จับตาสินเชื่อบ้านปี 61 แนวโน้มขยายตัวจำกัด-ต้องดูแลคุณภาพหนี้

จับตาสินเชื่อบ้านปี 61 แนวโน้มขยายตัวจำกัด-ต้องดูแลคุณภาพหนี้

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย พบว่า ในปี 2560 อัตราการเติบโตที่ชะลอลงจาก 7.6% ในปี 2559 มาอยู่ที่ 6.0% สำหรับในปี 2561 นั้น แม้ตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยฟื้นตัวขึ้นตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ฟื้นตัวและแรงผลักจากการทำตลาดของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ แต่อัตราการขยายตัวของสินเชื่อ จะยังอยู่ในกรอบจำกัดเนื่องจากยังมีหลายปัจจัยกดดัน
สินเชื่อบ้าน
ปี 60 ชะลอตัว
ในปี 2560 ที่ผ่านมา สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยของสถาบันการเงินในภาพรวมมีการเติบโตที่ชะลอตัวลง โดย ณ สิ้นปี 2560 ขยายตัว 6.0% จากปีก่อน ซึ่งชะลอตัวลงจาก 7.6% ณ สิ้นปี 2559 สอดคล้องกับเครื่องชี้วัดในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ เช่น จำนวนที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ทรงตัว หรือเติบโต 0% ในปี 2560 เทียบกับที่เติบโต 1% ในปี 2559 ตลอดจนการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ยังคงหดตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2560 หดตัว 6.8%
เมื่อจำแนกตามประเภทผู้ให้บริการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย มีการชะลอตัวของอัตราการขยายตัวทั้งฝั่งธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ ขณะที่ในมิติของประเภทอสังหาริมทรัพย์ สินเชื่อเพื่อการซื้อที่อยู่อาศัยแนวดิ่ง อาทิ คอนโดมิเนียม ห้องชุด หรือแฟลต มีการเติบโตที่ชะลอลง เช่นเดียวกับสินเชื่อเพื่อซื้ออาคารพาณิชย์กับตึกแถวที่ค่อนข้างทรงตัว โดยความนิยมของผู้บริโภคหันเหไปที่ที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีความคุ้มค่าเชิงเศรษฐกิจมากกว่า โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อซื้อบ้านพร้อมที่ดินที่พลิกจากการหดตัวเล็กน้อยในปี 2559 มาสู่การขยายตัวที่เป็นบวกได้ ซึ่งสอดรับกับทิศทางการทำการตลาดของผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์เช่นกัน
สินเชื่อบ้านปี 61 ขยายตัวท่ามกลางปัจจัยกดดัน
ในปี 2561 แนวโน้มสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะสามารถขยายตัวต่อเนื่องด้วยอัตราการเติบโตประมาณ 6.0-7.0% จากปีก่อน ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ 6.0% โดยยังต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันหลายด้าน อาทิ
– ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหนี้ครัวเรือนและสังคมสูงอายุ ทำให้ตลาดลูกค้าใหม่ที่มีศักยภาพแคบลง โดยเทรนด์การก่อหนี้ของคนรุ่นใหม่ที่เริ่มจากสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน หรือรถยนต์ ในขณะที่ราคาที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ โดยเฉพาะในพื้นที่ตามเส้นทางขนส่งมวลชนที่ได้รับความนิยมในหมู่ผู้ซื้อยังคงมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยไม่ต่ำกว่าปีละ 5% ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ทำให้ความสามารถในการก่อหนี้ก้อนใหญ่อย่างเช่นสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยถูกเลื่อนออกไป
– สถาบันการเงินยังคงระมัดระวังกับประเด็นปัญหาคุณภาพหนี้ โดยสัดส่วนเอ็นพีแอลที่เพิ่มขึ้นในช่วงระหว่างปี 2560 นี้ โน้มเอียงไปทางกลุ่มวงเงินสินเชื่อสูงตั้งแต่ 20 ล้านขึ้นไป มากกว่าที่อยู่อาศัยที่มีวงเงินระดับล่างและกลาง ซึ่งเชื่อมโยงกับผู้กู้ที่เป็นผู้ประกอบการที่กำลังเผชิญปัญหาสภาพคล่องทางธุรกิจที่เห็นได้จากเอ็นพีแอลของสินเชื่อเอสเอ็มอีที่อยู่ในช่วงขาขึ้นในช่วงระหว่างปี
– พ.ร.บ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฯ อาจมีผลต่อความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะลูกค้าที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยมากกว่า 1 หลัง และผู้ที่ต้องการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ ที่จะทำให้มีภาระจะต้องเสียภาษีเพิ่มเติม
– มาตรฐานการรายงานทางการเงิน เรื่องเครื่องมือทางการเงิน ซึ่งจะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2562 ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสินเชื่อในภาพรวมและสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย
– FinTech ซึ่งเป็นตัวช่วยผู้บริโภคเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์ระหว่างสถาบันการเงิน ไปจนถึงการสร้างกลไกเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคเลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรีไฟแนนซ์ในเงื่อนไขที่ดีที่สุด จะเป็นตัวกระตุ้นให้การแข่งขันในตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันด้านราคา
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าบรรยากาศเศรษฐกิจที่ดีขึ้นและการผลักดันอุปทานอสังหาริมทรัพย์ใหม่เข้าสู่ตลาดของผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์จะทำให้เห็นโอกาสทางธุรกิจของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ยังคงรักษาแรงส่งของการเติบโตไว้ได้ใกล้เคียงกับปีก่อน แต่ปัจจัยกดดันหลาย ๆ ด้าน ยังคงทำให้ผู้ประกอบการต้องมุ่งเน้นกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ และ/หรือมีฐานรายได้ค่อนข้างสูง โดยเฉพาะลูกค้าบุคคลกลุ่มที่มีรายได้ประจำ ในวงเงินสินเชื่อที่สูงกว่า 3 ล้านบาท ที่ยังถูกมองว่ามีความสามารถในการชำระหนี้อยู่ในเกณฑ์ดี