#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
สินเชื่อ OD คืออะไร
OD หรือ Over Draft คือ ผลิตภัณฑ์สินเชื่อรูปแบบหนึ่งของธนาคาร ที่เรียกกันว่า สินเชื่อเงินกู้เบิกเงินเกินบัญชี โดยมักเป็นนิยมใช้เป็นเงินหมุนเวียนในธุรกิจส่วนตัวเพื่อเพิ่มสภาพคล่อง เนื่องจากมีความยืดหยุ่นสูงกว่าสินเชื่อส่วนบุคคล (เงินสด) ตรงที่วิธีการคิดดอกเบี้ย โดยจะคิดดอกเบี้ยเฉพาะส่วนของเงินต้นส่วนที่เบิกออกมา (โดยการสั่งจ่ายเช็ค) เมื่อนำเงินต้นใส่คืนเข้าไปธนาคารก็ถือเป็นการหยุดดอกเบี้ย วงเงินส่วนที่ยังไม่เบิกออกมาก็จะยังไม่คิดดอกเบี้ย ในขณะที่หากเป็นสินเชื่อเงินกู้ประเภทอื่นนั้นโดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคล (เงินสด) ที่เมื่อเราได้รับเงินกู้ทั้งก้อนโอนเข้าบัญชี ธนาคารก็จะเริ่มคิดดอกเบี้ยในทันทีและผ่อนตามระยะเวลาที่กำหนดโดยคิดตามจำนวนวงเงินที่ขอกู้เป็นขั้นบันได
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นแม้ว่าจะมีความยืดหยุ่นสูงมากเพียงใดแต่สินเชื่อ OD ก็เหมาะที่จะเป็นวงเงินกู้ในระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าเงินกู้ทั่วไป
เงื่อนไขในการขอสินเชื่อ OD
โดยปกติแล้วธนาคารมักจะไม่ให้ สินเชื่อ OD กับใครง่ายๆ เนื่องจากอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า สินเชื่อเงินกู้ประเภทดังกล่าว เป็นวงเงินที่ควบคุมยากและมักจะถูกใช้ผิดจุดประสงค์บ่อยๆ ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงต้องการตรวจสอบผู้กู้ให้แน่ใจก่อนว่า มีความสามารถในการชำระหนี้ (ไม่หนีหนี้) แน่นอนหรือไม่ ซึ่งคุณสมบัติสำคัญเด่นของผู้ขอกู้วงเงินสินเชื่อ OD มีดังนี้
เป็นบุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจหรือนิติบุคคลที่มีสัญชาติไทย
อายุตั้งแต่ 20 65 ปี
มีประสบการณ์ดำเนินธุรกิจไม่น้อยกว่าระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด
ไม่มีประวัติค้างชำระเกิน 30 วัน ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา
ไม่เคยมีประวัติปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินใด ๆ
ไม่เป็น NPL กับสถาบันการเงินใด ๆ ณ ปัจจุบัน
ไม่เคยถูกฟ้องร้องและมีคำพิพากษาเป็นฝ่ายผิดเกี่ยวกับการเงิน ถูกอายัดทรัพย์ เป็นบุคคลล้มละลาย หรือถูกศาลมีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการ
เงื่อนไขอื่นๆ ตามที่ธนาคารกำหนด
อ้างอิงข้อมูลจาก kasikornbank.com
และนอกจากเงื่อนไขดังกล่าวซึ่งเป็นคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการขอกู้สินเชื่อ OD แล้ว ผู้กู้ยังจะต้องเป็นผู้ที่พร้อมจะนำสินทรัพย์ เช่น ที่อยู่อาศัย, ที่ดินเปล่า, สถานประกอบการ, เครื่องจักร, บัญชีเงินฝากประจำ ฯลฯ มาใช้ในการเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันเพื่อขอกู้อีกด้วย
เอกสารสำหรับขอสินเชื่อ OD
เอกสารแสดงตน
สำเนาบัตรประชาชน
สำเนาทะเบียนบ้าน
สำเนาใบเปลี่ยนชื่อนามสกุล (ถ้ามี)
สำเนาใบสมรส/ใบหย่า (ถ้ามี)
สำเนาทะเบียนการค้า
กรณีนิติบุคคลสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมมา
สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคคล และสำเนาวัตถุประสงค์ของนิติบุคคล ไม่เกิน 3 เดือน
สำเนาหนังสือบริคณห์สนธิ และข้อบังคับของนิติบุคคล
สำเนาทะเบียนผู้ถือหุ้น (ไม่เกิน 3 เดือน)
เอกสารแสดงรายได้
สำเนารายการเดินบัญชี (Statement) จากสถาบันการเงิน ย้อนหลัง 6 เดือน
สำเนาเอกสารสิทธิ์หลักประกัน (เฉพาะสินเชื่อแบบมีหลักประกันเท่านั้น)
กรณีนิติบุคคลสิ่งที่ต้องเพิ่มเติมมา
สำเนางบการเงินย้อนหลัง ไม่น้อยกว่า
3 ปี
สำเนา ภ.พ.30 ย้อนหลัง 6 เดือน
เอกสารด้านหลักประกัน
สำเนาเอกสารสิทธิหลักประกัน
ขั้นตอนในการขอสินเชื่อ OD เบื้องต้น
1. เลือกธนาคารที่ใช้บริการบ่อยและน่าไว้วางใจ
2. แจ้งจุดประสงค์ที่ชัดเจนในการขอสินเชื่อ OD
3. นำเอกสารข้างต้นไปยื่นให้ธนาคารที่เลือก จากนั้นรออนุมัติและคุยกันถึงเรื่องค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการดำเนินการ
ค่าใช้จ่ายในการขอสินเชื่อ OD
โดยทั่วไปค่าใช้จ่ายหลักๆ ที่ต้องเสียมีดังนี้
ค่าจดจำนอง 1% ของวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติ
ค่าธรรมเนียมการจัดการให้กู้ 2- 3% ของวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติ
ค่าประกันวงเงิน 5% ของวงเงินกู้ที่ได้รับอนุมัติ
ค่าใช้จ่ายให้แก่หน่วยงานราชการ เช่น ค่าอากรแสตมป์ เป็นต้น
นอกนั้นขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละธนาคาร
ข้อควรระวัง/ข้อควรรู้เกี่ยวกับการขอสินเชื่อ OD
แม้ว่าสินเชื่อ OD อาจจะมีข้อดีในเรื่องของความยืดหยุ่นอย่างข้างต้นที่กล่าวมาแต่ก็มีข้อเสียในเรื่องของอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่าสินเชื่อชนิดอื่น และนอกจากนี้ยังมีข้อควรระวังหรือข้อควรรู้ดังต่อไปนี้
หากใช้เงินกู้สินเชื่อ OD ผิดจุดประสงค์ระวังติดตัวแดง
จุดประสงค์หลักของสินเชื่อ OD คือ เป็นเงินหมุนเวียนในกิจการระยะสั้นเพื่อรอนำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจเข้ามาลดยอดหนี้ เช่น จ่ายค่าวัตถุดิบ ค่าแรงพนักงาน แต่ผู้กู้บางรายกลับนำไปใช้เพื่อจุดประสงค์อื่นหรือใช้กับทรัพย์สินระยะยาว เช่น ซื้อของฟุ่มเฟือย ซื้อรถ ซื้อที่ดินเก็งกำไร ซื้อบ้าน ฯลฯ ซึ่งผลลัพธ์ คือ กระแสเงินเข้าสู่บัญชีช้าลง ทำให้เงินทุนหมุนเวียนไม่เพียงพอ ขาดสภาพคล่อง เสียเครดิตเนื่องจากผิดนัดชำระหนี้ และต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงเกินจำเป็น สุดท้ายก็ติดตัวแดงในบัญชี
สินเชื่อ OD มีเวลากำหนด
อีกเงื่อนไขหนึ่งของสินเชื่อ OD ที่ห้ามมองข้าม คือ OD มีเวลาในการนำเงินมาคืนตามที่ธนาคารกำหนด และมีจำนวนขั้นต่ำในการขอกู้ ซึ่งจะขึ้นอยู่กับธุรกิจของผู้กู้ กฏของธนาคาร รวมถึงประวัติทางการเงิน
ขอกู้สินเชื่อ OD บังคับทำประกันจริงหรือ?
หลายคนเข้าใจว่าสินเชื่อ OD จำเป็นต้องทำต้องทำประกัน อันที่จริงแล้วไม่เชิง เพราะจะเป็นประกันคุ้มครองวงเงินกู้ เพื่อป้องกันความเสี่ยงของวงเงินที่ปล่อยกู้ เผื่อในกรณีเกิดเหตุไม่คาดฝัน เช่น ผู้กู้เสียชีวิต ซึ่งบริษัทประกันจะจ่ายคุ้มครองเฉพาะยอดเงินกู้เท่านั้น (หรือเรียกว่าใช้หนี้แทน ข้อดีคือ ทำให้ภาระหนี้สินไม่ตกสู่รุ่นหลัง) ซึ่งผู้กู้จะต้องจ่ายแยกต่างหากเป็นรายเดือน แต่ประกันอื่นๆ เช่น ประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์นั้น ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้แต่ธนาคารมักไม่ได้บอกไว้ จึงทำให้เข้าใจผิด
ต้องการปิด/ยกเลิก สินเชื่อ OD ทำอย่างไร?
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องยาก ก็คือ การชำระหนี้ OD ที่เบิกออกมาใช้ให้หมด ชำระได้แบบไม่มีขั้นต่ำ เพื่อให้บัญชีกระแสรายวันกลายเป็นบวก จากนั้นก็แจ้งธนาคารว่าจะขอยกเลิกบัญชี OD ซึ่งในการขอยกเลิก OD นั้น โดยทั่วไปหากมีการยกเลิก/ไถ่ถอนก่อนกำหนดตามที่ให้เงื่อนไขไว้กับธนาคารจะเสียค่าปรับไม่เกิน 3% ของวงเงินสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับธนาคารนั้นๆ แต่หากยกเลิกเมื่อครบกำหนดจะไม่เสียค่าปรับ
สุดท้ายนี้การขอสินเชื่อไม่ว่าจะประเภทใดก็ต่างมีทั้งข้อดีข้อเสีย รวมถึงค่าใช้จ่ายยิบย่อยและเงื่อนไขของธนาคารที่คุณควรจำต้องทำความเข้าใจและพิจารณาให้ถี่ถ้วน อย่าลืมเลือกสินเชื่อที่เหมาะกับวัตถุประสงค์ในการใช้เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด อย่างในกรณีนี้หากคุณต้องการกู้เงินเพื่อนำมาใช้หมุนเวียนระยะสั้นในธุรกิจ สินเชื่อ OD ก็น่าจะตอบโจทย์ ในขณะที่ถ้าหากต้องการซื้อบ้านก็ควรขอสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านโดยตรง