Gen Y เป็นหนี้ไม่ผิด แต่ต้องรู้วิธีจัดการ

Gen Y เป็นหนี้ไม่ผิด แต่ต้องรู้วิธีจัดการ

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
“การเป็นหนี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องไม่ก่อหนี้จนเกินความสามารถในการผ่อนชำระ และมีวินัยการใช้เงินโดยมุ่งไปที่การเร่งผ่อนหนี้ให้หมดเร็วๆ เพื่อมีเวลาเก็บออมเงินสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง”
ภาระหนี้สินกลุ่ม Gen Y หรือผู้ที่มีอายุระหว่าง 17 ถึง 37 ปีในปัจจุบันเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังจับตามอง จากข้อมูลที่ระบุว่าคนในวัยนี้มีภาระหนี้สินประเภทต่างๆ คิดเป็นสัดส่วนที่สูงเมื่อเทียบกับวัยอื่นๆ เช่น กลุ่ม Gen X ซึ่งอยู่ประมาณวัยกลางคนจนถึงวัยใกล้เกษียณ และกลุ่ม Gen Z ที่กำลังจะออกจากรั้วมหาวิทยาลัยมาเผชิญโลกแห่งการทำงาน จะว่าไปแล้วการที่ Gen Y มีหนี้สินเยอะเป็นเรื่องที่สามารถอธิบายได้ เนื่องจากคนในวัยนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการดำเนินชีวิต เช่น กลุ่มเริ่มต้นทำงาน (First Jobbers) ต้องการจับจ่ายใช้สอยเพื่อแสดงถึงความเป็นตัวของตัวเองผ่านการซื้อเสื้อผ้า กระเป๋า มือถือ ท่องเที่ยว ฯลฯ ขณะที่บางคนต้องการใช้เงินทำธุรกิจส่วนตัวหลังเรียนจบ และเมื่อทำงานไปสักพัก ก็ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของตนเองด้วยการมีรถ คอนโดฯ หรือมีครอบครัว เป็นต้น
กิจกรรมในชีวิตเหล่านี้ล้วนเกี่ยวพันกับการก่อหนี้ประเภทต่างๆ เช่น สินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถยนต์ และสินเชื่อบัตรเครดิตหรือบัตรกดเงินสด ทั้งในส่วนของการอุปโภคบริโภคและใช้เป็นแหล่งเงินทุนในการดำเนินธุรกิจช่วงปีแรกๆ เนื่องจากเงินที่สะสมไว้เองนั้นยังไม่มากพอที่จะตอบสนองความต้องการหลากหลายด้านพร้อมกัน ในมุมมองของนักวางแผนการเงินนั้น ปัญหาของ Gen Y ไม่ได้อยู่ที่การเป็นหนี้ แต่อยู่ที่ขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวิธีการจัดการหนี้ ทำให้ส่งผลกระทบแง่ลบต่อเงินออมของตนเองในอนาคต
จากประสบการณ์การให้คำปรึกษาของ K-Expert พบกรณีตัวอย่างมากมาย บางคนเพิ่งเริ่มมีบัตรเครดิตใหม่ๆ ก็เผลอไปเลือกผ่อนชำระตามยอดขั้นต่ำแทนที่จะจ่ายเต็มจำนวน เพราะหลงคิดไปว่าแบ่งงวดจ่ายได้เหมือนผ่อนชำระแบบ 0% และเมื่อวันที่ใบแจ้งยอดงวดถัดไปมาถึงจึงค่อยรู้ว่าต้องจ่ายดอกเบี้ยจำนวนสูงพอควร แต่ที่แย่กว่านั้นคือ บางคนจงใจเลือกการผ่อนชำระขั้นต่ำแล้วเสียดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ เพราะคิดว่าดีกว่าจ่ายเงินก้อนทั้งจำนวน โดยไม่ได้สนใจว่าเป็นเหตุให้ตนเองมีค่าใช้จ่ายหรือภาระหนี้เกิดขึ้นโดยไม่จำเป็น การขาดวินัยการเงินเช่นนี้เป็นเรื่องน่าเป็นห่วงอย่างมาก เพราะมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายฟุ่มเฟือยจนไม่สามารถผ่อนชำระคืนหนี้ได้
ในกรณีของสินเชื่อบ้านนั้น บางคนไม่รู้ว่าตนเองสามารถผ่อนสินเชื่อบ้านแต่ละงวดได้มากกว่าจำนวนเงินที่สถาบันการเงินกำหนด โดยเข้าใจผิดว่าหากทำเช่นนั้นแล้วจะถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจ่ายคืนล่วงหน้า (Prepayment Fee) ซึ่งจริงๆ แล้วจะถูกคิดเมื่อมีการรีไฟแนนซ์ หรือการใช้เงินกู้จากสถาบันการเงินใหม่มาชำระเงินกู้เดิมก่อนระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาให้สามารถรีไฟแนนซ์ได้ นอกจากนี้ ส่วนใหญ่ไม่เคยตระหนักว่าหากผ่อนชำระไปเรื่อยๆ เป็นเวลาร่วมสามสิบปีแล้ว ยอดดอกเบี้ยจ่ายรวมจะสูงประมาณเกือบเท่าตัวของยอดเงินกู้เลยทีเดียว
ส่วนหนี้เงินกู้เพื่อซื้อรถนั้น มักเลือกผ่อนระยะยาวเพื่อว่าตนเองจะได้ผ่อนจำนวนน้อยไว้ก่อน และเพิ่งมารู้ว่าการนำเงินก้อนมาโปะหนี้สินเชื่อรถยนต์นั้นไม่ได้ช่วยอะไรเลยกับการลดภาระดอกเบี้ยจ่ายระหว่างระยะเวลาการกู้ (ยกเว้นการนำเงินก้อนมาจ่ายชำระคืนและปิดบัญชีเท่านั้น)
แนวทางจัดการหนี้สำหรับ Gen Y ที่อยากฝากไว้คือ ก่อหนี้ได้แต่ต้องอยู่ในขอบเขตที่ตนเองรับผิดชอบไหว ซึ่งโดยหลักแล้วก็ไม่ควรเกินหนึ่งในสามของรายได้ประจำในแต่ละเดือน หลังจากเป็นหนี้แล้วก็ต้องเร่งผ่อนชำระให้หมดโดยเร็ว วิธีการพื้นฐานคือลดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเพื่อเป็นการชดเลยภาระค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น ในกรณีที่สงสัยว่าเงินแต่ละเดือนหายไปไหน แนะนำให้แบ่งเวลาสักเล็กน้อยมาทำบันทึกรายรับรายจ่าย จะจดบนกระดาษ ทำใน Excel หรือใช้ app การเงินต่างๆ ก็แล้วแต่สะดวก ลองทำแบบนี้สักเดือนสองเดือนก็จะวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้จ่ายของตนเองได้ชัดเจน แล้วยับยั้งพฤติกรรมนั้นก่อนที่เงินออมจะหมด บางทีอาจพบว่าเงินส่วนใหญ่หายไปจากค่าใช้จ่ายเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำเป็นประจำแบบไม่รู้ตัว
หากกำลังผ่อนหนี้บัตรหลายใบ แนะนำให้เขียนออกมาว่าแต่ละใบต้องจ่ายขั้นต่ำเท่าไร หากเห็นว่ารายได้ของตนเองหักค่าใช้จ่ายจำเป็นแล้วผ่อนไหว ก็ให้ผ่อนบัตรแต่ละใบด้วยจำนวนเงินขั้นต่ำ ยกเว้นใบหนึ่งให้ผ่อนชำระมากเท่าที่จะพอทำได้เพื่อปิดหนี้ให้หมดทีละใบ แนะนำให้เลือกปิดหนี้ที่มียอดคงค้างน้อยที่สุดก่อน เพราะหากเห็นว่าตนเองประสบความสำเร็จในการลดหนี้แล้วก็จะเป็นกำลังใจให้ปิดหนี้ใบอื่นๆ ต่อไปได้ หากต้องการปิดหนี้ให้หมดเร็วขึ้นกว่าเดิม ก็จำเป็นต้องหาทางเพิ่มรายได้ให้มากกว่าที่เป็นอยู่ สำหรับมนุษย์เงินเดือนก็ควรมองหาอาชีพเสริมที่เหมาะกับทักษะของตนเอง เริ่มได้เร็ว และไม่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ พอเริ่มปลดหนี้ได้เกือบหมดแล้ว ควรหันมาออมเงินด้วยการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวม หลายคนไม่กล้าซื้อกองทุนเพราะกลัวความเสี่ยง หรือกลัวว่าจะขาดทุนทำให้เงินต้นหายไป แต่จริงๆ อยากให้มองว่าการไม่ลงทุนนั่นแหละคือความเสี่ยง เพราะการฝากเงินแต่ในบัญชีออมทรัพย์ก็ทำให้เงินด้อยมูลค่าลง เนื่องจากข้าวของต่างๆ ราคาแพงขึ้นทุกปี เมื่อถอนเงินออกมาใช้จ่ายก็จะพบว่าซื้อของได้จำนวนที่น้อยลงกว่าเดิม
สรุปแล้วการเป็นหนี้เป็นเรื่องที่เลี่ยงได้ยากสำหรับ Gen Y และการเป็นหนี้ก็ไม่ใช่เรื่องผิดอะไร สิ่งที่สำคัญกว่าคือต้องไม่ก่อหนี้เกินความสามารถของตนเอง และมีวินัยการใช้เงินโดยมุ่งไปที่การเร่งผ่อนให้หมดเร็วๆ เพื่อจะได้มีเวลาเก็บออมเงินสร้างความมั่งคั่งให้กับตัวเอง