#คนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #คนไทยในต่างแดน #ซื้อบ้านในไทย #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อซื้อบ้านสำหรับคนไทยในต่างแดน #ทำงานต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศ.
สิทธิลดหย่อนภาษี (Tax Deductions) เป็นมาตรการที่ภาครัฐใช้เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนผู้มีรายได้ ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่รัฐต้องการ อย่างในประเทศไทยเราเห็นเรื่องของการส่งเสริมการออมระยะยาวเพื่อวัยเกษียณ การลงทุนในตลาดทุนไทย การซื้อที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง การทำประกันชีวิต เป็นต้น
กลไกการลดหย่อนภาษีนี้คือการนำเงินที่เป็นภาครัฐให้สิทธิไว้ ไปหักออกจากเงินได้พึงประเมิน คงเหลือเป็นเงินได้สุทธิซึ่งใช้เป็นฐานคำนวณภาษีในจำนวนที่ลดลง ประเด็นที่มักพบเกี่ยวกับการใช้สิทธิลดหย่อนนั้นอาจแบ่งได้เป็นสองกรณีหลัก กรณีแรกคือการที่ตนเองมีสิทธิแต่ไม่ทราบว่าสามารถใช้สิทธิได้ ทำให้เสียภาษีสูงกว่าที่ควร แต่อีกกรณีหนึ่งซึ่งเป็นปัญหามากกว่าคือการยื่นใช้สิทธิไปโดยไม่ทราบว่าตนเองไม่มีสิทธิ ทำให้เสียภาษีต่ำกว่าที่ควร ส่งผลให้ต้องคืนภาษีส่วนต่างรวมทั้งจ่ายเบี้ยปรับเงินเพิ่ม
ดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้าน
ในส่วนของดอกเบี้ยเงินกู้ซื้อบ้านนั้น ภาครัฐให้สิทธิตามจำนวนดอกเบี้ยที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาทในแต่ละปีภาษี ทั้งนี้ ความซับซ้อนเกิดขึ้นเมื่อผู้กู้ทำการรีไฟแนนซ์จากสถาบันการเงินหนึ่งไปอีกแห่งหนึ่ง โดยสถาบันการเงินใหม่เสนอเพิ่มวงเงินให้ ตัวอย่างเช่น นาย ก ได้กู้เงินเพื่อซื้อบ้านไว้จำนวน 4 ล้านบาทเมื่อหลายปีที่แล้ว โดยผ่อนไปเรื่อยๆ จนเหลือยอดเงินต้น 2 ล้านบาท ต่อมาตัดสินใจรีไฟแนนซ์โดยตกลงกู้เงินจากสถาบันการเงินใหม่อีก 1 ล้านบาทรวมเป็นยอดเงินต้น 3 ล้านบาทภายใต้หลักประกันเดียวกัน กรณีเช่นนี้ผู้มีเงินได้สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายในส่วนของเงินกู้เดิม 2 ล้านบาทไปหักลดหย่อนภาษีได้เป็นปกติ แต่ไม่สามารถนำดอกเบี้ยจ่ายในส่วนที่เงินกู้เพิ่มเติมอีก 1 ล้านบาทนั้นไปใช้ประโยชน์เชิงภาษี เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะวัตถุประสงค์ของสิทธิลดหย่อนนี้มีไว้เพื่อการมีบ้านเป็นของตนเอง ดังนั้น เงินกู้ที่เกิดขึ้นใหม่จึงถือเป็นเงินกู้ส่วนบุคคลที่เอาบ้านมาเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อการซื้อบ้านแต่อย่างใด ลองดูจากเอกสารก็ได้ครับ สถาบันการเงินใหม่จะทำการแยกสัญญาเป็นอีกฉบับหนึ่ง โดยมักระบุว่าเป็นวงเงินเพื่อตกแต่ง ต่อเติม หรือใช้ประโยชน์ส่วนตัวอื่นๆ
เรื่องดอกเบี้ยที่เกี่ยวกับบ้านอีกกรณีหนึ่งคือ การที่ตนเองมีบ้านอยู่แล้วและตกลงนำบ้านนั้นไปเป็นหลักทรัพย์เพื่อค้ำประกันเงินกู้ ซึ่งแม้ดูเผินๆ จะเหมือนธุรกรรมประเภทขอเงินกู้และจำนองบ้าน แต่กรณีนี้ถือว่าไม่ได้กระทำไปเพื่อการซื้อบ้านแต่อย่างใด กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเช่นกัน
เบี้ยประกันชีวิต
ในส่วนของการทำประกันชีวิตนั้น ภาครัฐสนับสนุนการมีกรมธรรม์เพื่อเป็นหลักประกัน หากผู้มีเงินได้หาเลี้ยงครอบครัวประสบเหตุทุพพลภาพหรือเสียชีวิต โดยให้สิทธิลดหย่อนตามเบี้ยประกันที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 1 แสนบาทในแต่ละปีภาษี ทั้งนี้ เงื่อนไขสำคัญคือต้องเป็นประกันชีวิตที่ให้ความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป ประเด็นที่มักเข้าใจผิดกันคือ กรณีทำประกันประเภทเพื่อการศึกษาบุตร กรมธรรม์ลักษณะนี้กำหนดให้บุตรเป็นผู้เอาประกัน กล่าวคือบุคคลที่หากเกิดเหตุตามเงื่อนไขกรมธรรม์แล้วจะทำให้บริษัทประกันต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน ส่วนผู้จ่ายเบี้ยประกันคือบิดาหรือมารดา ไม่ได้เป็นการคุ้มครองตัวผู้มีภาระต้องจ่ายค่าเบี้ยประกัน กฎหมายจึงไม่อนุญาตให้บิดาหรือมารดาผู้จ่ายเบี้ยประกันนำค่าเบี้ยประกันดังกล่าวมาหักลดหย่อนภาษี
นอกจากนี้ อาจมีผู้สับสนกับการซื้อประกันให้บิดาหรือมารดา ซึ่งจะต้องเรียนว่าเป็นคนละกรณีกัน โดยในส่วนที่กฎหมายให้ไว้นั้นคือการซื้อประกันสุขภาพสำหรับบิดามารดา โดยบุตรเป็นผู้จ่ายเบี้ยประกันให้ กรมสรรพากรให้สิทธิบุตรผู้มีรายได้สามารถนำเบี้ยประกันไปหักลดหย่อนภาษีได้ตามจริงแต่ไม่เกิน 1.5 หมื่นบาทต่อปีภาษีต่อบุพการีหนึ่งท่าน โดยมีเงื่อนไขว่าบิดาหรือมารดาท่านนั้นต้องมีรายได้พึงประเมินไม่เกินจำนวน 3 หมื่นบาทต่อปี
ในส่วนสุดท้าย เบี้ยประกันกรมธรรม์ประเภทยูนิตลิงค์ (Unit Linked) สามารถนำมาใช้สิทธิลดหย่อนได้บางส่วน กรมธรรม์ประเภทนี้จะเรียกเก็บค่าเบี้ยประกัน โดยส่วนหนึ่งจะนำไปเป็นการประกันภัย และอีกส่วนหนึ่งจะนำไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบแทนให้ระหว่างที่ถือครองกรมธรรม์อยู่ ทั้งนี้ กฎหมายให้สิทธิลดหย่อนภาษีเฉพาะส่วนของเบี้ยประกันที่จ่ายไปเพื่อเป็นความคุ้มครองชีวิต แต่ไม่ครอบคลุมเบี้ยประกันที่จ่ายไปในส่วนของการลงทุน
การลืมใช้สิทธิแล้วทำให้เสียภาษีสูงเกินไปนั้น สามารถแก้ไขได้ด้วยการติดต่อสำนักงานสรรพากรพื้นที่ เพื่อยื่นเอกสารใหม่สำหรับปีภาษีที่ตนเองต้องการ ส่วนการใช้สิทธิโดยที่ตนเองไม่มีแล้วทำให้เสียภาษีต่ำเกินไปนั้น หากกรมสรรพากรตรวจพบก็อาจถูกดำเนินการเรียกคืนภาษีส่วนต่างพร้อมกับเบี้ยปรับตามระยะเวลาได้ หากท่านใดเห็นว่าตนเองใช้สิทธิไม่ถูกต้องไปแล้ว แนะนำว่าให้ไปแจ้งสำนักงานสรรพากรพื้นที่เพื่อประเมินภาษีใหม่ ซึ่งอาจจ่ายเบี้ยปรับเป็นจำนวนที่ไม่สูงนัก