#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
นางกมลภัทร แสวงกิจ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศไทย DDproperty.com กล่าวว่า ภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไทยเวลานี้ยังมีความมั่นคงและยังเติบโตได้อีก ไม่มีแนวโน้มของการเกิดฟองสบู่ซ้ำรอยเดิม เนื่องจากผู้ประกอบการต่างเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และชะลอการเปิดตัวโครงการใหม่ แต่นำโครงการที่ก่อสร้างเสร็จแล้วแต่ยังขายไม่หมดมา Resale อีกครั้ง พร้อมทั้งจัดโปรโมชันลดราคาจำนวนมาก หรือให้เข้าอยู่ฟรี 2 ปีแล้วผ่อนดาวน์ทีหลัง ขณะเดียวกัน กลุ่มลูกค้าที่เป็น โอกาส คือชาวต่างชาติ ให้ความสนใจซื้อคอนโดมิเนียมในไทยเป็นจำนวนไม่น้อย ทั้งซื้อเพื่ออยู่อาศัยเองและซื้อเพื่อการลงทุน เนื่องจากประเทศไทยเป็นที่ที่มีความสะดวกในเรื่องของการลงทุนเป็นอย่างมาก เมื่อเทียบกับมาเลเซีย ที่กำหนดให้ชาวต่างชาติสามารถลงทุนซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในราคาไม่ต่ำกว่า 8-10 ล้านบาทขึ้นไปเท่านั้น ขณะที่ไทยมีงบแค่ 1-5 ล้านบาท สามารถลงทุนซื้อได้แล้ว จึงทำให้การจับจองเป็นเจ้าของคอนโดมิเนียมในไทยทำได้ง่ายกว่า
ชาวจีนซื้ออสังหาฯ ไทย แตะ 3.9 หมื่นล้าน
โดยข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ชาวจีนมีบทบาทในตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทยมากขึ้น ทั้งในรูปแบบของการซื้ออาคารชุดเพื่ออยู่อาศัย การเช่าอาคารสำนักงาน รวมถึงการลงทุนของผู้ประกอบการชาวจีนผ่านการร่วมทุนกับผู้ประกอบการชาวไทย โดยการซื้อที่อยู่อาศัยของชาวจีนในปี 2561 ขยายตัวจากปี 2560 ค่อนข้างมาก สะท้อนจากมูลค่าเงินโอนเพื่อซื้ออาคารชุดในไทยของชาวจีน ปี 2561 อยู่ที่ 39,178 ล้านบาท เร่งขึ้นจากปี 2560 ที่ 23,621 ล้านบาท (ขยายตัว 65.9% จากปีก่อน) โดยคิดเป็น 43% ของมูลค่าเงินโอนเพื่อซื้ออาคารชุดของชาวต่างชาติ และ 12% ของมูลค่าการโอนกรรมสิทธิ์อาคารชุดไทยทั้งประเทศ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่ 9% สัดส่วนมูลค่าที่สูงขึ้น สะท้อนให้เห็นว่า ผู้ซื้อชาวจีนมีบทบาทสำคัญต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ไทย โดยทำเลที่เป็นที่นิยมในหมู่ชาวจีน คือย่านศูนย์กลางธุรกิจในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ และพื้นที่แถบชายทะเลของพัทยาและภูเก็ต โดยเฉพาะโครงการที่มีการการันตีผลตอบแทน แม้ความต้องการที่อยู่อาศัยของลูกค้าชาวจีนจะเพิ่มขึ้น แต่ข้อมูลจากผู้ประกอบการและข้อมูลสถิติ พบว่ายังไม่มีสัญญาณฟองสบู่ หรือราคาอสังหาริมทรัพย์ ที่สูงผิดปกติในพื้นที่ดังกล่าว รวมทั้งยังไม่พบปัญหาการทิ้งใบจองจากลูกค้ารายย่อยที่ซื้อเพื่อลงทุนหรืออยู่อาศัยเอง ซึ่งอาจเป็นเพราะผู้ประกอบการเรียกเก็บเงินดาวน์จากชาวจีนในอัตราสูงถึง 25-30% ของราคาอาคารชุด ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินดาวน์ที่เก็บลูกค้าชาวไทยที่อยู่ในอัตราราว 10% เพื่อป้องกันความเสี่ยงในด้านนี้ไปบ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจพบปัญหาการทิ้งจองบ้างจากลูกค้านิติบุคคลจีนที่เข้ามาเหมาอาคารชุดเป็นชั้นหรือเป็นตึกเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวชาวจีน หรือเพื่อไปขายต่อชาวจีนเองโดยตรง แต่โดยรวมยังถือว่าเป็นส่วนน้อย
โดยจุดเด่นที่ทำให้อสังหาริมทรัพย์ของไทยได้รับความนิยมจากลูกค้าชาวจีนก็เพราะว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ของไทยยังมีราคาถูกกว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฮ่องกง หรือสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีกฎหมายเอื้อต่อการเป็นเจ้าของอสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ อาทิ
ไม่จำกัดราคาขั้นต่ำในการซื้อ ซึ่งจากต่างมาเลเซียที่ต้องซื้อในราคาไม่ต่ำกว่า 8-16 ล้านบาท
ได้กรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย ซึ่งแตกต่างจากจีน หรือเวียดนามที่ได้เพียงสิทธิ์การเช่าระยะยาวเท่านั้น
ไม่มีการเก็บภาษีจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ของชาวต่างชาติ เหมือนในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ต้องเสีย 20% และฮ่องกง 30% โดยเฉพาะเหมือนในสิงคโปร์ที่ต่างชาติต้องเสียภาษี
ระบบภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง และภาษีมรดก ยังไม่เริ่มบังคับใช้ (เริ่มบังคับใช้อย่างเป็นทางการในปี 2563)
ดังนั้นผู้ประกอบการจึงต้องเร่งปรับตัว ด้วยการขยายตลาดแบบเชิงรุกวางกลยุทธ์เจาะกลุ่มลูกค้าต่างชาติ ได้แก่ จีน ฮ่องกง สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อินเดีย จัดตั้งฝ่ายขายในต่างประเทศ เน้นการจัดอีเวนต์ในประเทศต่าง ๆ หรือไปตั้งสำนักงานขายในจีน โดยมีทีมงานชาวจีนเป็นผู้ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางประสานงานตัวแทนในแต่ละเมือง รวมถึงรองรับการจัดกิจกรรมโรดโชว์และอีเวนต์ต่าง ๆ ควบคู่กันไป
จากข้อมูลการค้นหาอสังหาริมทรัพย์ในเว็บไซต์ของ DDproperty ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ พบว่า ความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในไทยมีการเติบโตถึง 29% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ช่วงเดือน 3-5 มีความต้องการอสังหาริมทรัพย์สูงกว่าปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นผลมาจากการประกาศใช้มาตรการควบคุมสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย หรือ Loan to Value: LTV เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา ทำให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปิดการขายผ่านโปรโมชันต่าง ๆ โดยคำค้นตามพื้นที่ที่เป็นที่นิยมมากที่สุด 3 อันดับแรกใน 5 เดือนแรกของปีนี้คือ กรุงเทพฯ นนทบุรี และเชียงใหม่ ซึ่งยังคงเหมือนกับข้อมูล 3 อันดับแรกของปีก่อน นอกจากนี้ ข้อมูลจาก 8 ใน 10 อันดับแรกเป็นคำค้นสำหรับพื้นที่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล สะท้อนให้เห็นความต้องการอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลมากกว่าพื้นที่อื่นในประเทศ
Cr.DDproperty