ชงบ้านประชารัฐเข้าครม.รายได้ไม่เกิน2หมื่นรับอานิสงส์ผ่อนเดือนละ4พัน

ชงบ้านประชารัฐเข้าครม.รายได้ไม่เกิน2หมื่นรับอานิสงส์ผ่อนเดือนละ4พัน

ธอส.ดันบ้านประชารัฐเข้า ครม.เดือนนี้ งัดสินทรัพย์เอ็นพีเอรัฐ-เอกชนลงสนามกว่า 1 หมื่นยูนิต เคาะอุ้มผู้มีรายได้น้อยตั้งแต่ 1.5-2 หมื่นบาท ผ่อนเดือนละ 4,000 บาท

นายสุรชัย ดนัยตั้งตระกูล ประธานธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ธนาคารเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติโครงการบ้านประชารัฐ ภายในเดือน ก.พ.นี้ หลังจากนั้น 2 สัปดาห์จะทำการเปิดรับลงทะเบียนประชาชนที่สนใจเข้าร่วมโครงการ โดยจะเริ่มที่สำนักงานใหญ่ก่อน คาดว่าจะมีประชาชนให้ความสนใจเข้าร่วมลงทะเบียนในช่วงแรกอย่างน้อยหลักหมื่นราย

“เบื้องต้นจะมีสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) จากธนาคารของรัฐที่เข้าร่วม รวมถึงการสร้างที่อยู่อาศัยบนที่ดินราชพัสดุ กรมธนารักษ์ ไปจนพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) บางส่วน ตรงนี้มีประมาณ 2.5 พันยูนิต รวมทั้งยังมีเอ็นพีเอจากภาคเอกชนอีกราวๆ 7-9 พันยูนิต ที่จะเข้ามาร่วมในช่วงแรกด้วย โดยราคาเริ่มต้นห้องชุดจะอยู่ที่ประมาณ 7 แสนบาทต่อหน่วย และบ้านแถว 9 แสนบาทต่อหน่วย” นายสุรชัยกล่าว

นายฉัตรชัย ศิริไล รองกรรมการผู้จัดการ ธอส.เปิดเผย ว่า ธอส. อยู่ระหว่างหารือกับกระ ทรวงการคลังเพื่อหาข้อสรุปเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงการ โดยเบื้องต้นกำหนดว่าต้องเป็นผู้มีรายได้ที่ 1.5-2 หมื่นบาทต่อเดือน และต้องไม่เคยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ใดๆ มาก่อน โดยธนาคารจะดำเนินการปล่อยกู้ให้ทั้งประชาชนและผู้ประกอบการ 100% ซึ่งโครงการมีวงเงินทั้งสิ้น 3 หมื่นล้านบาท โดยธนาคารจะรับผิดชอบในส่วนของค่าโอนและจดจำนอง คิดเป็นปีละ 270 ล้านบาท

ทั้งนี้ ในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเพื่อปล่อยกู้ในโครงการบ้านประชารัฐนั้นยังอยู่ระหว่างพิจารณา แต่จะเป็นอัตราดอกเบี้ย แบบต่ำ คงที่ประมาณ 5-6 ปี เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระผู้มีรายได้น้อยในการผ่อนชำระ เช่นกรณีที่ซื้อบ้าน 7 แสนบาท ค่างวด 3 ปี เฉลี่ยจะอยู่ที่ 3 พันบาทต่อเดือน และ 3 ปีหลังอยู่ที่ 3.4 พันบาทต่อเดือน และหลังลอยตัวจะเสียค่างวดที่ 4 พันบาทต่อเดือน ซึ่งต่ำกว่ากรณีอัตราดอกเบี้ยปกติ

นายสัมมา คีตสิน ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า คาดว่าตลาดสินเชื่อปล่อยใหม่ในปี 2559 จะขยายตัวได้อย่างน้อย 4-5% จากปี 2558 คาดว่าจะมียอดสินเชื่อปล่อยใหม่ในระบบอสังหาริมทรัพย์ทั้งหมด 5.8-5.9 แสนล้านบาท ขณะที่สินเชื่อคงค้างในระบบในปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 3.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าระบบสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ของไทยยังขยายตัวได้เป็นอย่างดี โดยคิดเป็น 20% ของจีดีพี สำหรับปี 2559 ธนา คารตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อ 1.6 แสนล้านบาท

ด้านนางไลวรรณ ปองเสงี่ยม รองกรรมการผู้จัดการ รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ ธอส.เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของธนาคารในปี 2558 ว่า สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 1.57 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.47 หมื่นล้านบาท หรือ 10.34% โดยมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 8.62 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.85 หมื่นล้านบาท หรือ 8.63% ขณะที่สินทรัพย์รวม อยู่ที่ 9 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.52 หมื่นล้านบาท หรือ 9.12% เงินฝากรวมอยู่ที่ 7.26 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.41 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 11.36%

อย่างไรก็ดีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อยู่ที่ 4.7 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 5.45% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.09% กำไรสุทธิ อยู่ที่ 8.7 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.31%.