#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
กู้ร่วมซื้อบ้านคืออะไร
การกู้ร่วมซื้อบ้าน คือการร่วมเซ็นสัญญายื่นกู้ทรัพย์สินชิ้นเดียวกัน เพื่อแสดงให้สถาบันการเงินเห็นว่าผู้ร่วมรับภาระหนี้มีความสามารถทางการเงินเพียงพอที่จะผ่อนชำระเงินต้นและดอกเบี้ยคืนได้ตามสัญญา เพื่อให้สถาบันทางการเงินอนุมัติการขอสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
แต่การกู้ร่วมซื้อบ้านนั้นถือเป็นการค้ำประกันรูปแบบหนึ่ง เพราะผู้กู้ร่วมจะต้องมีคุณสมบัติที่ดีเหมือนผู้กู้หลัก คือมีหลักฐานรายได้ชัดเจน และมีการชำระหนี้ที่ดี รายได้ที่เหลือเพียงพอที่จะร่วมรับภาระหนี้ได้
การเลือกผู้กู้ร่วมก็เป็นสิ่งสำคัญ ควรเลือกกับบุคคลที่สามารถรับภาระหนี้ร่วมกัน ดังนั้นจึงควรกู้ร่วมกับบุคคลในครอบครัวที่มีสายเลือดเดียวกันก่อน เช่น พี่ น้อง พ่อ แม่ ลูก ส่วนบุคคลอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวมาควรต้องพิจารณาให้รอบคอบ เพราะต้องถือกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ซึ่งหากไม่ได้ร่วมรับภาระการผ่อนจริง อาจจะมีปัญาหาในการโอนกรรมสิทธิคืนให้เราในภายหลัง
ข้อดีของการกู้ร่วมซื้อบ้าน
ปัญหาหลักๆ ของการกู้ซื้อบ้านนั้น ส่วนมากจะเกิดจากการที่กู้ไม่ผ่านเพราะมีฐานรายได้ไม่เพียงพอที่จะรับผิดชอบหนี้สิน รวมถึงมีหลักฐานทางการเงินไม่เพียงพอ ขาดความน่าเชื่อถือ หรือมีประวัติการชำระหนี้ที่อาจไม่ดี
ด้วยเหตุนี้ ข้อดีที่ทำให้หลายๆ คนหันมาสนใจการกู้ร่วมซื้อบ้านก็คือ
มีโอกาสในการ อนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
อาจได้ วงเงินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
เนื่องจากสถาบันทางการเงินถือว่าการมีผู้มากู้ร่วมซื้อบ้านด้วยจะเพิ่มความสามารถในการผ่อนชำระมีมากขึ้น รวมถึงเป็นการกระจายความเสี่ยง และเพิ่มความน่าเชื่อถือของผู้ยื่นขอสินเชื่อ ส่งผลให้มีโอกาสที่จะยินยอมอนุมัติสินเชื่อได้ง่ายขึ้น
ข้อควรระวัง
แม้ว่าการกู้ร่วมซื้อบ้านอาจจะมีข้อดีที่ตอบโจทย์ใครหลายคน แต่ก็มีข้อควรระวังที่มองข้ามไม่ได้อยู่เช่นกัน โดยสิ่งที่คุณควรคำนึงก่อนดำเนินเรื่องกู้ร่วมซื้อบ้าน มีดังนี้
มีภาระหนี้ร่วมกัน
ตามหลักของธนาคารแล้ว การกู้ร่วมซื้อบ้านจะนับว่าเป็นผู้ที่ มีภาระหนี้ร่วมกัน ซึ่งต้องช่วยกันจ่ายค่างวดในแต่ละเดือนให้ตรงตามที่กำหนดไว้ แต่เนื่องจากกรณีที่มีภาระหนี้ร่วมกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดไม่สามารถผ่อนชำระหนี้ได้ขึ้นมา อีกคนหนึ่งก็ต้องรับหน้าที่จ่ายในส่วนนั้นด้วยโดยไม่มีข้อยกเว้น
นอกจากนี้ การจะขอถอนรายชื่อจากการเป็นผู้กู้ร่วมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากทางธนาคารจะทำการตรวจสอบใหม่อีกครั้งว่าผู้กู้เพียงคนเดียวนั้น จะมีความสามารถในการผ่อนชำระเพียงพอหรือไม่ หากว่าคุณสมบัติไม่ผ่าน ก็ไม่สามารถถอนชื่อผู้กู้ร่วมได้
และที่สำคัญ แม้จะมีการจ่ายหนี้จากผู้กู้เพียงคนเดียว แต่ตราบใดที่อีกฝ่ายยังมีชื่อในสัญญากู้ร่วมซื้อบ้าน บ้าน ก็ถือว่าเป็นเจ้าของร่วมเช่นเดียวกัน ซึ่งกรณีนี้สร้างปัญหาให้กับผู้กู้ร่วมซื้อบ้านหลายกรณีมาก เช่น อีกฝ่ายไม่ยอมโอนกรรมสิทธิ์ความเป็นเจ้าของมาให้ เพราะฉะนั้น ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้กันให้ดีๆ
ดอกเบี้ยบ้านลดหย่อนภาษีถูกหารเฉลี่ย
อย่างที่ทุกคนทราบกันดี ดอกเบี้ยจากการกู้ซื้อบ้านนั้นสามารถนำไปใช้ลดหย่อนภาษีรายปีได้ แต่ในกรณีของการกู้ร่วมเพื่อซื้อบ้านนั้น จะถูกหารเฉลี่ยตามจำนวนผู้กู้ร่วม ยกตัวอย่างเช่น ดอกเบี้ยจากการผ่อนบ้านหลังนี้สามารถลดหย่อนภาษีได้ 70,000 บาท แต่หากมีผู้กู้ร่วม 2 คน จะสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้เพียงคนละ 35,000 เท่านั้น
การขายบ้านต้องได้รับการยินยอมจากทุกฝ่าย
สำหรับผู้ที่ต้องการขายบ้าน ถ้าบ้านหลังนั้นมีชื่อผู้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียวก็คงจะจัดการอะไรได้ไม่ยาก
แต่ในกรณีของการกู้ร่วมซื้อบ้าน หากต้องการขายบ้านที่มีกรรมสิทธิ์ร่วมกัน จะต้องได้รับการยินยอมจากทุกฝ่าย
ซึ่งสร้างปัญหามานักต่อนัก คนหนึ่งอยากขายแต่อีกคนหนึ่งไม่ยินยอม ทำให้การขายต้องถูกยืดระยะเวลาออกไปจนกว่าจะยินยอมทุกฝ่าย เพราะฉะนั้นควรจะศึกษาพฤติกรรมของอีกฝ่ายให้ดีๆ ก่อนตัดสินใจกู้ร่วม จะได้ไม่เกิดปัญหานี้ในภายหลัง
สำหรับการคำนวณหาภาษีในกรณีที่กู้ร่วมนั้น คุณสามารถคิดคำนวณผ่าน โปรแกรมคำนวณภาษีการขายอสังหาริมทรัพย์ จากกรมสรรพากรได้เลย
แม้ว่าการกู้ร่วมซื้อบ้านจะเป็นข้อเสนอที่ดีสำหรับผู้มีกำลังทรัพย์ไม่เพียงพอ แต่ถึงกระนั้นก็ต้องคำนึงถึงข้อควรระวังหลายจุด ไม่ว่าจะเป็น ภาระเงินผ่อนที่ต้องแบกรับ เรื่องของผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ และอย่าลืมศึกษาพฤติกรรมของผู้กู้ร่วมให้ดีๆ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาในภายหลัง
หากคุณกำลังติดสินใจที่จะซื้อบ้าน และมองหาธนาคารที่มีสินเชื่อบ้านอัตราดอกเบี้ยต่ำ ธอส. พร้อมให้คำปรึกษา เราเชี่ยวชาญด้านสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ มีแนวทางการกู้ที่เหมาะสมสำหรับคนทุกกลุ่มเพื่อการมีบ้านในฝันของคุณ
Cr. ธนาคารอาคารสงเคราะห์