6,198 ยูนิต หรือมีอัตราการขายเท่ากับ 38% ขณะที่อุปทานเสนอขายรวมเพิ่มขึ้น 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากโครงการเปิดใหม่และโครงการเก่าที่เปิดจำนวนยูนิตขายเพิ่มขึ้น มีจำนวนทั้งสิ้น 16,369 ยูนิต
เจาะกลุ่มลูกค้าระดับบน ชี้ยังมีกำลังซื้อ
กลุ่มราคาที่เติบโตต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2561 ได้แก่ บ้านเดี่ยวระดับราคาตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพิ่มขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ประกอบการปรับกลยุทธ์มาพัฒนาโครงการที่จับกลุ่มลูกค้าระดับบน เพราะเป็นกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจและมาตรการควบคุมการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม ระดับราคาดังกล่าวมีสัดส่วนเพียงเล็กน้อยเมื่อเปรียบเทียบกันระดับราคาอื่น ๆ ในตลาดบ้านเดี่ยว
ครึ่งแรกปี 62 บ้านเดี่ยวเปิดขายร่วม 16,369 ยูนิต
ด้านภาพรวมของบ้านเดี่ยวในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 พบว่า มีอุปทานรวม 16,369 ยูนิต แบ่งตามระดับราคาได้ดังนี้
• ราคา 3-5 ล้านบาท มีจำนวน 35% หรือ 5,671 ยูนิต
• ราคา 5-7 ล้านบาท มีจำนวน 31% หรือ 5,065 ยูนิต
• ราคา 7-10 ล้านบาท มีจำนวน 15% หรือ 2,515 ยูนิต
• ราคา 10-20 ล้านบาท มีจำนวน 10% หรือ 1,709 ยูนิต
• ราคา 20-40 ล้านบาท มีจำนวน 4% หรือ 711 ยูนิต
• ราคา 30-40 ล้านบาท มีจำนวน 2% หรือ 305 ยูนิต
• ราคา 40 ล้านบาทขึ้นไป มีจำนวน 2% หรือ 300 ยูนิต
• ราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท มีจำนวน 1% หรือ 93 ยูนิต

บ้านเดี่ยวราคา 10 ล้านบาท ตอบรับดี ยอดซื้อเพิ่ม 40%
ขณะเดียวกันอุปสงค์รวมของครึ่งปีแรก มีจำนวนทั้งสิ้น 6,198 ยูนิต หรือคิดเป็นยอดขาย 38% จำนวนอุปสงค์ดังกล่าวเพิ่มขึ้น 15% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ลดลง 16% จากช่วงครึ่งหลังปี 2561 เนื่องจากการมีการเร่งระบายสินค้า ก่อนจะเริ่มใช้นโยบายสินเชื่อที่อยู่อาศัยใหม่เมื่อต้นปี 2562 ซึ่งส่งผลให้การตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยของผู้บริโภคในช่วงดังกล่าวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม ในรอบสำรวจนี้จำนวนอุปสงค์ปรับเพิ่มขึ้นในทุกระดับราคา เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ทั้งนี้ ระดับราคาที่ได้รับการตอบรับหรือมีดีมานด์ที่เพิ่มมากขึ้นอันดับต้น ๆ ได้แก่ บ้านเดี่ยวในระดับราคา 10 ล้านบาทขึ้นไป มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นราว 40% มาอยู่ที่ 1,158 ยูนิต
จับตาโซนรอบนอก คลองสามวา-ลาดกระบัง ขายดี
ส่วนระดับราคาที่เป็นตลาดหลัก ได้แก่ 3-5 ล้านบาท และ 5-7 ล้านบาท มีจำนวนอุปสงค์เพิ่มขึ้น 4% และ 22% มาอยู่ที่ 2,418 ยูนิต และ 1,733 ยูนิต ตามลำดับ ในขณะที่ราคา 7-10 ล้านบาท มีอุปสงค์เพิ่มขึ้น 2% มาอยู่ที่ 848 ยูนิต
ในรอบสำรวจนี้ยังพบอีกว่า บ้านเดี่ยวราคา 5-7 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาหลักในตลาดบ้านเดี่ยว มีอัตราการเติบโตต่อเนื่อง มีอุปสงค์เพิ่มขึ้นมากในโซนตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณคลองสามวา และลาดกระบัง รวมถึงโซนทิศตะวันตกจะอยู่ในบริเวณบางใหญ่ และพุทธมณฑล เนื่องจากเป็นทำเลที่สามารถเชื่อมต่อเข้าสู่ตัวเมืองได้ รวมไปถึงมีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ตั้งอยู่ซึ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้อยู่อาศัยในบริเวณดังกล่าวได้เป็นอย่างดี
ครึ่งปีหลังแข่งขันสูง บ้านเดี่ยวราคา 5-7 ล้านบาท ครองตลาด
แนวโน้มในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 คาดว่าอุปสงค์และอุปทานของบ้านเดี่ยวยังคงเติบโตระดับที่คงที่ต่อไป โดยผู้ประกอบการเน้นพัฒนาโครงการใหม่ให้ตอบโจทย์กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่มีการแข่งขันสูงมากขึ้น และคาดว่าโครงการใหม่ ราคา 5-7 ล้านบาท จะมีจำนวนมากขึ้น ในขณะที่โครงการใหม่ ราคา 3-5 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับราคาหลักของบ้านเดี่ยวจะมีแนวโน้มการเปิดโครงการใหม่ลดลง เนื่องจากราคาที่ดินเพิ่มขึ้น ผู้ประกอบการจึงจำเป็นจะต้องปรับระดับราคาที่เสนอขายให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน
ปี 2562 ถือเป็นปีที่พิสูจน์ความแข็งแกร่งของผู้ประกอบการที่จะช่วงชิงส่วนแบ่งตลาด มองเห็นโอกาสรุกตลาดแนวราบอย่างบ้านเดี่ยวระดับบนที่กำลังซื้อยังมีอยู่ แต่เพราะเศรษฐกิจมีความผันผวนอยู่ตลอด ยังคงต้องจับตากันต่อ เพราะทั้งภาวะเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ การทบทวนนโยบายสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย และการพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยที่มีผลต่อกำลังซื้อในครึ่งปีหลังทั้งสิ้น
Cr. DDproperty