#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
หนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่ต้องการหนุนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตยิ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดคือ โครงการการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) หรือที่เรียกกันว่า EEC ซึ่งเป็นแผนยุทธศาสตร์ในโปรเจ็กต์ไทยแลนด์ 4.0 ที่สืบเนื่องมาจากความสำเร็จของแผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Seaboard) ที่ได้ดำเนินการมาอย่างยาวนานกว่า 30 ปี
EEC กับการพัฒนารอบด้าน คมนาคม-อุตสาหกรรม
EEC ถือเป็นเฟสใหม่ของการต่อยอดเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของเมืองขยายออกสู่ 3 จังหวัดในแถบภาคตะวันออกอย่างฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าทั้ง 3 พื้นที่ดังกล่าวเป็นแหล่งอุตสาหกรรมขนาดใหญ่และการคมนาคมขนส่งที่สำคัญของประเทศ นอกจากนี้ยังไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จึงถูกกำหนดให้เป็นพื้นที่นำร่องในหลาย ๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาขนส่งระบบรางและการบินที่ทันสมัย สนับสนุนนวัตกรรมเพื่อประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้สิทธิ์เอกชนที่มีความพร้อมเข้ามาร่วมลงทุนในเขตพื้นที่ภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด เช่น
โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา
โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังและมาบตาพุด
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน
โครงการพัฒนาเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล
ไม่เพียงแต่การพัฒนาด้านอุตสาหกรรมและนวัตกรรมต่าง ๆ แต่เพียงเท่านั้น แต่ภาคตะวันออกยังถูกวางให้เป็นพื้นที่รองรับการอยู่อาศัยของประชากรที่เริ่มขยับขยายเข้าสู่พื้นที่นี้อย่างต่อเนื่อง มีทั้งแรงงาน นักลงทุนและนักท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก โดยมีประชากรเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8-10% ต่อปี และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างต่อเนื่องในอนาคต
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตจังหวัดฉะเชิงเทราซึ่งอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ เดินทางสะดวกโดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงกว่า ๆ เท่านั้น ทำให้กลายเป็นจังหวัดที่เต็มไปด้วยแหล่งงานมากมายทั้งรูปแบบนิคมอุตสาหกรรมและอาคารสำนักงาน
ฉะเชิงเทราแหล่งงานขนาดใหญ่ หนุนประชากรเพิ่ม
ปัจจุบันจังหวัดฉะเชิงเทราเป็นที่ตั้งของนิคมอุตสาหกรรมมากถึง 5 แห่งด้วยกัน อันได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมเวลโกรว์, นิคมอุตสาหกรรมเกตเวย์, นิคมอุตสาหกรรมที เอฟ ดี, นิคมอุตสาหกรรม 304 ปาร์ค 2 ฉะเชิงเทรา และนิคมอุตสาหกรรม สวนอุตสาหกรรมวินโคสท์ รวมพื้นที่มากกว่า 500 ไร่
เรียกได้ว่า ฉะเชิงเทรา เป็นศูนย์รวมที่ตั้งของบรรดาโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์ ยานยนต์และอาหารแปรรูป พร้อมเส้นทางการขนส่งที่สะดวกรวดเร็วผ่านเส้นทางคมนาคมบนบก ทางน้ำและอากาศ หากในอนาคตโครงการ EEC ได้ถูกพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น ยิ่งจะสนับสนุนให้ภาคอุตสาหกรรมและขนส่งเติบโตมากกว่าเดิม นำไปสู่การเคลื่อนย้ายแรงงานเข้าสู่พื้นที่นี้เพิ่มกว่า 200,000 คน จากสถิติปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 700,000 คน
ทั้งนี้ จังหวัดฉะเชิงเทราได้อยู่ภายใต้แผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน EEC นำโดยคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกได้ร่วมมือกับหน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น มุ่งเน้นให้หลายพื้นที่ของจังหวัดฉะเชิงเทรากลายเป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนอย่างรอบด้าน พร้อมเป็นหนึ่งในเส้นทางที่รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) พาดผ่านอีกด้วย
ผลพลอยได้ของคนภาคตะวันออก หลังประกาศใช้ พ.ร.บ. EEC
อสังหาฯ ฉะเชิงเทราโตตามศักยภาพทำเล
การเติบโตของจังหวัดฉะเชิงเทราได้สะท้อนผ่านแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ ข้างต้น ส่งผลต่อการขยับขึ้นของราคาที่ดินและที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ อย่างมีนัยสำคัญ จากปัจจุบันที่ดินริมถนนสายหลักมีการซื้อขายกันสูงถึงไร่ละ 12-25 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับหลายปีก่อนหน้านี้ คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้เมื่อโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในจังหวัดฉะเชิงเทราถูกสร้างขึ้นตามแผนงาน ย่อมส่งผลต่อระดับราคาที่ดินปรับขึ้นตามอย่างแน่นอน
นอกจากนี้ ตลาดที่อยู่อาศัยประเภทต่าง ๆ ยังได้รับอานิสงส์จากการเติบโตตามราคาที่ดิน สอดคล้องไปกับการเข้ามาของกลุ่มดีมานด์ใหม่ ๆ ที่ต้องการที่อยู่อาศัยในเขตภาคตะวันออก ใกล้แหล่งงานและสถานที่ท่องเที่ยว ปัจจุบันมีบรรดาเหล่าดีเวลลอปเปอร์ทั้งรายเล็กและรายใหญ่เข้ามาพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดนี้กันอย่างคึกคัก