อสังหาฯ ปี (ไม่) หมู หนี้สูง-สต็อกเยอะ

อสังหาฯ ปี (ไม่) หมู หนี้สูง-สต็อกเยอะ

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

ตลาดอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 หรือปีหมู ดูเหมือนจะไม่หมูสมชื่อ จากหลากหลายปัจจัยที่ส่งผลทั้งทางตรงและทางอ้อม ไม่ว่าจะเป็นสภาพเศรษฐกิจ การส่งออก มาตรการทางการเงินของภาครัฐ และดอกเบี้ยขาขึ้น ซึ่งทำให้ภาพรวมของตลาดเริ่มส่งสัญญาณที่ต้องจับตามองหลายอย่าง โดย นายอนันต์ อัศวโภคิน อดีตประธานและกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์แอนด์เฮาส์ จำกัด (มหาชน) และผู้ก่อตั้งหลักสูตร The NEXT Real ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อสร้างระบบนิเวศภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ (Ecosystem) ให้ทรรศนะว่า ภาพรวมอสังหาริมทรัพย์ในปี 2562 จะเป็นอีกปีที่ ‘เหนื่อย’ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก-กลาง เนื่องจากตลาดเข้าสู่ภาวะชะลอตัววัฏจักรอสังหาฯ สู่ภาวะ ‘ซอฟท์แลนดิ้ง’
ทุก 8-10 ปี ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะก้าวเข้าสู่ภาวะชะลอตัว โดยในปี 2562 ถือเป็นปีที่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จะก้าวเข้าสู่ภาวะชะลอตัวแบบ ‘ซอฟท์แลนดิ้ง’ หรือการลดระดับการเติบโตแบบค่อยเป็นค่อยไป ไม่ได้เป็นลดรวดเร็วแบบ ‘ฮาร์ดแลนดิ้ง’ เหมือนกับปี 2540 ที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งสภาวะชะลอตัวในปีนี้เกิดขึ้นจากหลายปัจจัย เช่น สถาบันการเงินคุมเข้ม การปล่อยสินเชื่อเพื่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย (Pre-finance) น้อยลง ทำให้โครงการใหม่เปิดตัวน้อยลง ตลาดผู้ซื้อชาวต่างชาติชะลอตัวลง กำลังซื้อภายในประเทศไม่เติบโตในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตลาดคอนโดมิเนียมเริ่มมีสัญญาณโอเวอร์ซัพพลายในบางทำเลและมีอัตราการดูดซับช้าลง ทำให้ผู้ประกอบการมีหนี้เพิ่มขึ้น เนื่องจากสต็อกเหลือจำนวนมากแต่กำลังซื้อไม่มี ทำให้โอนกรรมสิทธิ์ไม่ได้
รายกลาง-เล็ก กู้ยาก ต้องวางแผนการเงิน
ภาพการแข่งขันในปี 2562 จะยังคงเป็นตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ ส่วนผู้ประกอบการรายกลางและเล็กจะอยู่ในตลาดได้ยากขึ้น เนื่องจากต้นทุนในการประกอบธุรกิจหลายอย่างนั้นสูงกว่าผู้ประกอบการรายใหญ่ โดยเฉพาะด้านแหล่งเงินทุน ซึ่งทางสถาบันการเงินมีความเข้มงวดมากขึ้น โดยไม่ปล่อยสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายเล็ก-กลาง แต่หันไปปล่อยให้กับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีความมั่นคงมากกว่าแทน แต่สิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการรายเล็ก-กลาง อยู่ได้ คือ ทำเลที่พัฒนาตรงกับความต้องการ ชูจุดขายไลฟ์สไตล์ และเน้นกลุ่มลูกค้าเรียลดีมานด์อย่างจริงจัง รวมทั้งต้องวางแผนทางการเงินให้ดี เพื่อไม่ให้กระทบต่อกระแสเงินสดของบริษัท
สินเชื่อบ้านเป็นหนี้เสียสูง เหตุผู้กู้ไร้วินัย
ในปี 2561 ตัวเลขหนี้ครัวเรือนยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูง ซึ่งสาเหตุหนึ่งมาจากการที่สถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อเกินเกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (Loan to Value: LTV) รวมทั้งมาตรฐานการปล่อยสินเชื่อลดลง เช่น ไม่มีเงินดาวน์ หรือการออมเงินก่อนกู้ ทำให้ผู้กู้ขาดวินัยทางการเงิน ไม่สามารถรับภาระในการผ่อนชำระในระยะยาวได้
ยืนยันไม่แย่เหมือนปี 40
สถานการณ์ไม่ได้เลวร้ายเหมือนปี 2540 ที่เกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง เนื่องจากตอนนั้นสถาบันการเงินปิดตัวไปหลายราย ทำให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ล้มตาม แต่ปัจจุบันสถาบันการเงินมีสภาพคล่องสูงมาก ดังนั้น ผู้ประกอบการควรเข้าไปหารือกับธนาคารตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาแทนที่จะรอให้เกิดวิกฤต เพื่อขอความช่วยเหลือและวางแผนร่วมกัน