#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านคมนาคม ปัจจุบันไม่ได้กระจุกตัวอยู่เพียงแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ยังขยายตัวไปสู่ต่างจังหวัดด้วย โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดที่มีการจราจรคับคั่ง ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2562 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ดำเนินกิจการรถไฟฟ้าใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พังงา ภูเก็ต และนครราชสีมา ซึ่งจะเปลี่ยนโฉมการคมนาคมในจังหวัดเหล่านี้ให้มีศักยภาพมากขึ้น
ผุดรถไฟฟ้าเมืองท่องเที่ยว แก้ปัญหาจราจร
การพัฒนาระบบขนส่งสาธารณะอย่างรถไฟฟ้าใน 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ พังงา ภูเก็ต และนครราชสีมา ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีความแออัดของประชากรค่อนข้างสูง มีปัญหาการจราจรหนาแน่น เนื่องจากเป็นจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และเป็นจังหวัดใหญ่ศูนย์กลางธุรกิจของประเทศ การสร้างระบรถไฟฟ้าจะช่วยลดปัญหาจราจร เพิ่มทางเลือกการเดินทางที่มีความสะดวกสบาย ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในจังหวัดดังกล่าว
รถไฟฟ้าเชียงใหม่ นำร่อง 1 เส้นทาง พัฒนาสู่เมืองอัจฉริยะ
เชียงใหม่จะมีการพัฒนารถไฟฟ้ารางเบา ซึ่งเป็นทั้งรถไฟฟ้าใต้ดินช่วงที่วิ่งผ่านในเมือง และรถไฟฟ้าบนดินวิ่งระดับผิวถนน ตามแผนมีเส้นทางการเดินรถทั้งหมด 3 เส้นทาง รวมระยะทาง 36 กิโลเมตร ได้แก่
สายสีแดง ช่วงโรงพยาบาลนครพิงค์-สนามบิน-หางดง ระยะทาง 12.54 กิโลเมตร มีทั้งหมด 12 สถานี
สายสีน้ำเงิน ช่วงสวนสัตว์เชียงใหม่-แยกห้างพรอมเมนาดา ระยะทางรวม 10.47 กิโลเมตร มีทั้งหมด 10 สถานี
สายสีเขียว ช่วงแยกรวมโชค-สนามบินเชียงใหม่ ระยะทางรวม 11.92 กม. มีทั้งหมด 13 สถานี
ในเส้นทางแรกคาดว่าจะใช้งบประมาณ 2.8 หมื่นล้านบาท โดยจะเริ่มก่อสร้างปี 2563 เสร็จสิ้นและเปิดให้ใช้บริการในปี 2567 ก่อนที่จะขยายเส้นทางที่ 2 และ 3 ต่อไป โดยคาดว่าทั้ง 3 เส้นทาง จะใช้งบลงทุนเกือบ 1 แสนล้านบาท ซึ่งจากการผลักดันให้มีการพัฒนาโครงการรถไฟฟ้าทั้ง 3 เส้นทาง นอกจากจะเพื่อรองรับการเดินทาง และแก้ปัญหาการจราจรแล้ว ยังเป็นการยกระดับการพัฒนาจังหวัดเชียงใหม่สู่เมืองอัจฉริยะ หรือ Smart City เมืองสุขภาพ Wellness City และ Medical Health Hub ซึ่งจะทำให้เชียงใหม่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ นำไปสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืน