#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
เราอาจเคยได้ยินว่า การขอสินเชื่อบ้านให้ผ่านนั้น ก็ว่ายากแล้ว แต่การผ่อนบ้านให้หมดครบทุกงวดนั้น ยากยิ่งกว่า ซึ่งดูแล้วก็เป็นคำกล่าวที่ไม่ผิดนัก เพราะกว่าจะผ่อนบ้านหมดก็ใช้เวลาหลายสิบปี อะไรก็ไม่แน่นอน อาจเกิดเหตุฉุกเฉินทำให้เราผ่อนบ้านไม่ไหวขึ้นมา เงินในแต่ละเดือนที่เคยผ่อนบ้านสบายๆ กลับกลายต้องนำไปใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าเทอมลูก ค่าซ่อมบ้านซ่อมรถ หรือช่วงเศรษฐกิจไม่ค่อยดี บริษัทขอลดเงินเดือน หรือร้ายแรงถึงขั้นปรับลดพนักงาน แล้วเราโชคไม่ค่อยดีเท่าไร เป็นหนึ่งในนั้น หากต้องประสบพบเจอเหตุการณ์เช่นนี้ จะทำอย่างไร มาหาคำตอบด้วยกันเลยค่ะ
1. สำรวจเงินสำรอง
อันดับแรกที่ควรทำก่อนเลย สำรวจเงินสำรอง หากเรามีเงินที่เก็บไว้ใช้จ่ายเมื่อมีเหตุฉุกเฉิน นี่ก็เป็นช่วงเวลาที่เงินสำรองของเราจะได้ทำงานแล้วล่ะ ซึ่ง K-Expert แนะนำเสมอว่า เงินสำรองเป็นเงินก้อนที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะกู้บ้าน ซื้อรถ หรือนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ใดๆ ก็ตาม ควรมีเงินสำรองกันไว้ก่อน 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะหากต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วนขึ้นมา จะได้มีเงินสำรองมาใช้จ่าย ไม่กระทบกับการดำเนินชีวิตมากนัก หรือต้องหยิบยืมให้เป็นหนี้เป็นสินเพิ่มขึ้นอีก
นอกจากสำรวจเงินเก็บในกระเป๋าดูแล้ว แนะนำให้ ปรับลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลง ลองสำรวจค่าใช้จ่ายของตัวเราหรือครอบครัวสักนิด อะไรที่ประหยัดปรับลดได้ ก็คงต้องหักห้ามใจไม่ควักเงินจ่ายสักหน่อย เช่น ค่าช้อปปิ้ง ค่ากาแฟ ค่าสังสรรค์ทานข้าวนอกบ้าน เพื่อให้แต่ละเดือนเหลือเงินมากขึ้นที่จะนำมาจ่ายค่าผ่อนบ้านในแต่ละงวดนั่นเอง
2. เพิ่มรายได้
แต่หากปรับลดค่าใช้จ่ายลงแล้ว รายได้ยังไม่พอกับค่าผ่อนบ้านและค่าใช้จ่ายจำเป็นต่างๆ แล้ว อย่าเพิ่งท้อถอยไปค่ะ หาทางเพิ่มรายได้ ดูว่าถนัดอะไร มีความสามารถด้านไหน แปลงความชอบเหล่านั้นมาเป็นอาชีพเสริมเพิ่มเงินในกระเป๋า เช่น ขายของออนไลน์ รับจ้างถ่ายรูป สอนพิเศษ รายได้เล็กๆ น้อยๆ รวมๆ กัน อาจเป็นเงินก้อนใหญ่ที่ช่วยต่อลมหายใจให้กับการผ่อนบ้านได้
3. รีไฟแนนซ์บ้าน
อีกหนทางหนึ่ง สำหรับผู้ที่ผ่อนบ้านมาได้อย่างน้อย 3 ปี เรียกว่า อาจโชคดีหน่อย เพราะสามารถรีไฟแนนซ์บ้าน หรือย้ายสินเชื่อบ้านไปอีกธนาคารหนึ่งโดยไม่โดนเบี้ยปรับ โดยทั่วไปการรีไฟแนนซ์มักได้รับโปรโมชันดอกเบี้ยถูกจากธนาคารใหม่ หรืออายุยังไม่มาก สามารถขยายเวลาผ่อนชำระออกไป ซึ่งช่วยให้ยอดผ่อนต่อเดือนลดลง อย่างไรก็ตาม การรีไฟแนนซ์ก็มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่ผู้กู้บ้านต้องเตรียมเงินก้อนไว้ด้วย เช่น ค่าจดจำนอง ค่าอากรแสตมป์ ค่าประเมินบ้านที่เป็นหลักประกัน ซึ่งต้องเปรียบเทียบดูว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะคุ้มกับดอกเบี้ยที่ปรับลดลงไปหรือไม่
แต่หากปัญหาการเงินที่ต้องเผชิญน่าจะอยู่กับเราอีกนาน อาจเพราะว่างงานมาได้สักพัก หรือรายได้ธุรกิจเริ่มหดหาย เงินเก็บที่มีก็ใกล้จะหมด ขณะเดียวกันก็ยังอยากรักษาบ้านหลังนี้เอาไว้ แนะนำให้ปรึกษาธนาคาร เพื่อจะได้รู้ว่า ธนาคารมีทางออกอย่างไรให้บ้าง เช่น ขอลดยอดเงินผ่อนต่อเดือน หรือผู้กู้ที่อายุยังไม่มาก อาจสามารถขอขยายระยะเวลาผ่อนให้นานขึ้น เหมือนกับการขอสินเชื่อบ้านปกติที่สามารถกู้ได้นาน 30 ปี โดยที่ระยะเวลาผ่อนเมื่อรวมกับอายุของผู้กู้แล้ว ต้องไม่เกินเงื่อนไขที่ธนาคารกำหนด เช่น ไม่เกิน 60 ปี สำหรับพนักงานประจำ หรือ 65 ปีสำหรับผู้ประกอบธุรกิจส่วนตัว การขยายเวลาชำระหนี้ จะช่วยให้ยอดผ่อนบ้านต่อเดือนลดลงเช่นกัน
ทั้งนี้ การขอลดยอดผ่อนต่อเดือน หรือขยายระยะเวลาผ่อนบ้านออกไป ต้องยอมรับว่า ดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายสำหรับการผ่อนบ้านหลังนี้จะสูงขึ้น และกว่าจะหมดหนี้บ้านก็ต้องใช้เวลานานขึ้นด้วย แต่ก็ถือเป็นทางออกที่ช่วยให้เราสามารถผ่อนบ้านในแต่ละเดือนได้อย่างสบายๆ ไม่เกินกำลังที่ตัวเราจะผ่อนไหว แล้วในอนาคต เมื่อมีรายได้เพิ่ม หรือมีเงินก้อนใหญ่เข้ามา ก็นำมาโปะหรือจ่ายค่าผ่อนบ้านให้มากขึ้น เพื่อหมดหนี้และเป็นไทในเร็ววัน
อย่างไรก็ตาม หากสุดท้ายแล้ว รู้ตัวแน่นอนว่าผ่อนบ้านต่อไปไม่ไหวแน่ๆ คงถึงเวลาตัดใจขายบ้าน ระหว่างนี้ก็หาบ้านเช่าราคาไม่แพงนักอยู่ไปก่อน หรืออาศัยอยู่กับญาติพี่น้อง การขายบ้าน อย่างน้อยก็ช่วยให้ภาระหนี้ที่มีลดลงไป และอาจมีเงินเหลือเพื่อใช้จ่ายดำรงชีวิต หลังจากจ่ายคืนยอดหนี้คงค้างที่มีกับธนาคารอีกด้วย
จะเห็นได้ว่าทุกปัญหามีทางออก เพียงแค่เราค่อยๆ คิด ค่อยๆ วางแผน เข้าไปพูดคุยปรึกษาธนาคาร และที่สำคัญ อย่าหยุดจ่ายค่าผ่อน หรือเงียบหายไปเลย เพราะธนาคารไม่รู้ว่าเรากำลังมีปัญหาการเงิน หากเราเงียบหายไม่จ่ายค่าผ่อนตามกำหนด อาจนำไปสู่การฟ้องร้องเพื่อยึดทรัพย์ขายทอดตลาด ยิ่งสร้างปัญหายุ่งยากตามมา