#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
ตลาดอสังหาฯ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในโครงการประเภทคอนโดมิเนียมกำลังอยู่ในจุดที่เฟื่องฟูอย่างมาก ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจและการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตามหัวเมืองใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างรถไฟฟ้าหลายสายพร้อมๆ กันในเขตกรุงเทพ ดังเห็นได้จากอุปสงค์ความต้องการที่ขยายตัวขึ้น จากเพียง 2 แสนกว่ายูนิตในปี 2013 มาเป็น 3 แสนกว่ายูนิตในปี 2016 โดยระหว่างปีเหล่านั้น อัตราการจำหน่ายต่อยูนิตของคอนโดมิเนียม อยู่ที่ 70 75% มาตลอด โดยอุปสงค์ส่วนใหญ่ล้วนแต่มาจากชาวต่างชาติ ดังจะเห็นได้จากยอดซื้อคอนโดมิเนียมของชาวต่างชาติ ที่เพิ่มปริมาณขึ้นอย่างมหาศาลถึง 700% ภายในปี 2012 2017
ดูแนวโน้มราคาอสังหาฯ ในกรุงเทพฯ
อุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น เป็นกลไกผลักดันให้อุปทานกระโดดขึ้นตาม พร้อมกับการแข่งขันที่สูงขึ้น ต่างฝ่ายต่างมุ่งพัฒนาโครงการของตนในด้านคุณภาพ และเริ่มพัฒนาโครงการที่เจาะไปในตลาดบนมากขึ้น แน่นอนนั่นผลักดันให้ราคาตลาดของคอนโดมิเนียมสูงขึ้น ส่งผลต่อมาถึงโครงการในตลาดล่าง ที่มีราคาสูงขึ้นไปด้วย
การแข่งขันที่สูงขึ้นเช่นนี้ เป็นเหตุให้ธุรกิจอสังหาฯ หลายบริษัท ต่างเริ่มมองหาทางเลือกและทางรอดในการพัฒนาโครงการต่างๆขึ้นมา เพราะแม้ว่าตลาดคอนโดมิเนียมกำลังเฟื่องฟูก็จริง แต่ก็มีปัจจัยแวดล้อมหลายด้านที่เต็มไปด้วยความเสี่ยงเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกำลังซื้อภายในประเทศที่ลดลง การซื้อที่เริ่มมีลักษณะเพื่อการอยู่อาศัยมากขึ้นกว่าเพื่อการลงทุน และการปล่อยกู้ของสถาบันการเงินที่เริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น
นั่นจึงเป็นเหตุให้บริษัทอสังหาฯ หลายแห่งเริ่มคิดถึงการพัฒนาโครงการของตนผ่านการร่วมลงทุนกับบริษัทอสังหาฯ อื่นๆ โดยเฉพาะบริษัทที่มาจากต่างประเทศ จนกลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ของธุรกิจอสังหาฯ ซึ่งในปี 2017 ที่ผ่านมา เฉพาะในกรุงเทพ มีถึง 52 โครงการด้วยกันที่เกิดขึ้นจากการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทอสังหาฯ สองบริษัทขึ้นไป เมื่อเทียบกับปี 2013 ที่มีเพียง 4 โครงการเท่านั้น
โดยพบว่าการร่วมลงทุนส่วนใหญ่นั้น เป็นการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย กับบริษัทจากต่างประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นบริษัทสัญชาติญี่ปุ่น จีน และสิงคโปร์ตามลำดับใครคือผู้ใหญ่สร้างบ้าน? และทำไมถึงต้องคบ?
เมื่อจำแนกออกมา เราจะพบว่าบริษัทอสังหาฯ จากต่างประเทศที่มาร่วมลงทุนกับบริษัทไทยส่วนใหญ่นั้น เป็นบริษัทจากญี่ปุ่นเสียเป็นส่วนใหญ่ แม้จะมาเพียง 8 บริษัท แต่ก็มีมูลค่าการลงทุนที่สูงที่สุดอย่างไม่มีบริษัทจากประเทศไหนเทียบได้ ด้วยมูลค่าการลงทุนกว่า 2 แสนล้านบาท ตามมาด้วยบริษัทจากประเทศจีนที่แม้จะยกโขยงมากันถึงเกือบ 20 แห่ง แต่ก็มีมูลค่าการลงทุนเพียง 1 แสนล้านบาทเท่านั้น ส่วนบริษัทจากสิงคโปร์ที่ครองอันดับสามการร่วมลงทุนในไทย มาเพียง 2 บริษัทพร้อมกับมูลค่าการลงทุนเพียงประมาณ 25,000 ล้านบาทเท่านั้น
สำหรับบริษัทยักษ์ใหญ่จากต่างชาติเหล่านี้ ตลาดอสังหาฯ ในประเทศไทย คือแหล่งของโอกาสขนาดใหญ่ ด้วยความเป็นศูนย์กลางของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พร้อมกับโครงการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐานการค้าการลงทุนระหว่างประเทศที่กำลังผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด นั่นหมายความว่าประเทศไทยกำลังจะเป็นตลาดที่กว้างขวาง จากลูกค้าทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ
ขณะเดียวกัน บริษัทไทยเองก็ต้องการพัฒนาโครงการอสังหาฯ ของตนเองเพื่อรับมือกับการแข่งขันที่สูงขึ้น นั่นหมายถึงการพัฒนาโครงการด้วยนวัตกรรม ดีไซน์ และ know-how ใหม่ๆ เพื่อออกจากทางตันที่เริ่มตีบของตลาดอสังหาฯ ในประเทศ รวมทั้งเพื่อหาแหล่งเงินทุนใหม่ๆ ท่ามกลางสภาวะที่สถาบันทางการเงินของประเทศเริ่มใช้มาตรการที่เข้มงวดมากขึ้นในการปล่อยเงินกู้ ซึ่งเมื่อทั้งสองสิ่งนี้ไม่สามารถหาเจอได้ภายในประเทศ ก็จะต้องออกไปหามาจากข้างนอก
นั่นทำให้นับตั้งแต่ปี 2013 ที่ผ่านมา ได้มีการเปิดประเดิมโครงการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทอสังหาฯ ไทยกับต่างประเทศเกิดขึ้นเป็นครั้งแรก คือโปรเจกต์ร่วมลงทุนระหว่างอนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กับมิตซุย ฟูโดซันจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดเพิ่งได้มีการเปิดโปรเจกต์ใหม่มูลค่ากว่า 19,000 ล้านบาทไปในปี 2018 ที่ผ่านมานี้ โดยหากนับรวมตั้งแต่ปี 2013 ที่ผ่านมา ได้มีการลงทุนร่วมกันไปแล้วถึง 114,000 ล้านบาท
จากนั้นการร่วมลงทุนกับบริษัทยักษ์ใหญ่จากประเทศญี่ปุ่นจึงได้แพร่ขยายออกไป กลายเป็นเทรนด์ในธุรกิจอสังหาฯ ผู้ที่ตามเทรนด์มาอย่างติดๆ คือเอพี ที่ร่วมลงทุนกับมิตซูบิชิ เอสเตทในปี 2014 ตามมาด้วยวรลักษณ์ พร๊อพเพอร์ตี้ กับชินวะกรุ๊ปในปี 2016 จากนั้นในปี 2017 จึงตามมาด้วยเอพี, ออริจิ้น พร๊อพเพอร์ตี้, เสนา ดีเวลลอปเม้นท์, ออลล์ อินสไปร์ ดีเวลลอปเมนท์, พร๊อพเพอร์ตี้ เพอร์เฟกต์, และแสนสิริ ซึ่งต่างพากันตบเท้าหาคู่หูจากญี่ปุ่นเพื่อจับมือลงทุนร่วมกันเป็นแถวขบวน
บริษัทญี่ปุ่นเหล่านี้ไม่ใช่ธรรมดา เพราะล้วนแต่เป็นบริษัทที่มีประสบการณ์ความชำนาญด้านการพัฒนาอสังหาฯ ได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าต่างชาติ ด้วยดีไซน์ ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรมที่ญี่ปุ่นเลื่องชื่อลือชามาอยู่แล้ว การได้ขุมกำลังเหล่านี้มาเสริมทัพ จึงช่วยให้วงการธุรกิจอสังหาฯ ไทย เริ่มที่จะขยับสร้างความแตกต่างและยกระดับโครงการของตนเองให้สูงขึ้น
ส่วนการร่วมลงทุนกับประเทศจีนนั้น หัวขบวนหนีไม่พ้น ชาญอิสสระ ดีเวลลอปเมนท์ ซึ่งร่วมทุนกับจุนฟา เรียล เอสเตทและเทียนหยวน คอนสตรัคชั่น กรุ๊ป ร่วมพัฒนาโครงการต่างๆในภูเก็ตและเชียงใหม่อยู่ในขณะนี้ ซึ่งบริษัทจีนเหล่านี้เอง ส่วนใหญ่ล้วนแต่เข้ามาเพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าคนจีนในประเทศไทย ซึ่งเริ่มทยอยเข้ามาอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นจำนวนมากขึ้นกันเป็นหลัก
ขณะเดียวกันบริษัทจากสิงคโปร์ และไต้หวัน ก็เริ่มที่จะเข้ามาเจาะตลาดในประเทศไทยผ่านการร่วมลงทุนที่มากขึ้น แม้จะยังไม่เท่ากับการร่วมลงทุนของญี่ปุ่นและจีน แต่ก็ทำให้เห็นว่าการร่วมลงทุนระหว่างบริษัทไทยและต่างประเทศ เป็นเทรนด์ที่กำลังขยายตัวอย่างไม่มีทีท่าว่าจะซาลงไปในเร็วๆนี้
ทางเลือก-ทางรอดธุรกิจอสังหาฯ ไทย: ยุคสมัยแห่งการสร้างความแตกต่าง
ตลาดอสังหาฯ ไทยในปัจจุบัน แม้กำลังจะเติบโตเฟื่องฟุ้ง แต่ก็เป็นตลาดที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง อาจจะเรียกได้ว่าเป็นธุรกิจที่เริ่มส่อเค้าให้เห็นถึงทางตัน เพราะทุกคนต่างพัฒนาโครงการชนิดที่หาความแตกต่างแทบไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่เจาะตลาดบนหรือตลาดล่าง ด้วยดีไซน์คล้ายๆกัน ห้องแบบ 22-26-39-48 (ตรม.) คล้ายๆกัน สิ่งอำนวยความสะดวกคล้ายๆกัน การเลือกที่ตั้งด้วยปัจจัยคล้ายๆกันไปหมด ความ คล้ายๆกัน เหล่านี้
นอกจากจะส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ที่จะขาดความหลากหลายในการเลือกซื้อโครงการแล้ว ยังส่งผลเสียต่อตัวธุรกิจเอง ที่อาจนำไปสู่ภาวะล้นตลาดของอสังหาฯ แบบ คล้ายๆ กัน ได้ หรือกล่าวก็คือ มันได้สร้างทางตันขึ้นมาสำหรับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นตัวผู้พัฒนาหรือผู้บริโภคเอง
การพัฒนาโครงการอสังหาฯ ด้วยนวัตกรรมและมุมมองใหม่ๆจากข้างนอกบ้าน จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจสำหรับการสร้างความแตกต่าง สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นชาวไทยหรือชาวต่างชาติ ด้านบริษัทเองก็ได้พัฒนาโครงการ ให้มีการแข่งขันกันที่คุณภาพมากขึ้น
แน่นอนว่าวงการอสังหาฯ ไทย แม้จะเป็นยักษ์ใหญ่ที่อยู่ท่ามกลางโอกาสให้เก็บเกี่ยว แต่โอกาสที่ว่านั้น ก็เป็นโอกาสที่เริ่มจะ ตัน แล้วด้วยการแข่งขันที่เน้นไปในทางปริมาณมากกว่าคุณภาพ แต่ก็นับเป็นโชคดีที่เริ่มจะมีการปรับตัวด้วยการร่วมลงทุนกับยักษ์ใหญ่ของเอเชียรายอื่นๆ ที่ทำให้เราพอเห็นความหวังสำหรับทั้งวงการธุรกิจอสังหาฯ และสำหรับผู้บริโภคที่จะได้รับโครงการที่มีการพัฒนามากขึ้น