#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
หลังจากมีการออกพระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560 ซึ่งมีสาระสำคัญเพื่อปรับปรุงกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2551 และกฎหมายว่าด้วยการนำคนต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศ พ.ศ. 2559 โดยรวมกฎหมายทั้ง 2 ฉบับเป็นฉบับเดียว เพิ่มบทกำหนดโทษให้มีอัตราโทษสูงขึ้น สร้างความตื่นตระหนกให้กับนายจ้างและแรงงานต่างด้าว จนมีแรงงานต่างด้าวทยอยกลับบ้านเป็นจำนวนมาก ซึ่งกระทบเป็นลูกโซ่ถึงนายจ้างทั้งในภาคประมง และร้านอาหาร ขาดแรงงานเป็นจำนวนมาก ทางรัฐบาลจึงใช้มาตรา 44 ชะลอผลบังคับใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าวออกไปอีก 180 วัน ในมาตราที่มีโทษปรับรุนแรงสูงถึง 8 แสนบาท/คน โดยจะเริ่มบังคับใช้อีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2561 โดยกระทรวงแรงงานในฐานะแม่งานในการบังคับใช้พระราชกำหนดฉบับดังกล่าว จึงได้ถือโอกาสนี้เตรียมเปิดช่อง 39 อาชีพที่เคยสงวนไว้ให้กับคนไทยเท่านั้น ให้แรงงานต่างด้าวสามารถเข้ามาประกอบอาชีพได้ในอนาคต
แรงงานต่างด้าวในไทยคาดเกิน 3 ล้านคน
จากข้อมูลการสำรวจแรงงานต่างด้าวในไทยของกระทรวงการจัดหางาน พบว่า ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานในประเทศไทยกว่า 3 ล้านคน ในจำนวนนี้มีแรงงานต่างด้าว 2.7 ล้านคน ที่มีชื่ออยู่ในระบบและได้รับใบอนุญาตทำงาน ส่วนอีกประมาณ 1 ล้านคน ยังอยู่นอกระบบ หรือลักลอบเข้ามาทำงาน ซึ่งกระทรวงแรงงานต้องการผลักดันให้แรงงานต่างด้าวเหล่านี้เข้ามาอยู่ในระบบทั้งหมด เพื่อสะดวกในการดูแลเรื่องของสวัสดิการค่าจ้างและการรักษาพยาบาล รวมทั้งเพื่อความมั่นคงภายในประเทศ
เตรียมเปิดช่อง 39 อาชีพ ให้ต่างด้าวทำได้
กระทรวงแรงงานกำลังพิจารณาที่จะยกเลิกอาชีพที่เคยสงวนไว้ให้กับคนไทยเท่านั้น 39 อาชีพ ให้แรงงานต่างด้าวสามารถทำได้ เนื่องจากกฎหมายเดิมใช้มานานแล้ว ไม่ตอบรับกับบริบทของสังคมไทยในปัจจุบัน โดยจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงไปตามกฎของการลงทุน บางอาชีพที่เคยห้ามอาจผ่อนคลายให้ทำได้ เพื่อให้นักลงทุน นักเทคนิควิชาการต่างชาติเข้ามาทำงานสะดวกขึ้น ประกอบกับบางอาชีพคนไทยในปัจจุบันไม่ทำแล้ว ก็จะเปิดช่องให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำแทน
ทั้งนี้ บัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกากำหนดในอาชีพและวีชาชีพที่ห้ามคนต่างด้าวทำ พ.ศ. 2522 กำหนดไว้จำนวน 39 อาชีพ ได้แก่
1. งานกรรมกร 2. งานกสิกรรรม งานเลี้ยงสัตว์ งานป่าไม้ หรืองานประมง ยกเว้นงานที่ใช้ความชำนาญ งานเฉพาะสาขา หรืองานควบคุมดูแลฟาร์ม 3. งานก่ออิฐ งานช่างไม้ หรืองานก่อสร้างอื่น 4. งานแกะสลักไม้ 5. งานขับขี่ยานยนต์ หรืองานขับขี่ยานพาหนะที่ไม่ใช้เครื่องจักรหรือเครื่องกล ยกเว้นงานขับขี่เครื่องบินระหว่างประเทศ 6. งานขายของหน้าร้าน 7. งานขายทอดตลาด 8. งานควบคุม ตรวจสอบหรือให้บริการบัญชี ยกเว้น งานตรวจสอบภายในชั่วคราว 9. งานเจียระไน หรือขัดเพชรหรือพลอย 10. งานตัดผม งานดัดผม หรืองานเสริมสวย
11. งานทอผ้าด้วยมือ 12. งานทอเสื่อ หรืองานทำเครื่องใช้ด้วยกก หวาย ปอ ฟาง หรือเยื่อไม้ไผ่ 13. งานทำกระดาษสาด้วยมือ 14. งานทำเครื่องเขิน 15. งานทำเครื่องดนตรีไทย 16. งานทำเครื่องถม 17. งานทำเครื่องทอง เครื่องเงิน หรือเครื่องนาก 18. งานทำเครื่องลงหิน 19. งานทำตุ๊กตาไทย 20. งานทำที่นอนผ้าห่มนวม 21. งานทำบาตร 22. งานทำผลิตภัณฑ์จากผ้าไหมด้วยมือ 23. งานทำพระพุทธรูป 24. งานทำมีด 25. งานทำร่มด้วยกระดาษหรือผ้า 26. งานทำรองเท้า 27. งานทำหมวก 28. งานนายหน้า หรืองานตัวแทน ยกเว้น งานนายหน้าหรืองานตัวแทนในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ
29. งานในวิชาชีพวิศวกรรม สาขาวิศวกรรมโยธา ที่เกี่ยวกับงานออกแบบและคำนวณ จัดระบบ วิจัย วางโครงการ ทดสอบ ควบคุมการก่อสร้าง หรือให้คำแนะนำ ทั้งนี้ไม่รวมที่ต้องใช้ความชำนาญพิเศษ 30. งานในวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวกับงานออกแบบเขียนแบบ ประมาณราคา อำนวยการก่อสร้างหรือให้คำแนะนำ 31. งานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย 32. งานปั้นหรือทำเครื่องปั้นดินเผา 33. งานมวนบุหรี่ด้วยมือ 34. งานมัคคุเทศก์ หรืองานจัดนำเที่ยว 35. งานเร่ขายสินค้า 36. งานเรียงตัวพิมพ์อักษรไทยด้วยมือ 37. งานสาวและบิดเกลียวไหมด้วยมือ 38. งานเสมียนพนักงานหรืองานเลขานุการ 39. งานให้บริการทางกฎหมายหรืออรรถคดี
ตามมติคณะรัฐมนตรี ได้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ ได้แก่ เมียนมา ลาว และกัมพูชา สามารถทำงานได้ 2 อาชีพ คือ งานกรรมกร และงานบ้าน
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กระทรวงแรงงานอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะผ่อนคลายให้กับอาชีพใดบ้าง ซึ่งจะต้องทำอย่างรอบคอบ เพื่อให้เกิดการตีความที่ถูกต้อง อาทิ งานกรรมกรก่อสร้างที่อนุญาตให้ต่างด้าว 3 ชาติสามารถทำได้ ก็มักมีการตีความว่าทำได้แค่งานแบกหาม แต่ในความเป็นจริงหมายรวมถึงงานก่ออิฐ ฉาบปูน และเชื่อม ซึ่งปัจจุบันหาแรงงานไทยทำได้ค่อนข้างยาก หรืองานประดิษฐ์เครื่องแต่งกาย จะหมายรวมถึงธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูป (การ์เมนต์) ด้วยหรือไม่ จะต้องมีการตีความให้ชัดเจนมากขึ้น โดยจะมีการเชิญกลุ่มผู้ประกอบการเข้ามาร่วมหารือด้วย