ขยายวงเงินกู้ซื้อบ้านคนจน 2.5 หมื่นล้าน
บอร์ด ธอส.ตัดสินใจขยายวงเงินสินเชื่อบ้านคนมีรายได้น้อยจาก 20,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 25,000 ล้านบาท หลัง ยอดแสดงความจำนงขอกู้ใกล้ทะลุ 20,000 ล้านบาท พร้อมปิดตัว โครงการสิ้นเดือน ม.ค.นี้
นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ภายในสิ้นเดือน ม.ค.นี้ ธนาคารจะปิดโครงการมาตรการส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อย หลังจากที่วงเงินกู้แตะระดับ 25,000 ล้านบาท จากวงเงินก้อนแรกที่ตั้งเอาไว้ 10,000 ล้านบาทได้ปล่อยกู้ไปแล้ว และล่าสุดเมื่อปลายเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) ได้ขยายวงเงินเพิ่มอีก 10,000 ล้านบาท เป็น 20,000 ล้าน บาท ก็ยังไม่เพียงพอกับความต้องการของประชาชน โดยในสัปดาห์หน้าจะขยายวงเงินเพิ่มอีก 5,000 ล้านบาท รวมเป็นวงเงินของโครงการนี้ทั้งหมด 25,000 ล้านบาท
ล่าสุดมีประชาชนแสดงความจำนงยื่นกู้กับ ธนาคาร 19,000 ล้านบาท หรือ 13,700 ราย และ ได้รับการอนุมัติสินเชื่อไปแล้ว 9,740 ล้านบาท หรือ 13,740 ล้านบาท เฉลี่ยกู้รายละ 1,400,000 บาท โดยมีสัดส่วนการปล่อยกู้ในต่างจังหวัด 60% และ กรุงเทพฯ 40% แสดงให้เห็นว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ในโครงการมีอยู่อย่างต่อเนื่องและมีนัยสำคัญ บอร์ดจึงมีความเห็นว่า ควรที่จะปิดโครงการภายในสิ้นเดือนนี้ โดยกำหนดกรอบวงเงินเอาไว้ไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ยังเหลือเวลาอีก 10 วันทำการที่ประชาชนยังสามารถยื่นเรื่องขอกู้กับธนาคารได้
นายสุรชัยกล่าวว่า ในช่วงนี้ ธอส.ต้องเร่งอนุมัติสินเชื่อให้แก่ประชาชนที่แสดงความจำนงยื่นเรื่องกู้เข้ามาก่อนหน้านี้ แม้ว่าจะปิดตัวโครงการในสิ้นเดือน ม.ค.แล้วก็ตาม ธอส.ก็ต้องทยอยอนุมัติสินเชื่อจนกว่ารายชื่อลูกค้าจะหมด โดยผู้ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้ว ต้องทำนิติกรรมให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 18 ต.ค.นี้
นอกจากนี้ ธอส.ยังนำร่องโครงการบ้านประชารัฐร่วมกับกรมธนารักษ์ โดยได้ข้อสรุป เรื่องที่ดินชัดเจนแล้ว จำนวน 1 แปลง ขนาดพื้นที่ 7 ไร่ จากทั้งหมด 30 ไร่ ที่ถนนช้างคลาน จังหวัดเชียงใหม่ โดยจะสร้างคอนโดมิเนียมจำนวน 500 ยูนิต สำหรับข้าราชการที่มีรายได้น้อย โดย ธอส. เป็นผู้ปล่อยกู้โครงการแล้วจ้างให้เอกชนก่อสร้างจนเสร็จ ในขณะเดียวกัน ธอส.ก็จะปล่อยกู้ให้แก่รายย่อยในวงเงิน 100% ของราคาซื้อขายจริง เพื่อแจ้งเกิดโครงการบ้านประชารัฐให้สำเร็จ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำเรื่องดังกล่าวเสนอให้กระทรวงการคลังพิจารณา
นายสุรชัยกล่าวว่า มาตรการเพื่อส่งเสริมการให้สินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งถือเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ที่ช่วยให้ผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีโอกาสเข้าถึงสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยได้ในวงเงินกู้ที่สูงขึ้นเพียงพอต่อการซื้อบ้าน ให้กู้สำหรับผู้ที่มีรายได้สุทธิไม่เกิน 30,000 บาทต่อเดือน หรือวงเงินกู้ไม่เกิน 3 ล้านบาท ธนาคารจะใช้เงื่อนไขผ่อนปรนในการพิจารณาสัดส่วนความสามารถชำระหนี้ต่อรายได้ (Debt Service Ratio หรือ DSR) เพิ่มเป็น 40-50% ของรายได้สุทธิต่อเดือน อัตราดอกเบี้ยปีแรกเท่ากับ 3.50% ต่อปี ปีที่ 2 อัตราดอกเบี้ย 4.25% ต่อปี ปีที่ 3 จนถึงตลอดอายุสัญญา กรณีลูกค้าสวัสดิการอัตราดอกเบี้ย เอ็มอาร์อาร์-1.00% ต่อปี และกรณีลูกค้ารายย่อยทั่วไป อัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์-0.75% ต่อปี (ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยเอ็มอาร์อาร์ เท่ากับ 6.75% ต่อปี)