เป็นหนี้ไม่ผิด หากมีเหตุจำเป็น แต่ต้องเป็นหนี้เท่าที่ผ่อนไหว และมีวินัยเร่งชำระหนี้ให้หมดโดยเร็ว

เป็นหนี้ไม่ผิด หากมีเหตุจำเป็น แต่ต้องเป็นหนี้เท่าที่ผ่อนไหว และมีวินัยเร่งชำระหนี้ให้หมดโดยเร็ว

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
สำหรับบุคคลธรรมดาที่ต้องเป็นหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภค ไม่ว่าจะชิ้นเล็กอย่างซื้อของใช้ส่วนตัว ไปจนถึงชิ้นใหญ่อย่างซื้อบ้านเพื่ออยู่อาศัยก็ตาม การ “เป็นหนี้” ไม่ว่าอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องดีต่อสถานะการเงิน ด้วยเหตุที่เราต้องเจียดรายได้ของเราเพื่อไปจ่ายชำระคืนดอกเบี้ย นอกจากนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยเจอลูกหนี้คนไหนบอกอย่างภูมิใจว่า มีความสุขเมื่อต้องจ่ายดอกเบี้ย หรือเมื่อถึงเวลาต้องจ่ายค่างวด
อย่างไรก็ดี การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิดเสมอไป เพราะในบางสถานการณ์ก็จำเป็นต้องก่อหนี้ เช่น การซื้อบ้านหรือรถยนต์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต เนื่องจากการจะเก็บเงินให้ครบทั้งจำนวนนั้นกินเวลามากเกินไป หรือ การจ่ายค่ารักษาพยาบาลหรือบรรเทาความเดือดร้อน ดังนั้น หัวใจของการเป็นหนี้คือ เป็นหนี้เท่าที่จำเป็น และเมื่อเป็นหนี้แล้วก็ควรหาทางปลดหนี้ให้หมดเร็วๆ
พร้อมไหมหากคิดจะก่อหนี้???
สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้เมื่อเป็นหนี้คือ ต้องชำระหนี้ หากไม่อยากปวดหัวกับภาระการเงินเหล่านี้ก็ต้องมั่นใจก่อนว่ากู้แล้วจะผ่อนไหว โดยทั่วไปสถาบันการเงินผู้ปล่อยกู้มักกำหนดเกณฑ์ที่เรียกว่า “ความสามารถในการผ่อนชำระคืนหนี้” โดยคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40-60% ของรายได้ประจำ เช่น หากมีรายได้ต่อเดือน 30,000 บาท ก็ไม่ควรมีภาระการผ่อนต่อเดือนเกิน 12,000 บาท เป็นต้น สิ่งนี้ถือเป็นการช่วยป้องกันไม่ให้เรากู้หนี้สูงเกินตัวนั่นเอง
อย่างไรก็ดี แนะนำเสมอว่าหากจะกู้แล้วผ่อนสบายใจ ก็ไม่ควรมีภาระเกิน 30% ของรายได้ประจำ ที่เป็นเช่นนี้เพราะการกู้แต่ละครั้งไม่ได้มีแค่ภาระการผ่อน แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นตามมาหลายรายการ เช่น ผู้ที่กู้เพื่อซื้อบ้านต้องพร้อมจ่ายค่าธรรมเนียมการโอนและการจดจำนอง ค่าส่วนกลางหากเป็นหมู่บ้านจัดสรร ค่าเฟอร์นิเจอร์ตกแต่งบ้าน รวมๆ แล้วเฉลี่ยหลายพันหรือหลายหมื่นบาทต่อเดือน ส่วนผู้ที่กู้เพื่อซื้อรถยนต์ก็ต้องเจอกับค่าซ่อมบำรุงและอะไหล่ ค่าประกันภัยรถยนต์ ค่าที่จอดรถและน้ำมัน หากนำค่าใช้จ่ายส่วนนี้มารวมกับภาระการผ่อนแล้ว อาจจะทำให้เงินตึงมือได้
ผ่อนไม่หมดก็ไม่รวย ผ่อนช้าก็รวยช้า….
หนี้สินถือเป็นอุปสรรคสำคัญของการสร้างความร่ำรวย เพราะขณะที่กำลังเป็นหนี้อยู่นั้น เราต้องเจียดรายได้บางส่วนไปจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ แทนที่จะนำเงินส่วนนั้นไปเป็นการออมหรือลงทุน
ขอยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ สมมติว่าผู้กู้มีรายได้ต่อเดือนสัก 25,000 บาท ได้ดำเนินการกู้เงิน 1 ล้านบาทเพื่อซื้อบ้าน ผู้กู้รายนี้ต้องจ่ายดอกเบี้ยในปีแรกเกือบๆ 60,000 บาทหรือเฉลี่ยประมาณ 5,000 บาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 20% ของรายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือเงินออมเราหายไปเดือนละ 20% นั่นเอง เยอะไหมครับ
วิธีจัดการหนี้บ้านที่ถูกต้องนั้นคือ ต้องเร่งผ่อน โดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ เพื่อให้ฐานการคำนวณดอกเบี้ยลดลงเร็วที่สุด หลายคนไม่ได้ตระหนักถึงกลไกการคำนวณดอกเบี้ยบ้าน ว่าเงินงวดในปีแรกๆ จะถูกดอกเบี้ยกินไปสักสองในสาม เหลืออีกหนึ่งในสามที่จะนำไปลดส่วนที่เป็นเงินต้น ทำให้สุดท้ายแล้วหากเราผ่อนตามเกณฑ์ไปตลอด จำนวนดอกเบี้ยรวมจะสูงถึง 65% ของยอดเงินกู้ในวันแรกเลยทีเดียว
หนี้จากบัตรเครดิตยิ่งเป็นเรื่องใหญ่ สิ่งที่น่ากังวลในปัจจุบันคือ บางคนมีทัศนคติชอบการผ่อนคือ มองว่าจ่ายน้อยๆ จ่ายนานๆ (เป็นหนี้) ดีกว่าจ่ายก้อนใหญ่ (เพื่อชำระหนี้) ทำให้เกิดเป็นภาระดอกเบี้ยจ่ายในอัตรา 20-28% ต่อปีของยอดซื้อสินค้า ทัศนคตินี้มักมาร่วมกับพฤติกรรมใช้จ่ายฟุ่มเฟือย ทำให้ก่อหนี้ใหม่เข้ามาในขณะที่หนี้เดิมก็ยังไม่หมด เกิดเป็นภาระดอกเบี้ยพอกพูนจนหมุนเงินไม่ไหวและสุดท้ายก็ติดกับดักหนี้สินไปในที่สุด

เห็นไหมครับ ว่าหากเราก่อหนี้โดยไม่คำนึงถึงภาระค่าใช้จ่ายอื่นๆ หรือเลี้ยงหนี้ไปเรื่อยๆ ไม่ยอมผ่อนให้หมดจะเป็นผลเสียกับอนาคตของตัวเองแค่ไหน สุดท้ายนี้ก็ต้องย้ำกันอีกครั้งว่าเป็นหนี้ไม่ได้ผิดอะไรครับ ตราบใดที่มีเหตุจำเป็นต้องก่อหนี้ เป็นหนี้เท่าที่ผ่อนไหว และมีวินัยเร่งชำระหนี้ให้หมดโดยเร็ว