ตั้งอู่ตะเภาเป็น”มหานครอากาศยาน”แบ่งเค้กเอกชน1.5หมื่นล้าน เป้าโกยรายได้ 2.4แสนล้าน

ตั้งอู่ตะเภาเป็น”มหานครอากาศยาน”แบ่งเค้กเอกชน1.5หมื่นล้าน เป้าโกยรายได้ 2.4แสนล้าน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมสรุปผลการศึกษาเร่งรัดตั้งอุตสาหกรรมการบินของไทยว่า ที่ประชุมได้สรุปให้ใช้พื้นที่ท่าอากาศยานอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานและผลิตชิ้นส่วนอากาศยาน ภายใต้ชื่อ มหานครอากาศยานครบวงจร หรือ แอร์โรโพลิส(Aeropolis) กำหนดแผนการพัฒนาออกเป็น 15 ปี รวม 3 ระยะ

โดยระยะแรกระหว่างปี 2559-2561 จะก่อสร้างโรงซ่อม 2 โรงซ่อม และเปิดให้บริการนำร่องกับสายการบินต้นทุนต่ำก่อน ตั้งเป้าหมายดึงส่วนแบ่งการตลาด 40% ของตลาดรวมในอาเซียน ระยะที่ 2 ระหว่างปี 2564-2566 จะก่อสร้าง 2 โรงซ่อมเช่นเดียวกัน และระยะที่ 3 ระหว่างปี 2569-2571 ก่อสร้างเพิ่มอีก 2 โรงซ่อม โดยจะดึงส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มเป็น 60% รวมวงเงินลงทุนทั้ง 3 ระยะประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ตั้งเป้าหมายรายได้ 2.4 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 30 ปี

“ที่ต้องทำอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนด้วย เนื่องจากผลการศึกษาระบุว่ายังมีส่วนแบ่งกำไรอยู่ 9.5% ของตลาดอาเซียน ขณะที่อุตสาหกรรมบริการซ่อมบำรุงอากาศยานมีกำไรอยู่ประมาณ 17% ซึ่งจะทำให้มีกำไรได้ตามเป้าหมาย และช่วยป้องกันเงินรั่วไหลออกนอกประเทศได้ประมาณ 6.5 พันล้านบาท” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะเปิดให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุน(พีพีพี) เนื่องจากได้มีการศึกษาแล้วพบว่า การลงทุนมีผลตอบแทนทางเศรษฐกิจอยู่ที่ 22% ส่วนผลตอบแทนทางการเงินเฉลี่ย 30 ปี อยู่ที่ 6.3% จึงมั่นใจว่าจะสามารถเชิญชวนเอกชนเข้ามาลงทุนได้ ขณะเดียวกันเมื่อมีการพัฒนาจนครบทั้ง 3 ระยะแล้ว จะพิจารณาหาพื้นที่อื่นที่มีความเหมาะสมเพื่อขยายการซ่อมบำรุงอากาศยานให้ เพียงพอต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมการบินต่อไป

“ปัจจุบันเครื่องบินที่ให้บริการออกประเทศไทยมีการซ่อมบำรุงประมาณ 2.32 หมื่นล้านบาท ในจำนวนนี้ได้นำไปซ่อมบำรุงยังต่างประเทศประมาณ 60% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 1.39 หมื่นล้านบาท และซ่อมในไทย ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดอนเมือง และอู่ตะเภา ประมาณ 40% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 9.3 พันล้านบาท แต่เมื่อพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงขึ้นมาแล้ว จะสามารถดึงเครื่องบินที่ไปซ่อมในต่างประเทศให้ซ่อมบำรุงในไทยได้” นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวว่า โครงการดังกล่าวจะช่วยพัฒนาบุคลากรด้านการบินให้ไทยได้มากขึ้น เพราะต้องมีการพัฒนาบุคลากรเพิ่มเติมอีก 7,615 คน เช่น วิศวกรช่างอากาศยาน และแรงงาน เป็นต้น โดยขั้นตอนหลังจากนี้ให้สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)เสนอ ข้อมูลให้กองทัพเรือในฐานะเจ้าของพื้นที่พิจารณา ก่อนเสนอขออนุมัติ ครม. และคณะกรรมการพีพีพีต่อไป