#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบในปี 2569 ซึ่งจะทำให้มีผู้สูงอายุมากถึง 15 ล้านคน หรือคิดเป็น 20% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ ถือว่ามากที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยปัจจุบันประเทศไทยมีผู้สูงอายุทั้งหมด 10.3 ล้านคน คิดเป็น 16% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ โดยรัฐบาลมีการให้ความช่วยเหลือผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องทั้งการให้เบี้ยชราภาพ โดยปัจจุบันที่มีการจ่ายเบี้ยตามขั้นบันไดของอายุ เช่น อายุ 60-70 ปี ได้รับเบี้ย 600 บาท/เดือน อายุ 70-80 ปี ได้รับเบี้ย 700 บาท/เดือน อายุ 80-90 ปี ได้รับเบี้ย 800 บาท/เดือน และอายุมากกว่า 90 ปี ได้รับเบี้ย 1,000 บาท/เดือน
อย่างไรก็ตาม จากจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 10.3 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้มีรายได้น้อยคือผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,644 บาท/คน/เดือน ประมาณ 3,500,000 คน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด ซึ่งคนกลุ่มนี้ถือว่าเป็นผู้ที่ควรให้ความสำคัญเป็นกลุ่มแรก ทางกระทรวงการคลังจึงได้เสนอแนวทางเพิ่มเบี้ยชราภาพให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย ให้มีเงินเพียงพอต่อการดำรงชีพหลังจากอายุ 60 ปี หรือช่วงเกษียณ
โดยมีการกำหนดแนวทางที่จะเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,200-1,600 บาท/คน และขยายแหล่งเงินเข้าในกองทุนชราภาพที่มีอยู่เดิม ซึ่งจะมาจากความสมัครใจของผู้สูงอายุที่มีฐานะดีสละสิทธิ์รับเบี้ยชราภาพ และโอนสิทธิ์ตรงเข้ากองทุนเพื่อนำไปเพิ่มให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย
โดยปัจจุบันแหล่งเงินของกองทุนชราภาพจะมาจากงบประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งหากมีผู้สละสิทธิ์ 10% จะได้เงินกลับมา 4,000 ล้านบาท/ปี ทั้งนี้ สำหรับผู้สูงอายุที่เมื่อสละสิทธิ์ไปแล้ว มีรายได้น้อยลงหรืออยากได้เบี้ยกลับมา ก็สามารถขอสิทธิ์กลับมาได้ในภายหลัง
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคมที่ผ่านมา ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบในหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอแนวทางเพิ่มเบี้ยชราภาพให้กับผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย โดยผู้สูงอายุที่สมัครใจไม่รับเบี้ยชราภาพจะได้รับใบประกาศหรือเหรียญเชิดชูเกียรติ ส่วนข้อเสนอขอเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเป็น 1,200-1,600 บาท/คน นั้น พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ให้นำกลับมาศึกษาความเป็นไปได้ จัดทำรายละเอียดและสรุปมาตรการให้ชัดเจน รวมทั้งมาตรการอื่นเพิ่มเติมก่อนนำกลับมาให้ ครม.พิจารณาเห็นชอบอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม จากข้อสรุปดังกล่าวนายกรัฐมนตรีเน้นย้ำว่าการเพิ่มเบี้ยผู้สูงอายุเพียงอย่างเดียวนั้นจะเป็นการเพิ่มภาระให้หน่วยงานของรัฐ จึงต้องมีมาตรการอื่นเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อส่งเสริมนโยบายผู้สูงอายุให้อยู่ได้ในระยะยาว ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับในต่างประเทศแล้วถือเป็นวิธีคิดที่สอดคล้องกับประเทศญี่ปุ่นที่มีจำนวนผู้สูงอายุเป็นจำนวนมาก โดยปัจจุบันมีการลดสัดส่วนรายจ่ายด้านการรักษาพยาบาลและบำนาญผู้สูงอายุลง มีการให้ร่วมจ่ายมากขึ้น แต่ไปเพิ่มสัดส่วนรายจ่ายในการจัดบริการเสริมที่ต้นทุนต่ำกว่าและมีผลในระยะยาว อาทิ การให้บริการที่บ้าน เพื่อให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือและพึ่งตนเองได้ในอนาคต ซึ่งในประเทศไทยมีสิทธิ์บัตรทองในการรักษา ส่วนการให้บริการตรวจรักษาที่บ้านนั้นมีการดำเนินการแล้วเช่นกัน 4จะเห็นได้ว่าแม้การเพิ่มอัตราเบี้ยชราภาพจะเป็นส่วนสำคัญในการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ แต่การจัดบริการพื้นฐานให้กลุ่มผู้สูงอายุได้เข้าถึงอย่างสะดวกและเสมอภาคก็เป็นสิ่งจำเป็นไม่แพ้กัน