เอกชนทุ่มสร้างท่าเรือคลองแสนแสบใหม่เปิดพื้นที่ โครงการเอลิงค์ เชื่อมสถานีรามคำแหง แอร์พอร์ตลิงก์ คมนาคม สั่ง สนข.ประมวลข้อมูล จัดระเบียบการให้บริการ เน้นสะดวกและปลอดภัย ชี้เป็นไปตามนโยบายเชื่อมเรือ รถไฟฟ้า รถเมล์ กระตุ้นประชาชนใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
นางสร้อยทิพย์ ไตรสุทธิ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังประชุมเตรียมการเปิดใช้พื้นที่เชื่อมต่อการเดินทาง ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ รามคำแหง ว่า เนื่องจากทางภาคเอกชนได้มีความร่วมมือในการก่อสร้างท่าเทียบเรือในคลองแสนแสบเพื่อเชื่อมต่อการเดินทางกับรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ที่สถานีรามคำแหง โดยได้กำหนดเปิดใช้ท่าเรือดังกล่าวช่วงกลางเดือน มิ.ย. 2558 นี้ ซึ่งเบื้องต้นได้หารือผู้เกี่ยวข้อง เช่น กรมเจ้าท่า บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด (แอร์พอร์ตเรลลิงก์) ถึงความเป็นมาและความพร้อมในการเปิดใช้ท่าเรือในประเด็นต่างๆ ตั้งแต่การออกแบบท่าเรือว่าถูกต้องเป็นไปตามหลักมาตรฐานความปลอดภัยหรือไม่ มีการขออนุญาตจากกรมเจ้าท่าหรือไม่ ใครเป็นผู้บริหารจัดการดูแลพื้นที่ และรับผิดชอบไฟฟ้าแสงสว่างป้ายบอกทางและแจ้งข้อมูลให้ผู้ใช้บริการ รวมถึงกรมเจ้าท่าจะต้องจัดเจ้าหน้าที่เพื่อดูแลการให้บริการ เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังมีรายละเอียดไม่ครบถ้วน ดังนั้นจึงมอบหมายให้ทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ไปตรวจสอบพื้นที่และรวบรวมข้อมูลเพื่อนำมาหารือร่วมกันอีกครั้ง โดยให้เลื่อนกำหนดเปิดใช้ท่าเรือดังกล่าวออกไปก่อน
ทั้งนี้ จะต้องประสานกับ กรุงเทพมหานคร และบริษัท ครอบครัวขนส่ง จำกัด (ผู้ให้บริการเดินรถในคลองแสนแสบ) ให้รับทราบว่ามีท่าเรือเพิ่มขึ้น เพื่อจัดตารางการเดินเรือและหยุดเรือเพื่อรับส่งผู้โดยสารให้สอดคล้องกับตารางเดินรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ พร้อมกับประชาสัมพันธ์ข้อมูลให้ผู้โดยสารรับทราบ อีกทั้งจะต้องตั้งชื่อท่าเรือให้เรียบร้อยก่อนด้วย ซึ่งนโยบายของกระทรวงคมนาคมต้องการพัฒนาการเชื่อมต่อระหว่างเรือ รถไฟฟ้า รถเมล์ เพื่อให้เกิดความสะดวกและกระตุ้นให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
รายงานข่าวแจ้งว่า บริษัท แอร์พอร์ต ลิงค์ สแควร์ จำกัด ซึ่งเช่าที่ดินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ประมาณ 30 ไร่ พัฒนา โครงการเอลิงค์ ซึ่งมีทั้งคอนโดมิเนียม, โรงแรม, ไลฟ์สไตล์มอลล์, อาคารจอดรถ เป็นผู้ลงทุนก่อสร้างท่าเรือดังกล่าว ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างท่ารามคำแหงและท่าคลองตัน โดยจากท่าเรือดังกล่าวอยู่ห่างจากสถานีรามคำแหง (แอร์พอร์ตลิงก์) ไม่ถึง 100 เมตร ขณะที่ท่ารามคำแหงและท่าคลองตันห่างจากสถานีรามคำแหงไม่น้อยกว่า 500 เมตร โดยปัจจุบันสถานีรามคำแหงมีผู้โดยสารเฉลี่ย 5,000 คนต่อวัน โดยจะใช้รถสาธารณะต่อเชื่อมซึ่งส่วนใหญ่ จะใช้บริการรถจักรยานยนต์รับจ้างเพื่อออกสู่ถนนรามคำแหง ดังนั้น ท่าเรือดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกในการเดินทางได้มาก เนื่องจาก ถ.รามคำแหงมีสถานที่สำคัญทั้งมหาวิทยาลัยรามคำแหง และสนามราชมังคลากีฬาสถาน