#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ 44,041 ล้านบาท 35,971 บัญชี ดันยอดสินเชื่อคงค้างรวมที่ 1,128,493 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,866 ล้านบาท ล่าสุด ณ 30 เมษายน 2562 ปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 53,348 ล้านบาท คาดสิ้นไตรมาส 2 ปล่อยสินเชื่อใหม่ใกล้เคียงกับเป้าหมาย 6 เดือนที่ 100,000 ล้านบาท หลังภาครัฐออกมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติม พร้อมประกาศความสำเร็จในการนำระบบปฏิบัติงานหลัก GHB System ขึ้นใช้งานได้สำเร็จ โดยให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่อง รองรับการดำเนินธุรกิจได้อีกอย่างน้อย 10 ปี และเตรียมเดินหน้า 5 โครงการใหม่ 1.เปิดจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธอส. ประเดิมด้วยสลาก Premium ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท รวม 27,000 ล้านบาท 2.สินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Reverse Mortgage กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท 3.โครงการบ้านล้านหลัง ระยะ 2 เตรียมเปิดจองสิทธิสินเชื่ออีกครั้งกันยายนนี้ 4.โครงการ Virtual NPL รวบรวมที่อยู่อาศัยที่เป็น NPL ของธนาคารจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อช่วยให้ลูกค้าพ้นสภาพ NPL และ 5.ระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง รวมทรัพย์ NPA ของภาครัฐให้ประชาชนรับชมและเลือกซื้อผ่านออนไลน์
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยผลการดำเนินงาน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2562 ว่า ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 44,041 ล้านบาท 35,971 บัญชี โดยเป็นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนผู้มีรายได้น้อยและปานกลางได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในวงเงินกู้ไม่เกิน 2 ล้านบาท จำนวน 21,319 ราย คงบทบาทสำคัญในการสนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ต้องการให้คนไทยทุกคนมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย และหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,128,493 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.88% สินทรัพย์รวม 1,167,362 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.95% เงินฝากรวม 945,294 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.58% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 49,295 ล้านบาท คิดเป็น 4.37% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 0.03% โดยมีอัตราส่วนการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ (Provision to NPL) ที่ 166.81% เพิ่มขึ้น 9.60% มีรายได้ดอกเบี้ย 12,971 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ย 5,432 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 2,866 ล้านบาท และล่าสุด ณ วันที่ 30 เมษายน 2562 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้แล้ว 53,348 ล้านบาท โดยคาดว่าเมื่อถึง ณ สิ้นไตรมาส 2 ของปี 2562 การปล่อยสินเชื่อใหม่จะเพิ่มขึ้นไปใกล้เคียงกับเป้าหมาย 6 เดือน ที่ตั้งไว้จำนวน 100,000 ล้านบาท จากเป้าหมายปี 2562 ที่จำนวน 203,000 ล้านบาท ซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ อาทิ การลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สำหรับการซื้อบ้านพร้อมที่ดิน หรือคอนโดมิเนียมที่มีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท มาตรการลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองของที่อยู่อาศัยราคาซื้อขายไม่เกิน 1 ล้านบาท และวงเงินจำนองไม่เกิน 1 ล้านบาท รวมถึงนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ เพิ่มเติมของรัฐบาลที่คาดว่าจะทยอยประกาศในช่วงไตรมาสที่ 3-4 ของปี 2562 ซึ่งสินเชื่อที่อยู่อาศัยในช่วงครึ่งปีหลังของทุกปีจะเร่งตัวขึ้นจากครึ่งปีแรกตามภาวะการแข่งขันของตลาดที่อยู่อาศัย เพราะผู้ประกอบการจะจัดทำโปรโมชั่นเพื่อกระตุ้นยอดขายและปิดยอดให้ได้ตามเป้าหมายในช่วงดังกล่าว
นอกจากนี้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมา ธอส. ยังได้ประสบความสำเร็จในการนำระบบปฏิบัติงานหลัก GHB System ขึ้นใช้งาน (On Production) ทดแทนระบบเดิมที่ใช้งานมานานกว่า 10 ปี ได้สำเร็จตามกำหนดเมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2562 และสามารถให้บริการลูกค้าได้ต่อเนื่อง ทั้งนี้ GHB System ถือเป็นระบบที่ใหญ่ที่สุดและสำคัญที่สุดของธนาคาร ซึ่งบุคลากรของ ธอส. ทุกคนมีส่วนร่วมในการพัฒนาร่วมกับกลุ่ม SSS Consortium และไม่มีการจ้างที่ปรึกษา โดยใช้ระยะเวลาเพียง 18 เดือนจนแล้วเสร็จตามสัญญาจ้าง ซึ่ง GHB System จะสามารถรองรับการดำเนินธุรกิจของ ธอส. ไปได้อีกอย่างน้อย 10 ปี พร้อมรับกับการแข่งขันในธุรกิจสถาบันการเงิน การเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีและความต้องการของลูกค้าที่ต้องการความสะดวกรวดเร็วในการใช้บริการ โดยเฉพาะการยกระดับบริการดิจิทัลด้วยเทคโนโลยี ซึ่งภายในเดือนมิถุนายน 2562 ธนาคารมีกำหนดเริ่มให้บริการ Phase 2 ของ Mobile Application : GHB ALL ที่จะมีฟังก์ชั่นการให้บริการเพิ่มเติมประกอบด้วยการยื่นกู้สำหรับลูกค้าที่มีสวัสดิการกับธนาคาร บริการแจ้งเตือนให้ชำระหนี้ เชื่อมต่อกับระบบค้นหาและโปรโมชั่นพิเศษสำหรับผู้ซื้อทรัพย์ และการเชื่อมต่อกับระบบสะสมแต้ม Online ของลูกค้าเพื่อลุ้นรับของรางวัลต่างๆในโครงการ GHB Reward ซึ่งภายหลังจากที่เปิดตัวแอปพลิเคชัน GHB ALL เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2561 ล่าสุดมีลูกค้าดาวน์โหลดและลงทะเบียนใช้งานแล้วกว่า 100,000 ราย
สำหรับแนวทางในการดำเนินงานสำคัญในช่วงที่เหลือของปี 2562 ภายหลังจากพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ 4) พ.ศ.2562 ได้รับการประกาศในราชกิจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 17 เมษายน 2562 ซึ่งจะทำให้ธนาคารสามารถขยายขอบเขตการทำธุรกิจได้มากขึ้น โดยในขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำกฎกระทรวงเพื่อให้ดำเนินการในเรื่องที่เกี่ยวข้องได้ อาทิ การจำหน่ายสลากออมทรัพย์ ธอส. ซึ่งธนาคารได้เตรียมการออกสลากจำนวน 3 ชุด โดยชุดแรกที่จะเริ่มจำหน่ายได้แก่สลาก Premium ชุดวิมานเมฆ หน่วยละ 1 ล้านบาท จำนวน 27,000 ล้านบาท ออกรางวัลทุกวันที่ 16 ของเดือน จำนวน 27 รางวัล/เดือน รางวัลละ 200,000 บาท อายุสลาก 3 ปี ทำให้ผู้ถือสลากมีโอกาสลุ้นรางวัลถึง 972 รางวัล ทำให้มีโอกาสในการถูกรางวัลสูงถึง 0.1% และเมื่อฝากครบ 3 ปี จะให้ผลตอบแทนหน้าสลากสูงถึง 1.4% ต่อปี เทียบเท่ากับเงินฝากประจำหากถูกรางวัลเพียง 1 ครั้ง ผลตอบแทนเฉลี่ยต่อปีจะเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 8.07% ต่อปี และยังสามารถถือสลากต่อเพื่อมอบเป็นมรดกได้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถออกรางวัลครั้งแรกได้ในเดือนกันยายนนี้ ส่วนสลากอีก 2 ชุด คือ ราคาหน่วยละ 10 ล้านบาท จำหน่ายจำนวน 30,000 ล้านบาท และราคาหน่วยละ 500 บาท จำหน่ายอีกจำนวน 50,000 ล้านบาท อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนหลังจากจำหน่ายสลากออมทรัพย์ชุดวิมานเมฆแล้ว
ขณะเดียวกันพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ฉบับล่าสุดยังทำให้ธนาคารสามารถจัดทำสินเชื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุ Reverse Mortgage ภายใต้กรอบวงเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้สูงอายุที่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตนเองและปลอดภาระหนี้ สามารถนำมาจำนองกับธนาคารเพื่อรับเงินเป็นรายเดือน สำหรับการดำรงชีพเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น กำหนดพื้นที่นำร่องที่อยู่อาศัย(หลักประกัน)ต้องตั้งอยู่ในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล โดยธนาคารกำหนดให้กู้สำหรับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปแต่ไม่เกิน 80 ปี และต้องไม่เป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือเสมือนไร้ความสามารถ กู้ร่วมได้เฉพาะกับคู่สมรสตามกฎหมายหรือพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันที่มีกรรมสิทธิ์ในหลักประกันเดียวกัน วงเงินให้กู้สูงสุดไม่เกิน 50% ของราคาประเมินและสูงสุดไม่เกิน 10 ล้านบาท โดยไม่พิจารณารายได้ของผู้กู้ อัตราดอกเบี้ย 6.25% ต่อปีตลอดอายุสัญญากู้ ได้รับยกเว้นค่าธรรมเนียม 4 ฟรี 1.ค่าธรรมเนียมการยื่นกู้ (0.1% ของวงเงินกู้) 2.ค่าประเมินราคาหลักประกัน 3.ค่าจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรม (1,000 บาทต่อราย) และ 4.ค่าจดทะเบียนนิติกรรมจำนอง (1% ของวงเงินจำนอง) ระยะเวลาขอรับเงินได้นานสูงสุด 25 ปี หรือจนถึงผู้กู้อายุ 85 ปี ธนาคารจะจ่ายเงินให้ผู้กู้เป็นรายเดือน อาทิ วงเงินกู้ 2 ล้านบาท หากผู้กู้อายุ 65 ปี ระยะเวลาการกู้ 20 ปี จะได้รับเงินจากธนาคารเดือนละ 8,300 บาท
หากครบระยะเวลาการกู้ตามสัญญาแล้วสามารถขอชำระหนี้ปิดบัญชี โดยธนาคารจะคำนวณจำนวนเงินเท่ากับวงเงินกู้ที่ธนาคารจ่ายให้แก่ผู้กู้ทั้งหมดรวมกับดอกเบี้ยค้างรับ หรือ หากไม่สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีผู้กู้ยังมีสิทธิอยู่อาศัยต่อในหลักประกันเดิมได้ตลอดชีวิต หรือสามารถแจ้งความประสงค์ขอกู้เพิ่มได้ โดยขอรับวงเงินที่กู้เพิ่มได้นานสูงสุด 14 ปี และกรณีผู้กู้เสียชีวิตให้ถือว่าสัญญาสิ้นสุดลงธนาคารจะให้สิทธิแก่ผู้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้ในสัญญากู้สามารถชำระหนี้ปิดบัญชีเพื่อไถ่ถอนจำนองเพื่อรับกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยดังกล่าว แต่หากผู้รับผลประโยชน์ไม่ประสงค์ชำระหนี้ปิดบัญชี ธนาคารจะนำหลักประกันขายทอดตลาดต่อไป โดยผู้รับผลประโยชน์ไม่ต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนต่างหรือค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนต่างๆ แม้ราคาขายทอดตลาดจะต่ำกว่ายอดชำระหนี้ ส่วนกรณีราคาขายทอดตลาดสูงกว่ายอดชำระหนี้ธนาคารจะคืนเงินส่วนต่างให้ผู้รับผลประโยชน์หลังจากหักค่าใช้จ่ายในการดำเนินการส่วนต่าง ๆ แล้ว
ส่วนความคืบหน้าในการดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ซึ่งธนาคารเปิดรับคำขอกู้ตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2562 ล่าสุด ณ วันที่ 15 พฤษภาคม 2562 พบว่ามีลูกค้าประชาชนทยอยเดินทางเข้ามาติดต่อยื่นคำขอกู้รวมแล้วกว่า 7,300 ราย วงเงินกู้ 5,200 ล้านบาท และมีผู้ที่ได้รับการอนุมัติสินเชื่อแล้วกว่า 6,300 ราย วงเงินกู้ 4,300 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันธนาคารยังคงเร่งติดตามให้ผู้ที่มาจองสิทธิ์สินเชื่อเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2561 ทั้ง 127,000 รายเข้ามาติดต่อขอรับคำปรึกษากับเจ้าหน้าที่หรือยื่นกู้กับธนาคารให้ครบทุกรายภายในเดือนกรกฎาคม 2562 เพื่อไม่ให้เสียสิทธิ์การเข้าถึงสินเชื่อของโครงการบ้านล้านหลังที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยเพียง 3% ต่อปี คงที่นานสูงสุด 5 ปี สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 25,000 บาท และฟรีค่าธรรมเนียมถึง 4 ประเภท ก่อนที่จะเปิดจองสิทธิสินเชื่อโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ภายในเดือนกันยายนนี้ ซึ่งปัจจุบันธนาคารอยู่ระหว่างการรวบรวมและแนะนำผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่มีแผนก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 1 ล้านบาท มาเข้าร่วมโครงการให้ได้ไม่ต่ำกว่า 20,000 หน่วยต่อปี และเตรียมจัดทำผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ โดยมุ่งเน้นส่งเสริมกลุ่มผู้ที่เลี้ยงดูบุพการี ผู้มีรายได้น้อย และคนวัยทำงานหรือกำลังเริ่มต้นสร้างครอบครัวได้มีบ้านเป็นของตนเอง และอาจขยายระยะการผ่อนชำระให้นานสูงสุดถึง 50 ปี เพื่อลดภาระในการผ่อนรายเดือนให้กับผู้กู้ต่อไป
นอกจากนี้ ธนาคารยังมีแผนจัดทำโครงการ Virtual NPL เพื่อช่วยเหลือลูกค้าธนาคารที่ประสบปัญหาด้านรายได้จนทำให้ไม่สามารถผ่อนชำระเงินกู้ได้ตามปกติและกลายเป็น NPL ของธนาคาร โดยโครงการดังกล่าว ธอส. จะเปรียบเสมือนศูนย์กลางในการรวบรวมที่อยู่อาศัยที่เป็น NPL ของธนาคารเพื่อจำหน่ายให้แก่ประชาชนทั่วไปสามารถเข้ามาดูข้อมูลและเลือกซื้อที่อยู่อาศัยในราคาที่ธนาคารกำหนดโดยได้รับความยินยอมจากผู้กู้เดิมของธนาคารแล้ว และเมื่อสามารถจำหน่าย NPL ได้แล้ว เงินที่ธนาคารได้รับจากผู้ซื้อจะถูกนำไปหักหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงค้างทั้งหมดให้แก่ผู้กู้เดิมของธนาคาร จึงทำให้ผู้กู้เดิมสามารถปลดภาระหนี้รวมถึงเป็นหนึ่งในมาตรการใหม่จากปัจจุบันที่มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่เป็น NPL อยู่แล้ว 13 มาตรการ ซึ่งจะช่วยลด NPL ของธนาคารลงให้อยู่ในระดับเป้าหมายที่ไม่เกิน 4% ของสินเชื่อคงค้างในสิ้นปี 2562
และภายในเดือนกันยายน 2562 ศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ยังมีกำหนดเปิดตัวโครงการ ระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง ซึ่งถือเป็นโครงการที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติงบประมาณดำเนินโครงการเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2561 ในการพัฒนาระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสอง โดยใช้เงินกองทุนพัฒนาระบบสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จำนวน 31.1 ล้านบาท เพื่อสร้างระบบฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์มือสองที่แสดงอุปสงค์และอุปทานของตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสอง สร้างตลาดเสมือนจริง (Digital Virtual Market) สำหรับอสังหาริมทรัพย์มือสอง เพื่อสร้างช่องทางกลางในการซื้อขายและสร้างให้มีสภาพคล่องในตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสอง ที่จะช่วยกระตุ้นอุปสงค์ของตลาดบ้านใหม่ด้วยการเปลี่ยนที่อยู่อาศัยให้เป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง และนำข้อมูลที่ได้จากระบบฐานข้อมูล มาประมวลและวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดอสังหาริมทรัพย์มือสองเพื่อการกำหนดและทบทวนนโยบายในการพัฒนาตลาดที่อยู่อาศัยและเศรษฐกิจผ่านภาคอสังหาริมทรัพย์ได้ต่อไปซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนของการจัดทำบันทึกความร่วมมือในการจัดทำโครงการและจัดส่งข้อมูลทรัพย์รอการขายเข้ายังฐานข้อมูล เพื่อให้เป็นศูนย์รวมทรัพย์ NPA ของหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด ทั้งของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) ทั้ง 7 แห่ง รวมถึงธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) บริษัท บริหารสินทรัพย์กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด (SAM) และกรมบังคับคดี ควบคู่ไปกับการพัฒนา Software ของระบบ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถเลือกซื้อทรัพย์ NPA ผ่านทางเว็บไซต์รวมถึง Application บนโทรศัพท์เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายและรวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย