วิธีการ ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน เรื่องควรรู้ก่อน เซ็นรับบ้าน

วิธีการ ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน เรื่องควรรู้ก่อน เซ็นรับบ้าน

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
วันนี้เรามีวิธีการ ตรวจรับบ้าน ก่อนโอน เรื่องควรรู้ก่อนเซ็นรับบ้าน มาฝากเพื่อนๆ ค่ะ การตรวจรับบ้าน เรียกได้ว่าเป็นขั้นตอนสุดท้ายก่อนโอนบ้านมาเป็นของเรา เพื่อให้เจ้าของบ้านไม่ต้องมานั่งปวดหัวภายหลังควรตรวจเช็คให้ดี เพราะถ้าเราเซ็นรับบ้านแล้ว ทางโครงการจะไม่ค่อยให้บริการเราเท่ากับที่เรายังไม่ได้เซ็นรับ เพราะฉะนั้นเราควรตรวจให้ละเอียดว่ามีส่วนไหนควรซ่อม ควรปรับปรุงใหม่ก่อนที่จะโอน ว่าแล้วมาดู วิธีการตรวจรับบ้านก่อนโอน กันเลยดีกว่าค่ะ
1. พื้นที่นอกบ้าน
รั้วและประตูถือเป็นส่วนแรกก่อนเข้ามาในตัวบ้าน แต่ก็เป็นส่วนที่สำคัญไม่แพ้ตัวบ้านนะคะ มาเริ่มตรวจกันเลย
– ถ้าในกรณีที่เป็นประตูบานเปิด ประตูที่ดีควรจะเปิดได้สะดวก ไม่รู้สึกหนัก ไม่ติดอะไร แต่ก็ต้องไม่ลื่น หรือหลวมจนเกินไปค่ะ
– ถ้าเป็นประตูบานเลื่อน เวลาเลื่อนไม่ควรมีความรู้สึกฝืดๆ เลื่อนแล้วไม่ตกราง ถ้าเป็นประตูเหล็กก็ควรตรวจเช็คเรื่องสีกันสนิมให้ดีค่ะ
2. ผนังด้านนอก
ตรวจดูรอยร้าวรอบๆ บ้าน จุดนี้ต้องตรวจให้ดีนะคะ ถ้ามีรอยราวก็แจ้งกับทางวิศวกรที่เดินตรวจงานกับเรา ถ้าเพื่อนๆ เห็นรอยร้าวไม่ต้องกังวลไปนะคะ การฉาบปูนอาจจะมีการร่อน การยืดหยุ่นของเนื้อปูนได้ ไม่ได้เป็นที่โครงสร้างราวค่ะ แต่ก็ต้องดูรอยด้วยนะคะว่าลึกหรือไม่ลึก ถ้าลึกมากก็ควรให้เขาฉาบให้ใหม่ แต่ถ้ารอยไม่ลึกก็ให้เขาโป๊วสีให้ใหม่
ตรวจสอบภายนอกบ้านกันไปแล้ว ก็เข้ามาภายในบ้านกันบ้างนะคะ
3. ตรวจสอบพื้น
ตรวจสอบด้วยการสังเกตด้วยตา และการสัมผัสด้วยมือ เช่น พื้นผิวเรียบดี หรือแอ่น และโก่งไหม วิธีง่ายๆ คือการนำลูกแก้ววางบนพื้น และห่างกันประมาณ 10 ซ.ม. แล้วดูว่าลูกแก้วไหลไปทางไหน ถ้าไหลไปรวมกันแสดงว่าพื้นเป็นหลุม แต่หากจุดไหนมีลูกแก้วติดอยู่แสดงว่าพื้นปูดค่ะ
– ถ้าปูพื้นด้วยกระเบื้อง สังเกตง่ายๆ ว่าพื้นโป่งหรือไม่ ให้ใช้เหรียญบาทเคาะที่พื้นดู ว่ามีเสียงที่พื้นหรือเปล่า หากมีให้ทำสัญลักษณ์โดยการมาร์กจุดไว้เพื่อให้ทางโครงการปรับแก้ เพราะพื้นกระเบื้องอาจจะโก่งได้
4. ระบบสุขาภิบาล
การทดลองคือต้องเปิดก๊อกน้ำเพื่อดูการไหลของน้ำ ตรวจดูการทำงานของวาล์วทุกตัวว่าใช้งานได้ไหม ตรวจดูว่าช่องน้ำล้นทำงานได้ดีหรือไม่ โดยการขังน้ำไว้ในเครื่องสุขภัณฑ์ อย่าง อ่างล้างหน้า อ่างอาบน้ำ หรืออ่างล้างจาน จนน้ำเต็ม แล้วคอยดูว่าน้ำไหลระบายได้สะดวกไหม แล้วปล่อยน้ำออกทันที ถ้าน้ำไหลไม่สะดวก เกิดเสียงดังปุดๆ สันนิษฐานได้ว่าไม่มีท่ออากาศ ท่ออากาศอุดตัน หรือทำท่ออากาศเล็กเกินไป
5. ระบบไฟ
ตรวจสอบง่ายๆ ให้เปิดไฟในบ้านและนอกบ้านทุกดวง เพื่อตรวจดูว่าสามารถใช้งานได้ครบทุกดวงหรือไม่ ทดลองใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ เพื่อดูการทำงาน สำหรับสวิตช์ไฟฟ้าให้ลองเปิด – ปิด เตรียมอุปกรณ์ไฟฟ้าที่เสียบปลั๊กไปด้วย ถ้าทางที่ดีนำอุปกรณ์วัดไฟไปด้วยก็จะดีที่สุดนะคะ
6. การระบายน้ำ
ให้ลองเอาน้ำมาราด หรือฉีดน้ำให้ทั่วพื้นที่ แล้วสังเกตดูทิศทางการระบายน้ำ ว่าไหลลงสู่ท่อระบายน้ำหรือไม่ ความลาดเอียงของพื้นเพียงพอให้น้ำระบายได้อย่างสะดวกหรือเปล่า ผิวพื้นยุบตัวเกิดเป็นแอ่งน้ำขังหรือไม่ หากเกิดอาการที่ว่าก็ควรแก้ไข อนุโลมไม่ได้
7. ผนัง
ที่มีลักษณะเหมือนการแตกลายงาที่พื้นผิว ซึ่งเกิดจากการแยกตัวของปูนฉาบที่แห้งไม่สม่ำเสมอกัน สามารถแก้ไขได้ด้วยการโป๊วสี บางรอยเกิดจากปูนฉาบล่อน เพราะไม่เกาะตัวกับวัสดุก่อผนัง วิธีแก้ไขคือ การสกัดปูนฉาบหน้าออกแล้วฉาบทับใหม่ แต่งสีให้เหมือนเดิม
8. ฝ้าเพดาน
ให้ตรวจสอบรอยต่อของตัววัสดุจะต้องได้แนวฉาก แผ่นฝ้าไม่เป็นริ้วคลื่นจนขาดความสวยงาม เว้นระยะห่างเท่ากันตลอด ฝ้าเพดานที่ปิดโครงหลังคา จะต้องสังเกตดูว่ามีร่องรอยน้ำรั่วมาจากหลังคาหรือไม่ ถ้ามีก็ควรบอกให้ช่างแก้ไข หาสาเหตุของน้ำรั่วซึม
9. หลังคา
การตรวจสอบไม่ให้มีการรั่วซึมของน้ำ สามารถทำได้ด้วยการฉีดน้ำให้ทั่วหลังคา แล้วตรวจดูว่ามีการรั่วซึมหรือไม่ โดยการสังเกตร่องรอยน้ำหยดที่พื้นหรือคราบน้ำที่ฝ้าเพดาน
10. งานสี
เรื่องนี้เป็นการตรวจสอบที่ง่ายมากคือ ให้ดูที่ความสม่ำเสมอของเนื้อสี ความกลมกลืน สม่ำเสมอ ไม่มีรอยด่าง เนื้อสีไม่ลอกไม่หลุดร่อน ส่วนใหญ่ทางโครงการจะทำมาดีไม่ค่อยมีที่ติเพราะตรวจสอบง่าย
11. ประตู หน้าต่าง
ตรวจดูอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ทั้งมือจับ บานพับ กลอนประตู หน้าต่าง ติดตั้งได้เรียบร้อยหรือไม่ ตำแหน่งในการติดตั้งต้องถูกต้อง ได้แนวได้ระดับดูสวยงาม ไม่เอียงไปข้างใดข้างหนึ่งจนใช้งานลำบาก การเจาะรูกลอนประตู หน้าต่างต้องเรียบร้อย ไม่ฉีกหรือแหว่ง ตำแหน่งของรูกลอนต้องพอดีกับกลอน ไม่หลวมหรือฟิตจนเกินไป ต้องลองใช้งานให้ประตู หน้าต่างทุกบานปิด เปิดได้สะดวก ไม่ติดขัดหรือเกิดเสียงดังขณะใช้งาน กลอนและกุญแจทุกตัวใช้งานได้จริง ลูกฟักบนบานประตูได้ดิ่ง ได้ฉาก ได้ระดับ ขนาดของกรอบบานลูกฟักเจาะเป็นช่องขนาดเท่ากัน