#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
ในยามจำเป็นที่ต้องใช้เงิน ควรเลือกกู้เงินในระบบ เช่น การเลือกใช้บัตรกดเงินสด บัตรเครดิต เพราะการกู้นอกระบบจะมีอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่ามาก
คนเรามีโอกาสประสบกับเหตุการณ์ที่ทำให้ต้องใช้เงินแบบเร่งด่วน ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือตนเองเจ็บป่วยต้องเข้ารับการรักษาพยาบาล เกิดภัยธรรมชาติต้องใช้เงินซ่อมบ้าน ซ่อมรถ (บทความที่คุณอาจสนใจ: เตรียมเอกสารขอสินเชื่อเพื่อสร้างบ้าน ต่อเติม ซ่อมบ้าน ด้วยตนเองง่ายๆ) หรือแม้กระทั่งตกงานขาดรายได้ หากต้องประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้ แล้วเงินออมที่เก็บไว้มีไม่เพียงพอ ก็จำเป็นต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาใช้จ่าย ซึ่งหลายคนมักจะนึกถึงเงินกู้นอกระบบ เพราะหยิบยืมง่าย แต่อย่าลืมว่าเงินกู้นอกระบบมีดอกเบี้ยที่สูงมาก อาจสูงถึง 20% ต่อเดือน หรือ 240% ต่อปีเลยทีเดียว ดังนั้น หากจำเป็นต้องกู้เงินในยามฉุกเฉิน ขอแนะนำให้เป็นการกู้เงินในระบบ ซึ่งแหล่งเงินกู้ยามฉุกเฉินที่ K-Expert ธนาคารกสิกรไทยขอแนะนำมีดังนี้
บัตรกดเงินสด (Emergency Cash Advance)
บัตรกดเงินสดเป็นบัตรที่ให้วงเงินกู้สำหรับการกดเงินสด ข้อดีคือ กรณีมีความจำเป็นต้องการใช้เงินด่วน สามารถเบิกถอนเงินได้ง่ายที่ตู้เอทีเอ็ม โดยทั่วไป การกดเงินที่ตู้เอทีเอ็มของสถาบันการเงินผู้ออกบัตรจะไม่มีค่าธรรมเนียมในการกดเงิน สำหรับอัตราดอกเบี้ยของบัตรกดเงินสดจะอยู่ที่ 20-27% ต่อปี ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงิน โดยสามารถจ่ายคืนขั้นต่ำ 5% ของยอดใช้จ่าย ทั้งนี้ ดอกเบี้ยจากบัตรกดเงินสดจะเริ่มคิดเมื่อมีการกดถอนเงินออกมาใช้จ่าย ถ้ายังไม่มีการกดถอนเงิน จะยังไม่เสียดอกเบี้ยหรือค่าธรรมเนียม ดังนั้น การทำบัตรกดเงินสดติดตัวไว้เป็นทางเลือกหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนยามต้องการใช้เงินฉุกเฉินได้
บัตรเครดิต (Credit Card)
บัตรเครดิตเป็นบัตรที่ช่วยให้ชีวิตมีความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย ไม่ต้องพกเงินสดจำนวนมาก เพราะยังไม่ต้องจ่ายเงินสดออกไปก่อน และค่อยชำระเงินในภายหลัง จึงจัดเป็นแหล่งเงินยามฉุกเฉินทางหนึ่ง โดยถ้าเรามีความจำเป็นต้องซื้อสินค้า หรือบริการใดๆ เช่น ซื้ออาหารหรือเสื้อผ้าที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน หรือต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล แต่เงินออม ณ ขณะนั้นมีไม่เพียงพอ หากร้านค้าหรือผู้ประกอบการนั้นๆ รับบัตรเครดิต เราสามารถจ่ายชำระค่าสินค้าหรือบริการด้วยบัตรเครดิตก่อนได้ และถ้าเราสามารถชำระค่าสินค้าหรือบริการได้ภายในวันที่ครบกำหนดชำระเงิน ก็จะไม่ต้องเสียดอกเบี้ย โดยทั่วไปจะมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยประมาณ 45-55 วัน ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินผู้ออกบัตร นอกจากนี้ บัตรเครดิตยังมีคุณสมบัติของการเป็นแหล่งเงินยามฉุกเฉินอีกข้อหนึ่ง คือ ผู้ถือบัตรสามารถกดเงินสดจากบัตรเครดิตได้ ทั้งนี้ บัตรเครดิตจะคิดค่าธรรมเนียมในการกดเงินสดอยู่ที่ 3% ของยอดเงินที่กด จึงแนะนำว่าหากจำเป็นต้องกดเงินสด ควรใช้เป็นบัตรกดเงินสด เนื่องจากไม่มีค่าธรรมเนียมในการกดเงิน สำหรับอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตจากการค้างชำระค่าสินค้า หรือชำระคืนเพียงบางส่วน รวมถึงการกดเงินสดจะอยู่ที่ประมาณ 18% ต่อปี
หากจำเป็นต้องใช้เงินด่วน เราสามารถกู้ยืมเงินจากแหล่งเงินกู้ที่แนะนำได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อป้องกันปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และต้องมีภาระดอกเบี้ยจ่ายจากการกู้เงิน ขอแนะนำให้มีการเก็บออมเงินในสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง เช่น บัญชีเงินฝากออมทรัพย์ เงินฝากประจำเผื่อฉุกเฉิน หรือกองทุนรวมตราสารหนี้ระยะสั้นที่สามารถไถ่ถอนได้ทุกวันทำการ ประมาณ 6 เท่าของค่าใช้จ่ายต่อเดือน เพราะหากเกิดเหตุการณ์ที่ต้องใช้เงินอย่างเร่งด่วน จะได้นำเงินออมส่วนนี้ออกมาใช้จ่ายได้ทันทีที่ต้องการ