#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
ปัจจุบันไทยมีประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปกว่า 11 ล้านคน ซึ่งวัยเกษียณเหล่านี้ต้องเตรียมตัวทั้งด้านรายได้ที่ขาดหายไป เงินออม รวมถึงที่อยู่อาศัย โดยจากผลสำรวจชี้ว่า คนไทย 49% ไม่มีความกังวลใด ๆ ในชีวิตหลังเกษียณ
ในแต่ละปีไทยจะมีข้าราชการที่ครบกำหนดเกษียณอายุตามปีงบประมาณจำนวนถึงหลักหมื่นคน โดยข้อมูลข้าราชการพลเรือนสามัญ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2561-2570 จะมีข้าราชการพลเรือนสามัญเกษียณอายุรวมจำนวน 117,652 คน (เฉลี่ยปีละ 11,765 คน) หากโฟกัสในปี พ.ศ. 2561-2563 จะมีผู้เกษียณอายุจำนวน 8,539 คน 10,068 คน และ 11,017 คน ตามลำดับ
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติได้คาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2570 ประเทศไทยจะมีวัยแรงงานลดจำนวนลงเหลือ 61% จากข้อมูลของสำนักวิชาการ สำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฏร เกี่ยวกับสังคมผู้สูงอายุกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย พบว่า แนวทางการรับมือสังคมผู้สูงวัยในต่างประเทศที่นิยมนำมาใช้และอาจจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมไทย ประกอบด้วย การขยายอายุเกษียณ ซึ่งเกิดขึ้นแล้วที่สิงคโปร์ ที่เพิ่มอายุเกษียณจาก 65 ปี เป็น 67 ปี เกาหลีเพิ่มจาก 55 ปี เป็น 60 ปี และญี่ปุ่นขยายจาก 62 ปี เป็น 65 ปี
สอดคล้องกับผลวิจัยของ TDRI ที่พบว่า การเก็บรักษาพนักงานในกลุ่มอายุ 50-60 ปีไว้ และปรับทักษะให้ดีขึ้นจะทำให้การชะลอตัวทางเศรษฐกิจลดลง 9% และการนำแรงงานในกลุ่มอายุ 60-69 ปีกลับมาในตลาดแรงงานจะช่วยทำให้สถานการณ์ดีขึ้น 2%
โดยทางสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ได้มีแผนขยายเวลาเกษียณอายุข้าราชการจากเดิม 60 ปี เป็น 63 ปี ในปี พ.ศ. 2567 เพื่อรองรับสังคมสูงวัย และสนับสนุนให้ข้าราชการมีอาชีพและมีงานทำหลังเกษียณ
ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนหลายองค์กรได้มีนโยบายจ้างงานผู้สูงวัยตั้งแต่อายุ 60 ปีขึ้นไป เพื่อสร้างรายได้และสร้างงานให้กับผู้สูงอายุ ซึ่งรัฐบาลได้ออกกฏหมายสนับสนุนให้บริษัทที่จ้างผู้สูงอายุที่มีอายุ 60 ปี ขึ้นไปเข้าทำงาน ให้สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ถึง 100% จึงมีความเป็นไปได้ว่าในอนาคตจะมีองค์กรเอกชนสนับสนุนการจ้างงานผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอีก
ผลสำรวจชี้คนไทย 49% ไม่มีความกังวลเมื่อเข้าสู่วัยเกษียณ
เมื่อเอ่ยถึงอสังหาริมทรัพย์ การใช้ชีวิตในวัยเกษียณก็เป็นอีกเรื่องสำคัญที่หลายคนคำนึงถึง บางรายอาจอาศัยร่วมกับลูกหลานหรือพี่น้องซึ่งเป็นครอบครัวใหญ่ ขณะที่ผู้สูงวัยอีกไม่น้อยที่ไม่ได้แต่งงาน หรือต้องการแยกตัวมาอยู่คนเดียว ก็เริ่มให้ความสนใจรูปแบบที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัยโดยเฉพาะ
จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้บริโภคต่อสภาพตลาดอสังหาริมทรัพย์ (DDproperty Consumer Sentiment Survey) รอบล่าสุด ซึ่งมีผู้บริโภคอายุตั้งแต่ 22-70 ปีขึ้นไป เข้าร่วมทำแบบสำรวจกว่า 800 คน ได้แสดงมุมมองของคนไทยที่มีต่อที่พักอาศัยในวัยเกษียณอย่างน่าสนใจ โดยพบว่า
อสังหาฯ ประเภทบ้านเดี่ยวขึ้นแท่นอันดับ 1 ครองใจวัยเกษียณ ตามด้วยที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ และคอนโดมิเนียมหรือทาวน์เฮ้าส์
49% ของผู้ทำแบบสำรวจไม่มีความกังวลใด ๆ หากถึงวัยเกษียณ
ผู้ทำแบบสำรวจ 18% กังวลเรื่องการอยู่คนเดียวเมื่อยามสูงวัย
28% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 30-39 ปี และ 50-59 ปี มองว่าระยะห่างระหว่างที่พักและระบบขนส่งสาธารณะไม่ใช่ปัญหา
45% ของผู้ที่มีอายุระหว่าง 60-69 ปี รับได้หากระยะห่างระหว่างที่พักกับระบบขนส่งสาธารณะไม่เกิน 500 เมตร
ข้อมูลจากแบบสำรวจพบว่า ประเภทอสังหาฯ ที่ครองใจวัยเกษียณเป็นอันดับ 2 คือ ที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงวัย ซึ่งตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่ไม่มีลูกหลานดูแล เพราะมีทั้งรูปแบบโครงการที่เป็น Community วัยเกษียณ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังสามารถดูแลตนเองได้ ภายในโครงการมีบริการทางการแพทย์คอยดูแล ส่วนอีกรูปแบบหนึ่งคือ Nursing Home ตอบโจทย์ผู้สูงวัยที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้ ซึ่งมีแพทย์ พยาบาล คอยดูแลตลอด 24 ชั่วโมง
ปัจจุบันมีผู้ประกอบการทั้งภาครัฐและเอกชนจำนวนมากให้ความสนใจลงทุนที่พักสำหรับผู้สูงวัย โดยมีระดับราคาที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก การให้บริการ ทำเลที่ตั้ง ซึ่งผู้ที่อยู่ในวัยเกษียณแล้วกำลังมองหาทางเลือกนี้ ลองค้นหาที่ที่ตอบโจทย์ความต้องการที่ไม่ใช่แค่ด้านการเงินอย่างเดียวเท่านั้น แต่ต้องตอบรับปัจจัยความจำเป็นอื่น ๆ ด้วย เช่น สุขภาพ การเดินทาง สังคม สิ่งแวดล้อม ไลฟ์สไตล์
ดังนั้นจึงควรไปดูสถานที่จริงเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจ เช่นเดียวกับการเลือกซื้อหรือเช่าบ้าน ซึ่งจะเป็นที่พักพิงทางกายและใจในยามบั้นปลายของชีวิตได้อย่างมีความสุข
Cr.DDproperty