ข้อมูลเครดิตคืออะไร สำคัญอย่างไรกับการเตรียมขอสินเชื่อจากธนาคาร และกรณีศึกษาที่น่ารู้เพื่อการวางแผนท

ข้อมูลเครดิตคืออะไร สำคัญอย่างไรกับการเตรียมขอสินเชื่อจากธนาคาร และกรณีศึกษาที่น่ารู้เพื่อการวางแผนท

#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
ทำไมบางคนขอสินเชื่อบ้านแล้วธนาคารปล่อยกู้ง่าย? ขอสินเชื่อที่ธนาคารไหนก็ได้รับการอนุมัติวงเงิน แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่วิ่งเข้าเดินออกหลายธนาคาร ใช้ความพยายามอย่างสูงกว่าจะขอสินเชื่อผ่าน ที่เป็นเช่นนั้นเพราะแต่ละธนาคารต่างก็มีวิธีการคัดกรองผู้กู้แตกต่างกันไป ตามแต่ที่ฝ่ายอนุมัติสินเชื่อจะคิดค้นขึ้นมาตามความเชื่อที่ว่าถ้าให้กู้แก่ผู้กู้ที่ดีโอกาสเกิดหนี้เสียจะลดลง

ท่ามกลางวิธีการต่างๆ เหล่านี้ ยังมีหลักเกณฑ์พื้นฐานที่ธนาคารนำมาใช้พิจารณาสินเชื่อเป็นด่านแรก ก็คือ “ข้อมูลเครดิต” หรือที่อาจจะคุ้นชินกับคำว่า “เครดิตบูโร” โดยธนาคารจะมีแบบฟอร์มขอความยินยอมจากลูกค้าเพื่อตรวจสอบข้อมูลเครดิต ซึ่งแบบฟอร์มนี้จะเป็นใบแทรกอยู่ในชุดแบบฟอร์มขอสินเชื่อบ้าน

ข้อมูลเครดิตคืออะไร
อธิบายอย่างง่ายๆ ข้อมูลเครดิต คือข้อมูลที่สถาบันการเงินที่เป็นสมาชิกของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) นำมาแบ่งปันกัน โดยข้อมูลนี้จะแสดงถึงสินเชื่อที่ลูกค้าแต่ละรายใช้บริการอยู่ การค้ำประกันและประวัติการผ่อนชำระหนี้ เช่น

• คุณพจน์มีหนี้บัตรเครดิต ค้างชำระมาแล้ว 2 งวด
• คุณปริญญ์มีหนี้สินเชื่อบ้าน ชำระปกติ
• คุณปองฟ้ามีหนี้รถยนต์ เคยค้างชำระไป 1 งวด แล้วกลับมาชำระปกติ 3 งวด
• หรือแม้กระทั้ง คุณศตวรรษบัณฑิตใหม่ที่ทำงานมาได้ปีเดียวยังมีหนี้ กยศ. และยังมีหนี้จากการไปค้ำประกันหนี้ให้คนอื่นด้วย

ดังนั้นเครดิตบูโรนี้จะให้ข้อมูลแก่ธนาคารใน 2 ด้านคือ หนี้สินในระบบของผู้กู้ และพฤติกรรมการชำระหนี้ของผู้กู้

NCB Grade คืออะไร
เมื่อลูกค้ากรอกแอพพลิเคชั่นขอสินเชื่อพร้อมแนบเอกสารแล้ว ขั้นตอนแรกที่เจ้าหน้าที่สินเชื่อทำก็คือดึงแบบฟอร์มขอความยินยอมตรวจสอบข้อมูลเครดิตออกมา แล้วส่งไปขอข้อมูลเครดิตที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ซึ่งจะให้ข้อมูลของลูกค้ากลับมาเป็นเกรด หรือ NCB Grade ที่มีการแบ่งลูกค้าออกเป็นกลุ่มด้วยข้อมูลเครดิต ดังนี้
ข้อมูลเครดิตแบบไหนมีปัญหาต่อการขอสินเชื่อบ้าน

1. ค้างชำระหนี้ C , D , U01
คุณทศพลเป็นพนักงานประจำของบริษัทแห่งหนึ่ง คุณทศพลสมัครบัตรเครดิตเอาไว้หลายใบ เพราะอยากได้โปรโมชั่นจากร้านค้า ร้านอาหารต่างๆ มีบัตรเครดิตใบหนึ่งคุณทศพลไม่ค่อยได้ใช้แต่ก็พกติดตัวไว้ประจำ จนกระทั่งวันหนึ่งได้ไปทางอาหารญี่ปุ่นที่ร้านแห่งหนึ่ง แล้วพบว่าหากใช้บัตรเครดิตใบนี้จะได้ส่วนลดถึง20%คุณทศพลจึงไม่ลังเลที่จะรูดจ่ายค่าอาหารด้วยบัตรเครดิตใบนี้
ระยะเวลาผ่านไปถึง 2 เดือนคุณทศพลลืมไปเสียสนิทไม่ได้จ่ายค่าบัตรเครดิตใบนี้ จนกระทั่งมานึกขึ้นได้เมื่อเข้าเดือนที่สามไปแล้ว คุณทศพลไม่ได้รับจดหมายแจ้งยอดบัตรเครดิต เนื่องจากบัตรใบนี้คุณทศพลไม่ค่อยได้ใช้และลืมแจ้งเปลี่ยนที่อยู่จัดส่งเอกสารเมื่อคราวย้ายที่อยู่ใหม่
จากตัวอย่างข้างต้นคุณทศพลไม่ได้มีเจตนาที่จะค้างชำระหนี้เลย แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อลูกค้าค้างชำระหนี้แม้เพียงงวดเดียว ชื่อลูกค้าจะไปปรากฎอยู่ใน Watch List ว่าเป็นหนี้ที่ต้องเอาใจใส่เป็นพิเศษ มี NCB เป็นเกรด C เช่นเดียวกับคุณคำแก้วที่มีเหตุจำเป็นต้องใช้เงินจึงขาดสภาพคล่องกระทันหันและไม่ได้ผ่อนรถไป 1 งวด ตรงนี้ก็จะได้เกรด U 01 หมายถึงค้างชำระในงวดล่าสุด และชื่อคุณคำแก้วเข้าไปอยู่ในWatchList

เมื่อค้างชำระหนี้แล้วขอสินเชื่อจะเกิดอะไรขึ้น
เมื่อคุณทศพลและคุณคำแก้วต้องการขอสินเชื่อบ้าน ธนาคารเรียกดูข้อมูลเครดิตก็จะพบว่าผู้ขอสินเชื่อมีประวัติค้างชำระ ซึ่งแสดงถึงการไม่มีวินัยทางการเงิน เพราะไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดระยะเวลา และสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่มีระยะเวลากู้นานที่สุดถึง 30 ปี ธนาคารจึงคาดหวังว่าลูกหนี้จะชำระหนี้ได้ต่อเนื่องและตรงเวลา ทำให้ธนาคารไม่มั่นใจในตัวผู้กู้ นำไปสู่การปฏิเสธคำขอสินเชื่อหรือเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขให้สินเชื่อเพื่อชดเชยความเสี่ยง เช่น อัตราดอกเบี้ยสูงขึ้น วงเงินกู้ลดลงเป็นต้น

เมื่อมีประวัติค้างชำระหนี้แล้วจะทำอย่างไร
การมีประวัติค้างชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นการค้างชำระเพียงงวดเดียว งวดล่าสุด หรือมากกว่าหนึ่งงวดก็ตาม หมายถึงลูกหนี้กำลังอยู่ในจุดกึ่งกลางของการกลับไปสู่การชำระหนี้ปกติ หรือหากปล่อยปัญหาทิ้งไว้ก็จะกลายเป็นหนี้ที่มีปัญหา NCB เกรด D ได้ ซึ่งธนาคารส่วนใหญ่ต้องการหลีกเลี่ยงการอนุมัติสินเชื่อให้ลูกค้ากลุ่มนี้
ดังนั้นวิธีการที่แนะนำคือการกลับไปชำระหนี้ที่ค้างไว้ อย่างน้อยที่สุดคือกลับไปชำระให้ถึงยอดชำระขั้นต่ำก็เพียงพอต่อการทำให้บัญชีกลับคืนสู่สถานะปกติดังเดิม หรือถ้าเป็นไปได้ก็ควรปิดบัญชีสินเชื่อไปเลย เมื่อสถานะบัญชีกลับสู่ปกติแล้วเกรดก็จะปรับมาที่เกรด B ที่ตีความได้ว่าเคยค้างชำระเท่านั้น ซึ่งมีโอกาสจะได้รับอนุมัติสินเชื่อมากยิ่งขึ้น
และโอกาสในการอนุมัติสินเชื่อจะเพิ่มมากยิ่งขึ้นเมื่อผู้กู้ได้กลับมาชำระปกติอย่างต่อเนื่องหลายๆ งวด โดยเจ้าหน้าที่สินเชื่อจะพิจารณาตามหลักความเป็นจริง เช่น หากคุณมีเพื่อนสองคนมาขอยืมเงิน ทั้งคู่ต่างเคยคืนเงินที่ยืมไปช้า คนแรกกลับมาผ่อนสม่ำเสมอได้ 8 เดือนแล้ว ส่วนอีกคนพึ่งกลับมาผ่อนตรงเวลาได้ 1 เดือน คุณอยากให้ใครยืมเงินมากกว่ากัน ก็คงเป็นเพื่อนคนแรกเพราะดูมีแนวโน้มที่จะกลับตัวเป็นลูกหนี้ที่ดีจริงไหม ดังนั้นเมื่อเสียเครดิตไปแล้วสิ่งที่ผู้กู้ควรจะทำคือกลับมาสร้างเครดิตใหม่อย่างตั้งใจ
2. ข้อมูลเครดิตไม่เพียงพอ Un, 00
คุณสายชลบัณฑิตจบใหม่พึ่งทำงานมาได้ 9 เดือน สมัครและเปิดใช้บัตรเครดิตครั้งแรกเมื่ออายุงานครบ 6 เดือนพอดี บัตรที่เปิดใช้ก็มียอดไม่มากแต่ชำระหนี้เต็มจำนวนตลอด ในขณะที่คุณนางฟ้าเพื่อนของคุณสายชลนั้นยังไม่มีบัตรเครดิตใช้เลย และไม่เคยขอสินเชื่อใดๆ ทั้งสองคนบังเอิญไปเจอกันที่งานเปิดตัวคอนโดใหม่ใกล้รถไฟฟ้าส่วนต่อขยายแล้วตกลงจองไปคนละห้อง หลังจากผ่อนดาวน์ไปจนโครงการใกล้แล้วเสร็จก็ได้รับแจ้งกำหนดการโอนห้อง ทั้งคู่จึงไปขอสินเชื่อกับธนาคาร
เมื่อธนาคารขอข้อมูลเครดิตของคุณสายชลและคุณนางฟ้าก็พบว่าข้อมูลเครดิตไม่เพียงพอเนื่องจาก ในกรณีของคุณสายชลนั้นมีข้อมูลเครดิตอยู่แต่มีน้อยเกินไปไม่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ เกรดของคุณสายชลคือ Un ส่วนเกรดคุณนางฟ้านั้นคือ 00 ไม่สามารถจัดเกรดได้เนื่องจากไม่พบข้อมูลเครดิตเลย
ในกรณีเช่นนี้ธนาคารจะพิจารณาสินเชื่อลำบากเนื่องจากไม่สามารถบอกได้ว่าผู้กู้จะเป็นลูกหนี้ที่ดีหรือไม่ เพราะไม่มีข้อมูลในอดีต แต่ก็ยังอยู่ในฐานะที่ดีกว่าผู้กู้ที่ค้างชำระหรือหนี้มีปัญหา แต่อาจเกิดข้อจำกัดที่ทำให้ธนาคารไม่สามารถเสนออัตราดอกเบี้ยหรือวงเงินกู้บางอย่างให้กับผู้กู้ได้ ดังนั้นหากต้องการขอสินเชื่อบ้านควรเริ่มสร้างข้อมูลเครดิตตั้งแต่วันนี้

แก้ไขปัญหาข้อมูลเครดิตอย่างไร

1. สร้างข้อมูลเครดิตที่ดี ถ้ามีประวัติค้างชำระอยู่ มีหนี้ที่มีปัญหา หลังจากดำเนินการชำระให้สถานะบัญชีกลับสู่ปกติ หรือปิดบัญชีสินเชื่อแล้ว ภายใน 36 งวด หรือ 3 ปี ข้อมูลเครดิตใหม่ก็จะแทนที่ข้อมูลเครดิตเดิม โดยในการขอเรียกดูข้อมูลเครดิต ธนาคารจะเรียกดูย้อนหลังได้เพียง 3 ปีเท่านั้น
2. ผู้กู้ร่วมที่มี NCB เกรด A กรณีที่ไม่สามารถรอเพื่อสร้างเครดิตดีได้ ผู้กู้ที่มี NCB เกรด C และ D สามารถเพิ่มโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อด้วยการขอกู้ร่วมกับผู้กู้ร่วมที่มี NCB เกรด A เงื่อนไขในส่วนนี้จะแตกต่างกันตามแต่ละธนาคาร ผู้กู้โปรดสอบถามเจ้าหน้าที่สินเชื่อของธนาคารที่ยื่นกู้อีกครั้ง
3. ตรวจสอบข้อมูลเครดิตเป็นประจำ ข้อมูลเครดิตอาจผิดพลาด หรือข้อมูลเครดิตที่ไม่ถูกต้องเนื่องจากข้อมูลไม่อัพเดต โดยทั่วไปสถาบันการเงินจะส่งข้อมูลอัพเดตให้บริษัทข้อมูลเครดิตทุกๆ งวดหรือทุกเดือน ดังนั้นช่วงระยะเวลาระหว่างงวดอาจทำให้ข้อมูลไม่อัพเดตได้ หากผู้กู้ตรวจสอบข้อมูลเครดิตอยู่เสมอก็สามารถแจ้งข้อมูลผิดพลาดแก่บริษัทข้อมูลเครดิตได้
4. คำว่าติด Blacklist หรือติดบูโรนั้นไม่เป็นความจริง เนื่องจากบริษัทข้อมูลเครดิตเป็นเพียงผู้รวบรวมและนำส่งข้อมูลให้สถาบันการเงินต่างๆ ที่เป็นสมาชิกเท่านั้น ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการอนุมัติสินเชื่อ ดังนั้นการปฏิเสธคำขอสินเชื่อจึงมาจากการพิจารณาของธนาคาร
5. หากผู้กู้ได้รับการปฏิเสธสินเชื่อจากสถาบันการเงิน และมีหนังสือแจ้งการปฏิเสธสินเชื่อ โดยระบุเหตุผลการปฏิเสธว่าเนื่องจากการตรวจสอบข้อมูลเครดิตจากบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ สามารถนำหนังสือฯ พร้อมเอกสารหลักฐานอื่นๆ มายื่นตรวจสอบกับบริษัทข้อมูลเครดิต ภายใน 30 วันโดยจะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมในการตรวจสอบข้อมูล
6. เจ้าของข้อมูลสามารถขอตรวจสอบข้อมูลเครดิตได้ด้วยตนเองที่บริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ศูนย์ข้อมูลเครดิต และช่องทางอื่นๆ เช่น เคาน์เตอร์ธนาคาร ตู้ ATM และอินเตอร์เนต ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.ncb.co.th หรือสอบถามคอลเซ็นเตอร์ โทร. 02-643-1250