#สินเชื่อธอสเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #ThinkOfThailandThinkSunAssets
การใช้บริการรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ดูเหมือนจะเป็นสวัสดิการที่มีประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับประชาชน ซึ่งหากขึ้นตรงกับโรงพยาบาลรัฐ ไม่ว่าจะขาดทุนแค่ไหนก็ยังได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ แม้จะต้องติดตัวแดงอยู่บ่อย ๆ แต่สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องยืนบนลำแข้งของตัวเอง การให้บริการผู้ป่วยในสิทธิประกันสังคมและบัตรทองทำให้โรงพยาบาลต้องแบกรับค่ารักษาพยาบาลจำนวนมาก จึงไม่แปลกที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งต้องขอยกเลิกบริการดังกล่าว ซึ่งล่าสุดมีโรงพยาบาลที่เตรียมยกเลิกทั้งสิทธิประกันสังคม และเปลี่ยนแปลงการให้บริการผู้ป่วยบัตรทองในปี 2561 ถึง 6 โรงพยาบาล ซึ่งจะกระทบประชาชนถึงเกือบ 6 แสนคน
โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง ที่จะยกเลิกการให้บริการ สำหรับผู้ป่วยสิทธิประกันสังคม ได้แก่
1. โรงพยาบาลยันฮี มีผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 156,579 คน
2. โรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี มีผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 149,313 คน
3. โรงพยาบาลศรีระยอง จ.ระยอง มีผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบประมาณ 19,817 คน
โรงพยาบาลเอกชน 4 แห่ง มีการเปลี่ยนแปลงการให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง ได้แก่
1. โรงพยาบาลมเหสักข์ ยกเลิกการให้บริการผู้ป่วยบัตรทอง กระทบต่อผู้ใช้สิทธิประมาณ 109,717 คน
2. โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา ยกเลิกการเป็นหน่วยรับส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิก แต่ยังรับผู้ป่วยบัตรทองของโรงพยาบาลเอง กระทบต่อผู้ใช้สิทธิประมาณ 90,816 คน
3. โรงพยาบาลวิภารามปากเกร็ด ยกเลิกการเป็นหน่วยรับส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิก กระทบต่อผู้ใช้สิทธิประมาณ 36,081 คน
4. โรงพยาบาลบางนา 1 ยกเลิกการเป็นหน่วยรับส่งต่อผู้ป่วยบัตรทองจากคลินิก กระทบต่อผู้ใช้สิทธิประมาณ 13,484 คน
โดยรวมแล้วในปีงบประมาณ 2561 จะมีโรงพยาบาลเอกชนแจ้งยกเลิกการให้บริการสิทธิประกันสังคมและบัตรทอง 6 แห่ง ซึ่งจะส่งผลกระทบทั้งต่อผู้ประกันตนในสิทธิประกันสังคมและประชาชนผู้ใช้สิทธิบัตรทองประมาณ 575,807 คน
สาเหตุที่โรงพยาบาลเอกชน 3 แห่ง ยกเลิกการให้บริการผู้ป่วยสิทธิประกันสังคมนั้น ทางโรงพยาบาลยันฮี ให้เหตุผลว่าต้องการที่จะทำการรักษาเฉพาะด้าน ตามนโยบายของโรงพยาบาล จึงไม่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม ส่วนโรงพยาบาลเกษมราษฎร์ รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี ไม่เข้าร่วมโครงการประกันสังคม เพราะมีโรงพยาบาลการุญเวช ซึ่งอยู่ในเครือเดียวกันที่ห่างออกไปเพียง 300 เมตร เข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว จึงไม่อยากแย่งผู้ป่วยกันเอง ขณะที่โรงพยาบาลศรีระยอง จ.ระยอง มีผู้ประกันตนที่เข้ารับบริการที่โรงพยาบาลจำนวนน้อยเกินไป ประกอบกับมีโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน ใกล้เคียงที่เข้าร่วมโครงการอยู่แล้ว
บางโรงพยาบาลเตรียมยกเลิกรักษาพยาบาลตามสิทธิประกันสังคม และสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง
สำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับผลกระทบจากกรณีดังกล่าว ทางสำนักงานประกันสังคมได้มีมาตรการรองรับ โดยได้จัดสถานพยาบาลทดแทน ให้กับผู้ประกันตน ขณะนี้ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้ประกันตนมาตรา 33 และมาตรา 39 เพื่อเลือกสถานพยาบาล ภายในวันที่ 31 ตุลาคม 2560 หากไม่เลือกมาภายในกำหนด สำนักงานประกันสังคม จะจัดสถานพยาบาลให้ผู้ประกันตน โดยจะเลือกสถานพยาบาลที่ใกล้สถานประกอบการเป็นหลัก ซึ่งหากผู้ประกันตนไม่สะดวกสามารถมาแจ้งเปลี่ยนได้ภายหลัง
ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมจะแจ้งผลการเลือกสถานพยาบาลให้สถานประกอบการ (มาตรา 33) และผู้ประกันตนมาตรา 39 วันที่ 17 ธันวาคม 2560 โดยผู้ประกันตนสามารถตรวจสอบสิทธิได้จากเว็บไซต์สำนักงานประกันสังคม www.sso.go.th และข้อความ SMS แจ้งผลการเลือกสถานพยาบาลของผู้ประกันตนมาตรา 39 หากผู้ประกันตนประสงค์เปลี่ยนสถานพยาบาลประจำปี 2561 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-31 มีนาคม 2561 โดยสถานพยาบาลที่เลือกต้องเป็นสถานพยาบาลที่สำนักงานประกันสังคมกำหนด ซึ่งในปีงบประมาณ 2561 มีโรงพยาบาลเอกชนที่จะเข้ามารับสิทธิประกันสังคมเพิ่มอีก 2 แห่ง คือ โรงพยาบาลเปาโล เกษตร (โรงพยาบาลเมโยเดิม) และโรงพยาบาลมิชชั่น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สำนักงานประกันสังคมพื้นที่/จังหวัด/สาขา หรือ โทร. 1506