ถกประเด็น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาแพง ปัญหาที่รอการแก้ไข

ถกประเด็น ค่าโดยสารรถไฟฟ้าราคาแพง ปัญหาที่รอการแก้ไข

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
สำหรับการตัดสินใจเลือกซื้อที่อยู่อาศัยประเภทคอนโดมิเนียมใกล้รถไฟฟ้า เหตุผลหลักคือเรื่องของการเดินทางที่สะดวก รวดเร็ว และประหยัดเวลา จากการโดยสารรถไฟฟ้าในชีวิตประจำวัน แต่ดูเหมือนว่าการประหยัดเวลานั้น ต้องแลกมากับการจ่ายค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่แพงเกินไป ค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทย ได้กลายได้เป็นกระแสถูกพูดถึงและถึงพูดถึงมากขึ้น หลังจากเว็บไซต์เดอะสตาร์ของมาเลเซีย เผยรายงานอ้างอิงจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI ซึ่งระบุว่า ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนของประเทศไทย มีค่าโดยสารที่แพงเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับผู้มีรายได้น้อย ผลศึกษาเปรียบเทียบต้นทุนค่าใช้จ่ายระบบขนส่งสาธารณะรอบกรุงเทพฯ และปริมณฑล ของ TDRI พบว่า ค่ารถไฟฟ้าในเมืองเมื่อวัดตามอำนาจดัชนีการซื้อ มีราคาค่อนข้างสูง หรือเฉลี่ย 28.30 บาท/คน/เที่ยว สูงกว่าของสิงคโปร์กว่า 50% ที่เฉลี่ยอยู่ที่ 13.3 บาท/คน/เที่ยว ส่วนฮ่องกงอยู่ที่ 16.78 บาท/คน/เที่ยว นอกจากนี้ ค่าโดยสารรถไฟฟ้าระบบรางของไทยยังสูงกว่าประเทศในภูมิภาคเอเชีย และมีค่าส่วนต่างค่าโดยสารระหว่างรถไฟฟ้ากับรถเมล์สูงที่สุด โดยไทยอยู่ที่ 67.4 บาท หรือ 2.14 ดอลลาร์สหรัฐ สิงคโปร์อยู่ที่ 25.73 บาท หรือ 0.83 ดอลลาร์สหรัฐ และฮ่องกงอยู่ที่ 46.5 บาท หรือ 1.5 ดอลลาร์สหรัฐ
วิเคราะห์ 2 สาเหตุสำคัญ ดันค่าโดยสารรถไฟฟ้าไทยพุ่ง
หากพิจารณาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่เปิดให้บริการในปัจจุบัน จะมีอัตราอยู่ระหว่าง 16-42 บาท ยังไม่รวมส่วนต่อขยายที่ต้องจ่ายเพิ่มอีก 15-21 บาท ยกตัวอย่างรถไฟฟ้าสายสีเขียวจากจังหวัดสมุทรปราการ ยาวมาถึงสถานีหมอชิตจะอยู่ที่ 59 บาท/เที่ยว เมื่อรวมทั้งขาไปและขากลับ จะต้องเสียค่าโดยสารรถไฟฟ้าวันละ 118 บาท รวมต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 3,000 บาท ยังไม่รวมค่ารถเมล์ ค่ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง ในกรณีที่ต้องนั่งต่อมาเพื่อขึ้นรถไฟฟ้า หมายความว่าค่าใช้จ่ายเพื่อการเดินทางต่อเดือนจะสูงกว่า 3,000 บาท
โดยค่าโดยสารรถไฟฟ้าของไทยที่มีราคาแพงนี้ จากการวิเคราะห์พบว่าเกิดจาก 2 ปัจจัยสำคัญ
1. รูปแบบการลงทุนส่วนใหญ่ให้เอกชนร่วมลงทุน (PPP) ซึ่งการลงทุนระบบขนส่งสาธารณะจะมีต้นทุนสูงและใช้เวลาคืนทุนนาน เช่น รถไฟฟ้าสายแรกสายสีเขียว ช่วงอ่อนนุช-หมอชิต และสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งมีบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงทุนทั้งหมด ในช่วงแรกของการเปิดให้บริการเกิดขาดทุน จนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูและเพิ่งมีกำไรในช่วงหลังปี 2552 ดังนั้น การกำหนดค่าโดยสารจึงตั้งตามต้นทุนที่เอกชนต้องแบก และเมื่อต้องนั่งรถไฟฟ้าหลายระบบ ต้องเสียค่าแรกเข้าและค่าโดยสารตามระยะทางของรถไฟฟ้าระบบนั้น ๆ อีกต่อหนึ่ง จึงทำให้ค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพง
2. รัฐไม่มีมาตรการส่งเสริมให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะที่เพียงพอ เช่น มาตรการเชิงบังคับจำกัดรถยนต์วิ่งเข้าเมือง จัดเก็บค่าเข้าเมืองในอัตราสูง เหมือนในต่างประเทศ อย่างกรุงลอนดอนของอังกฤษ หรือสิงคโปร์ ซึ่งมาตรการดังกล่าวจะทำให้ประชาชนหันมาใช้ระบบขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น โดยที่กรุงลอนดอนเห็นผลชัดเจน มีคนใช้รถไฟฟ้าเพิ่มขึ้นถึง 50% จากช่วงก่อนประกาศใช้มาตรการ
เตรียมเสนอ 7 มาตรการ ชงรัฐบาลใหม่
กรมขนส่งทางรางเตรียมเสนอ 7 มาตรการให้กระทรวงคมนาคมและรัฐบาลใหม่พิจารณา เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายของประชาชน ดังนี้
1.เปลี่ยนรูปแบบสัญญาสัมปทานจาก PPP net cost เป็น PPP gross cost
2.กำหนดกรอบราคาขั้นสูงของระบบ
3.กำหนดเงื่อนไขการเชื่อมต่อเพื่อให้ค่าโดยสารไม่สูงเกินไป
4.จัดตั้งคณะกรรมการร่วมระหว่างหน่วยงาน ด้านเศรษฐกิจและด้านคมนาคม ทำหน้าที่หลักในการกำหนดมาตรฐานอัตราค่าบริการ
5.ยกเว้นเก็บค่าแรกเข้ากรณีเดินทางข้ามระบบโดยเฉพาะรถไฟฟ้าสายใหม่ที่จะเปิด
6.มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า
7.อุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า โดยจะมีการพิจารณาแหล่งเงินหรือกองทุนที่เกี่ยวข้อง โดยปริมาณการอุดหนุนค่าใช้จ่ายการเดินทางด้วยรถไฟฟ้า เช่น จัดตั้งกองทุน หรือคนที่ใช้รถไฟฟ้าสามารถนำค่าโดยสารมาลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น ซึ่งจะมีการหารือร่วมกับกระทรวงการคลังต่อไป

จากนี้คงต้องรอว่าหลังการจัดตั้งรัฐบาลเรียบร้อย การปรับลดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าจะเป็นหนึ่งในแผนที่รัฐบาลนำมาพิจารณา เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางหรือไม่ เพราะถึงแม้ปัจจุบันจะเดินหน้าพัฒนาโครงข่ายคมนาคมให้ครอบคลุม แต่ถ้าประชาชนยังไม่สามารถเข้าถึงหรือต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่สูงในแต่ละเดือน ไม่เพียงแต่กระทบภาระทางการเงิน แต่ยังส่งผลต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ยอดขายคอนโดมิเนียมแนวรถไฟฟ้าอาจไม่ขยับ หากซื้อแล้วต้องแบกรับภาระค่าโดยสารรถไฟฟ้าแพงเช่นนี้ในระยะยาว
Cr.DDproperty