รู้ก่อนดราม่า! ทำไมต้องสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ

รู้ก่อนดราม่า! ทำไมต้องสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #สินเชื่อสำหรับคนไทยในต่างประเทศ #บ้านและสินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ
#สินเชื่อคนไทยในต่างแดน #สินเชื่อบ้านเพื่อคนไทยที่ทำงานในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านที่ไทย #สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน
เป็นข่าวที่ฮือฮาไม่น้อยเมื่อวานนี้ (27 มิถุนายน 2560) ที่การประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) ครั้งที่ 1/2560 ได้มีมติเห็นชอบ “โครงการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” บนที่ดินราชพัสดุของกรมธนารักษ์ และเป็นโครงการที่มีแนวทางสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลภายใต้ปรัชญา “ศาสตร์พระราชา” โดยความร่วมมือในรูปแบบแนวทางประชารัฐของรัฐบาล ซึ่งโครงการดังกล่าว คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2559 ให้ดำเนินโครงการก่อสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลข กท.3275 เขตคลองสาน กรุงเทพฯ ที่สร้างความฮือฮาคงหนีไม่พ้นคำครหาที่รัฐนำเงินไปถลุง สร้างสิ่งที่ไม่เกี่ยวกับปากท้องชาวบ้าน ซึ่งในความเป็นจริงแล้วยังมีอีกหลายแง่มุมที่คนส่วนใหญ่ยังไม่รู้กัน
งบลงทุนมาจากภาคเอกชน 100% โครงการหอชมเมืองกรุงเทพฯ จะดำเนินการก่อสร้างโดย “มูลนิธิหอชมเมืองกรุงเทพมหานคร” ซึ่งเป็นองค์กรเอกชน มีมูลค่าโครงการประมาณ 4,621 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าการลงทุนก่อสร้างประมาณ 4,422 ล้านบาท และเป็นค่าที่ราชพัสดุประมาณ 198 ล้านบาท โดยงบลงทุนจะเป็นเงินตั้งต้นของมูลนิธิ 5 แสนบาท เงินกู้จากสถาบันการเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท เงินบริจาคจากบริษัทเอกชนชั้นนำประมาณ 2,100 ล้านบาท แต่ที่ต้องผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เนื่องจากโครงการนี้มีมูลค่าเกินกว่า 1,000 ล้านบาท และเป็นการนำที่ดินของรัฐเข้าไปร่วมดำเนินการโดยตีราคาค่าเช่าระยะ 30 ปีเป็นเงินร่วม จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัติการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2556
โดยประมาณการว่าราคาบัตรเข้าชมจะอยู่ที่ประมาณ 750 บาท/คน รายได้จากการจำหน่ายบัตรเข้าชมประมาณ 1,054 ล้านบาท/ปี โดยจะมีส่วนลดพิเศษให้กับคนไทย 50% คาดว่าจะมีค่าใช้จ่ายปีละประมาณ 892 ล้านบาท จ่ายดอกเบี้ยปีละ 38 ล้านบาท นอกจากนี้ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปบริจาคให้กับองค์กรสาธารณะกุศล

รายละเอียดเบื้องต้นของหอชมเมืองกรุงเทพฯ
หอคอยชมเมืองกรุงเทพฯ มีเนื้อที่ 4-3-15.3 ไร่ พื้นที่ใช้สอยประมาณ 22,000 ตารางเมตร ตั้งอยู่บน ซ.เจริญนคร 7 ถ.เจริญนคร เขตคลองสาน ติดกับโครงการ ICON SIAM เพื่อเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ โดยจะมีความสูงรวมทั้งสิ้น 459 เมตร ซึ่งเป็นหอคอยชมวิวที่สูงเป็นอันดับ 6 ของโลก อาคารถูกออกแบบให้มีลักษณะโครงสร้างแบบสถาปัตยกรรมไทย มีจำนวน 24 ชั้น ชั้นใต้ดิน 2 ชั้น และส่วนฐานอาคาร (Podium) อีก 4 ชั้น
โดยชั้นบนสุดจะเป็นโถงเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราชแห่งมหาจักรีพระบรมราชวงศ์เพื่อประดิษฐานพระบรมรูปของบูรพมหากษัตริยาธิราช ประดิษฐานรูปหล่อพระคลังมหาสมบัติ พร้อมแสดงพระราชกรณียกิจของสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เพื่อเป็นการเผยแพร่ศาสตร์พระราชาทุกๆ ด้าน นอกจากนี้ยังจะพัฒนาให้เป็นจุดชมวิวของกรุงเทพฯ และศูนย์การเรียนรู้ โดยจัดให้นักเรียนนักศึกษาเข้าเรียนรู้ขั้นตอนการก่อสร้าง เพื่อยกระดับพื้นฐานทางปัญญาเยาวชนไทย

หอชมเมืองในไทยมีที่ไหนบ้าง
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีหอชมเมืองที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและสร้างเสร็จแล้ว จำนวน 9 แห่ง ประกอบด้วย
หอชมเมืองที่สร้างเสร็จแล้ว
1. หอคอยบรรหาร-แจ่มใส จ.สุพรรณบุรี ความสูง 123.25 เมตร จำนวน 4 ชั้น ใช้งบ 250 ล้านบาท โดยมาจากเงินบริจาคของชาว จ.สุพรรณบุรี โดยไม่ได้ใช้งบประมาณของทางราชการ สร้างเสร็จเมื่อปี 2537
2. หอแก้วมุกดาหาร จ.มุกดาหาร ความสูง 65.50 เมตร ใช้งบ 50 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2539
3. หอคอยสุรนภา ในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา ความสูง 82 เมตร จำนวน 25 ชั้น สร้างเสร็จเมื่อปี 2539
4. หอชมเมืองนครสวรรค์ จ.นครสวรรค์ ความสูง 32 เมตร จำนวน 10 ชั้น ใช้งบ 35 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2551
5. หอคอยเฉลิมพระเกียรติ จ.ศรีษะเกษ ความสูง 84 เมตร จำนวน 16 ชั้น ใช้งบ 65 ล้านบาท สร้างเสร็จเมื่อปี 2559
6. หอคอยโรงแรมพัทยาปาร์ค ทาวเวอร์ ความสูง 240 เมตร จำนวน 55 ชั้น
7. หอคอยสกายเดค ห้างสรรพสินค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ความสูง 110 เมตร สร้างเสร็จเมื่อปี 2559
หอชมเมืองที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง
8. หอชมเมืองสมุทรปราการ จ.สมุทรปราการ ความสูง 179.5 เมตร ใช้งบจาก อบจ.สมุทรปราการ 593 ล้านบาท และเทศบาลนครสมุทรปราการ 54 ล้านบาท คาดว่าจะแล้วเสร็จสิ้นปี 2560
9. หอชมเมืองร้อยเอ็ด จ.ร้อยเอ็ด หอชมเมืองรูปทรงโหวด ความสูง 101 เมตร ใช้งบประมาณจังหวัดประมาณ 200 ล้านบาท

หอคอยในต่างประเทศสร้างมูลค่าด้านการท่องเที่ยว
หอคอยที่สูงที่สุดในโลก ปัจจุบันคือ Tokyo Skytree มีความสูงถึง 634 เมตร จำนวน 450 ชั้น ถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็นหอกระจายคลื่น ภัตตาคาร และชมวิว ซึ่งเปิดให้เข้าชมมาตั้งแต่ปี 2555 โดยในแต่ละวันมีผู้เข้าชมประมาณ 15,000 คน หรือคิดเป็นปีละประมาณ 5.4 ล้านคน หากคำนวณจากราคาตั๋วเข้าชมถูกที่สุดคือ 1,030 เยน หอคอยแห่งนี้จะสร้างรายได้ให้ต่ำที่สุดมากกว่า 5.5 พันล้านเยน/ปี หรือ 1.6 พันล้านบาท/ปี
หากไล่เรียงความสูงหอคอยที่ติดอันดับโลก 1 ใน 5 ได้แก่
อันดับที่ 1 Tokyo Skytree กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สูง 634 เมตร
อันดับที่ 2 Canton Tower เมืองกวางโจว ประเทศจีน ความสูง 610 เมตร
อันดับที่ 3 CN Tower เมืองโตรอนโต้ ประเทศแคนาดา ความสูง 553 เมตร
อันดับที่ 4 Ostankino Tower กรุงมอสโก ประเทศรัสเซีย ความสูง 540.1 เมตร
อันดับที่ 5 Oriental Pearl Tower เมืองเซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ความสูง 467.9 เมตร
ส่วนหอคอยชมเมืองกรุงเทพฯ ของประเทศไทยเมื่อสร้างแล้วเสร็จจะอยู่อันดับที่ 6 ความสูง 459 เมตร
สรุปแล้วหอคอยชมเมืองกรุงเทพฯ คือการลงทุนของภาคเอกชนโดยใช้พื้นที่ภาครัฐ ไม่ใช่การนำเงินของภาครัฐไปละลายแม่น้ำอย่างที่หลายๆ คนเข้าใจ ต้องมาดูกันว่าหากโครงการนี้แล้วเสร็จจะดึงเม็ดเงินจากต่างประเทศเข้ามาสู่ประเทศไทยได้มากน้อยแค่ไหน