Circle Line สายสีน้ำเงิน พลิกโฉมจรัญสนิทวงศ์ให้ใกล้เมืองยิ่งขึ้น

Circle Line สายสีน้ำเงิน พลิกโฉมจรัญสนิทวงศ์ให้ใกล้เมืองยิ่งขึ้น

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

‘รถไฟฟ้า’ ถือเป็นปัจจัยที่ยกระดับแต่ละทำเลที่รถไฟฟ้าพาดผ่านให้สามารถเชื่อมต่อใจกลางเมือง รวมทั้งทุกมุมเมืองของกรุงเทพฯ ไปจนถึงจังหวัดอื่น โดยรถไฟฟ้าสายล่าสุดที่เตรียมเปิดให้บริการที่กำลังจะเปลี่ยนโฉมย่านฝั่งธนบุรีไปจากเดิม คือ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง และบางซื่อ-ท่าพระ ซึ่งเมื่อรวมกับรถไฟฟ้า MRT หรือรถไฟฟ้าใต้ดินสายปัจจุบันจะกลายเป็นวงแหวนหรือ Circle Line ขนาดใหญ่เชื่อมต่อทุกมุมเมือง โดยทำเลหนึ่งที่น่าสนใจย่านฝั่งธนบุรีและกำลังถูกพลิกโฉมให้เป็นทำเลศักยภาพมากยิ่งขึ้นในอนาคตทั้งด้านการคมนาคมขนส่ง สิ่งอำนวยความสะดวก และด้านที่อยู่อาศัยคือ “ทำเลจรัญสนิทวงศ์”
กระชับทุกเส้นทางรอบกรุงเทพฯ เชื่อมต่อกลางกรุงและทุกมุมเมือง
สำหรับคนกรุงเทพฯ คงเป็นที่ทราบกันดีว่าการเดินทางในกรุงเทพฯ นั้นทุกนาทีมีคุณค่ามากแค่ไหน ดังนั้น ทำเลที่มีการคมนาคมเชื่อมต่อถนนได้หลายสาย ทางด่วน และรถไฟฟ้า จึงมักเป็นปัจจัยอันดับต้นๆ ของการเลือกที่อยู่อาศัย โดยทำเลจรัญสนิทวงศ์ ถือเป็นอีกหนึ่งทำเลศักยภาพที่สามารถเชื่อมต่อใจกลางเมือง มุมเมืองอื่นของกรุงเทพฯ และย่านปริมณฑล ได้อย่างสะดวกสบาย
ไปไหนก็ใกล้มากขึ้นด้วยรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน
รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ถือเป็นรถไฟฟ้าสายสำคัญที่เชื่อมต่อใจกลางเมืองกับฝั่งธนบุรีให้ใกล้มากกว่าขึ้นกว่าเดิม ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ภายในปี 2563 ค่าโดยสารเริ่มต้น 16 บาทและสูงสุด 42 บาท ถือเป็นรถไฟฟ้าสายแรกที่ถูกออกแบบให้เป็น “วงแหวน” หรือ Circle Line เหมือนกับรถไฟในหลายประเทศชั้นนำของโลก ซึ่งวงแหวนรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินจะเชื่อมต่อการเดินทางของรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-หลักสอง ที่สถานีท่าพระ รวมกับรถไฟฟ้า MRT ช่วงบางซื่อ-หัวลำโพง และคาดว่าจะมีศักยภาพมากกว่ารถไฟฟ้าสายอื่นๆ เนื่องจากพาดผ่านพื้นที่สำคัญๆ มากมาย โดยมีจุดเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายอื่นดังนี้
– เชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีสีลม (สถานีศาลาแดงของรถไฟฟ้า BTS)
– เชื่อมต่อรถไฟฟ้า BTS ที่สถานีสุขุมวิท (สถานีอโศกของรถไฟฟ้า BTS)
– เชื่อมต่อรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ที่สถานีเพชรบุรี (สถานีมักกะสันของรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์)
– เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย
– เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ที่สถานีลาดพร้าว (สถานีรัชดาของรถไฟฟ้าสายสีเหลือง)
– เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีม่วง ที่สถานีเตาปูน
เข้าเมือง-เมกะโปรเจกต์ได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนสาย
จากการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าเป็นวงกลมสายแรกของประเทศไทยทำให้เกิดการเดินทางเชื่อมต่อถึง 2 ไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตเข้าด้วยกัน แบ่งเป็นฝั่งเข้าเมืองสามารถเดินทางเข้าสู่ใจกลางเมืองและโครงการเมกะโปรเจกต์มากมายทั้งปัจจุบันและอนาคตของทั้งภาครัฐและเอกชนโดยไม่ต้องเปลี่ยนสาย อาทิ ย่าน New CBD หรือศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ใจกลางเมืองอย่างพระราม 9 รัชดาภิเษก ที่เป็นแหล่งงานและมีโครงการแลนด์มาร์กขนาดใหญ่อย่าง Super Tower ผ่านย่านมักกะสันที่กำลังจะมีการพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ ย่านอโศกที่เป็นทั้งแหล่งงานและแหล่งรวมไลฟ์สไตล์ใจกลางกรุงเทพฯ ย่าน CBD อย่างสีลมและสาทร
ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางของการขนส่งระบบรางที่สามารถเชื่อมต่อทุกมุมเมืองของกรุงเทพฯ ปริมณฑล และต่างจังหวัด เชื่อมต่อรถไฟฟ้าหลากสี ได้แก่ สายสีน้ำเงิน สายสีม่วง สายสีแดงเข้ม และสายสีแดงอ่อน และยังเป็นสถานีต้นทางของรถไฟฟ้าความเร็วสูง 2 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ-หนองคาย รวมทั้งยังมีส่วนต่อขยายแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ 5 สถานี จากสถานีพญาไทเชื่อมต่อไปยังสนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และในอนาคตถึงสนามบินอู่ตะเภา
นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาที่ดินรอบสถานีรถไฟในรูปแบบมิกซ์ยูสซึ่งประกอบด้วยห้างสรรพสินค้า โรงแรม อาคารสำนักงาน ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า ที่อยู่อาศัย โดยจะถูกพัฒนาเป็นเมืองอัจฉริยะต้นแบบ (Smart City) และพื้นที่ใกล้เคียงยังมีการก่อสร้างรัฐสภาแห่งใหม่ โครงการพื้นฐานอื่นๆ อาทิ สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งใหม่ การขยายช่องทางจราจร การก่อสร้างถนนเพิ่มเติม รวมถึงศูนย์การค้าเกตเวย์ บางซื่อ