#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
ราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในรอบครึ่งปีที่ผ่านมามีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สาเหตุหนึ่งมาจากต้นทุนราคาที่ดินที่สูงขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต้องเพิ่มราคาที่อยู่อาศัยตามไปด้วย โดยจากการสำรวจของศูนย์ข้อมูลวิจัยและประเมินค่าอสังหาริมทรัพย์ไทย บจก.เอเจนซี่ ฟอร์ เรียลเอสเตท แอฟแฟร์ส ที่ได้ทำการสำรวจที่อยู่อาศัย 1,905 แห่ง ที่อยู่ระหว่างการขาย ประกอบด้วยบ้านเดี่ยว บ้านแฝด ทาวน์เฮ้าส์ อาคารพาณิชย์ และห้องชุด ระหว่างเดือนธันวาคม 2559 ถึงเดือนมิถุนายน 2560 พบว่า ภาพรวมราคาที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีทิศทางการปรับตัวเพิ่มขึ้น
ต้นทุนสูง ดันราคาที่อยู่อาศัยขึ้น
สาเหตุของการปรับราคาบ้านเพิ่มเนื่องมาจากการลงทุนของผู้ประกอบการที่มีต้นทุนการลงทุนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนราคาที่ดิน ส่วนหนึ่งมาจากนโยบายการส่งเสริมการลงทุนในโครงการเมกกะโปรเจกต์ รวมถึงปัญหาภาวะเงินเฟ้อ ราคาค่าจ้างแรงงาน จึงส่งผลต่อต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการ แม้ว่าผู้ประกอบการรายใหญ่พยายามหาวิธีที่จะลดต้นทุนแรงงาน โดยการใช้ระบบเทคโนโลยีการผลิตผนังสำเร็จรูปเข้ามาใช้แทนให้มากขึ้นแล้วก็ตาม
ราคาบ้านแฝดขึ้นสูงสุด-ที่ดินจัดสรรคงที่
การเปลี่ยนแปลงราคาตลาดที่อยู่อาศัยเปรียบเทียบระหว่างราคาขายในเดือนธันวาคม 2559 กับราคาขายในเดือนมิถุนายน 2560 แยกตามประเภทบ้าน ได้ดังนี้
บ้านเดี่ยว ราคาขายเพิ่มขึ้นจาก 6.262 ล้านบาท เป็น 6.296 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.55%
บ้านแฝด ราคาขายเพิ่มขึ้นจาก 3.475 ล้านบาท เป็น 3.502 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.79%
ทาวน์เฮ้าส์ ราคาขายเพิ่มขึ้นจาก 2.650 ล้านบาท เป็น 2.660 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.38%
ตึกแถว ราคาขายเพิ่มขึ้นจาก 4.731 ล้านบาท เป็น 4.746 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.32%
ห้องชุด ราคาขายเพิ่มขึ้นจาก 3.279 ล้านบาท เป็น 3.299 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 0.63%
ที่ดินจัดสรร ราคาขายคงที่อยู่ที่ 3.685 ล้านบาท
ทั้งนี้ ราคาที่อยู่อาศัยเมื่อ 6 เดือนที่ผ่านมา เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.754 ล้านบาท ส่วนราคาที่อยู่อาศัยในเดือนมิถุนายน 2560 เฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3.774 ล้านบาท มีการปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 0.53% ซึ่งหากมองในภาพรวมแล้วจะเห็นได้ว่าในรอบนี้ที่อยู่อาศัยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกประเภท แต่มีการปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้นตามภาวะตลาด เศรษฐกิจ และความต้องการซื้อของผู้บริโภค และต้นทุนการผลิตของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ แต่ไม่มีการปรับลดราคาลงแต่อย่างใด
แม้ว่าในรอบนี้การเปลี่ยนแปลงราคาที่อยู่อาศัยจะเพิ่มขึ้นไม่มากนัก แต่ก็ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น และไม่มีทีท่าที่จะลดลง ซึ่งการที่ราคาที่อยู่อาศัยจะลดลงได้นั้นต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง อาทิ การเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ประกอบกับภาครัฐมีโครงการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้ใครก็ตามที่กำลังรอให้ราคาที่อยู่อาศัยลดราคา คงต้อง รอเก้อ อย่างแน่นอน