#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีแนวคิดที่จะวางกรอบการปล่อยสินเชื่อส่วนบุคคลและสินเชื่อบัตรเครดิตใหม่ เพื่อแก้แก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดมาแตะระดับ 79.9% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ณ สิ้นปี 2559 สูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย รองจากออสเตรเลียและเกาหลีใต้
จำกัดวงเงินสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันทุกประเภท
กฎเกณฑ์ใหม่ของ ธปท. มุ่งเน้นไปที่สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นการคุมการก่อหนี้ตามฐานรายได้ แบ่งเป็น
สินเชื่อบัตรเครดิต กำหนดให้ผู้มีรายได้ระหว่าง 15,000-30,000 บาท/เดือน ได้รับวงเงินบัตรเครดิตสูงสุดไม่เกิน 1.5 เท่า ส่วนผู้มีรายได้ 30,000-50,000 บาทต่อเดือน ได้รับวงเงินบัตรไม่เกิน 3 เท่า และ 50,000 บาทขึ้นไปได้รับวงเงินไม่เกิน 5 เท่า โดยไม่จำกัดจำนวนบัตร จากเดิมที่จะได้รับวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตไม่เกิน 5 เท่า ในทุกฐานรายได้
สินเชื่อส่วนบุคคล กำหนดให้ผู้มีรายได้ต่ำกว่า 30,000 บาท จะได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 1.5 เท่า และจำกัดสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อได้ไม่เกิน 3 แห่ง ส่วนผู้มีรายได้ตั้งแต่ 30,000 บาทขึ้นไป ยังคงได้รับวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5 เท่าของรายได้
เกณฑ์ใหม่ ธปท. ไม่กระทบธนาคารขนาดใหญ่
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ผลกระทบต่อผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ จะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจากเกณฑ์การอนุมัติวงเงินสินเชื่อสำหรับลูกค้ารายใหม่ที่ธนาคารไม่เคยมีประวัติเครดิตมาก่อนนั้น มักอยู่ในกรอบที่ต่ำกว่า 5 เท่าต่อรายได้อยู่แล้วในปัจจุบัน โดยในกรณีของบัตรเครดิตนั้น จะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 2-3 เท่าต่อรายได้ ขณะที่จำนวนบัตรเครดิตที่ถือครองในปัจจุบัน มักไม่เกิน 3 บัตร ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย ที่พบว่า การถือครองบัตรโดยเฉลี่ย จะอยู่ที่ประมาณ 2.23 ใบต่อคน (ยกเว้นกลุ่มที่มีรายได้ต่อเดือนเกิน 1 แสนบาท)
นอกจากนี้ แนวทางของ ธปท.ในการลดเพดานวงเงินสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลลงจากเดิมนั้น ยังเป็นทิศทางที่สอดคล้องกับการปรับตัวของธนาคารพาณิชย์ที่เน้นกำหนดวงเงินสินเชื่อให้สอดคล้องกับความต้องการใช้งานจริงของลูกค้ามากขึ้น โดยธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้เริ่มเน้นนโยบายการให้วงเงินสินเชื่อที่เหมาะสมกับความต้องการใช้จ่ายของลูกค้าแต่ละกลุ่ม และ/หรือแต่ละรายมากขึ้น
สินเชื่อครึ่งปีแรกโต 2.9%
จากข้อมูลของศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังเปิดเผยว่า ครึ่งแรกของปี 2560 สินเชื่อเติบโตแล้ว 2.9% มาจากสินเชื่อธุรกิจ แม้ว่าการลงทุนเอกชนจะยังไม่ฟื้นตัว แต่ยังมีความต้องการเงินทุนหมุนเวียน ทำให้สินเชื่อที่เป็น trade finance โตกว่า 7% ตามการส่งออกที่ปรับตัวดีขึ้น ขณะที่สินเชื่อเงินทุนหมุนเวียน (Working Capital) เติบโตประมาณ 5% ทำให้สินเชื่อธุรกิจเติบโตได้ดีกว่าที่คาดจากเดิมคาดว่าจะต้อง 2% เป็น 3.5%
สำหรับสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและย่อม (เอสเอ็มอี) ยังคงเติบโตในกรอบจำกัดจากการฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศที่ยังไม่ทั่วถึง ความกังวลต่อประเด็นคุณภาพหนี้ และกฎหมายแรงงานใหม่ คาดว่าในปีนี้จะโตประมาณ 4%
ส่วนสินเชื่อรายย่อยยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ชะลอตัวลงตามยอดโอนกรรมสิทธิ์ที่หดตัวต่อเนื่อง และกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ประกอบกับธนาคารต่าง ๆ ยังคงระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ ทำให้การเติบโตของสินเชื่อรายย่อยทั้งระบบปีนี้เติบโตประมาณ 4.5% น้อยกว่าที่คาดไว้ที่ 5.5%
ขณะที่หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) แม้จะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยจะเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 ปี 2560 ที่ระดับ 3.07% แต่คาดว่าจะลดลงในไตรมาส 4 ปี 2560 จากเศรษฐกิจของประเทศที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น และจากการขายหนี้เอ็นพีแอลของธนาคารต่าง ๆ ออกมาเพื่อรักษาเอ็นพีแอลให้อยู่ในระดับที่แต่ละธนาคารกำหนดไว้
จากกรอบแนวคิดของ ธปท. แสดงให้เห็นถึงความจริงจังในการลดปัญหาหนี้จากสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งไม่กระทบกับภาคธุรกิจอื่น ทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการใช้จ่าย และมีวินัยทางกรเงินมากขึ้น ก็คงต้องตั้งใจรอความชัดเจนของ ธปท. อีกครั้ง ว่าจะเดินตามกรอบแนวคิดนี้ หรือมีประเด็นอะไรเพิ่มเติมอีกหรือไม่