#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
จากรายงานภาวะสังคมไทย ไตรมาสหนึ่งปี 2562 โดยสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ชี้ให้เห็นถึงหนี้สินครัวเรือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยไตรมาส 4 ปี 2561 หนี้สินครัวเรือนเท่ากับ 12.8 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6% และคิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพี เท่ากับ 78.6% เพิ่มขึ้นเป็นไตรมาสที่สองติดต่อกัน และเมื่อเทียบกับต่างประเทศ พบว่าประเทศไทยมีสัดส่วนหนี้สินครัวเรือนต่อจีดีพีอยู่ในอันดับที่ 10 จาก 89 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 3 จาก 29 ประเทศในเอเชีย
สำหรับไตรมาสแรกปี 2562 หนี้สินครัวเรือนยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยพิจารณาจากยอดคงค้างสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภคส่วนบุคคลของธนาคารพาณิชย์ขยายตัว 10.1% สูงสุดในรอบ 5 ปี นับตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2557 เป็นต้นมา
จากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นและภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา อาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการจับจ่ายใช้สอยและความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน รวมทั้งมีหลายประเด็นที่ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ได้แก่
1. การก่อหนี้เพื่อที่อยู่อาศัยของครัวเรือนภายหลังการบังคับใช้มาตรการกำกับดูแลสินเชื่อใหม่ โดยคาดว่าจะมีแนวโน้มชะลอตัวลง และทำให้หนี้สินครัวเรือนเพิ่มขึ้นในอัตราชะลอตัว เนื่องจากสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเป็นสัดส่วนประมาณ 49.9% ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคล
2. การขยายตัวของสินเชื่อเพื่อการบริโภคส่วนบุคคลอื่น ๆ รวมถึงบัตรเครดิตอาจมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ภาครัฐยังควรให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อกำกับดูแลและควบคุมการปล่อยสินเชื่อให้รัดกุมและมีความเหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้
– การออกแบบมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อเพื่อลดความเสี่ยงจากการปล่อยกู้ให้กับกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับสัดส่วนภาระหนี้ต่อรายได้ (DSR)
– การออกมาตรการกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ เนื่องจากคุณภาพของสินเชื่อรถยนต์ที่มีแนวโน้มลดลง
– การติดตามมาตรการกำกับดูแลธุรกิจสินเชื่อที่มีรถยนต์เป็นหลักประกันให้ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเป็นธรรมและมีอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม
– การเร่งประชาสัมพันธ์โครงการคลินิกแก้หนี้ ระยะที่ 2
– การกำกับดูแลการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกหนี้รายเดิมและรายใหม่ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการก่อหนี้ครัวเรือนมากยิ่งขึ้น
แม้ความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยยังมีอยู่ แต่จากมาตรการต่าง ๆ และการคุมเข้มของธนาคารในการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้มีการปฏิเสธสินเชื่อ ส่งผลทางด้านจิตวิทยาให้เกิดการชะลอการตัดสินใจ ไม่ว่าจะซื้อเพื่ออยู่เองหรือซื้อเพื่อลงทุน และแน่นอนว่ากำลังซื้อที่ถดถอยนี้ย่อมกระทบผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ เนื่องจากมีอุปทานคงค้าง โดยเฉพาะคอนโดมิเนียมที่ยังต้องเร่งระบายออกก่อนจะโอเวอร์ซัพพลาย
Cr. DDproperty