เปิดโผราคาที่ดินชานเมืองพุ่งรับรถไฟฟ้า เพิ่มกว่า 60%

เปิดโผราคาที่ดินชานเมืองพุ่งรับรถไฟฟ้า เพิ่มกว่า 60%

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย

เปิดโผที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนา พื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล ไตรมาส 2 ปี 2562 ราคาขยับรอรถไฟฟ้า สามพราน, พุทธมณฑล และ อ.เมือง จ.นครปฐม ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงสุด 62.6% ปัจจุบันแผนการพัฒนาโครงข่ายด้านคมนาคมอย่างรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ได้มีการอัปเดตความก้าวหน้าด้านการก่อสร้างให้ได้เห็นกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อรถไฟฟ้าสายต่าง ๆ เหล่านี้เปิดใช้บริการ นอกจากช่วยเอื้อต่อการเดินทางในเมืองให้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นแล้ว ยังเชื่อมต่อการเดินทางสู่พื้นที่ชานเมือง ทำให้การเดินทางเข้า-ออกเมือง สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังส่งผลต่อราคาที่ดินเปล่าก่อนพัฒนา ดังจะเห็นได้จากมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่
เผยดัชนีราคาที่ดินเปล่าชานเมืองปี 62 ปรับเพิ่ม 8.8%
จากข้อมูลดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล 5 จังหวัด นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม ไตรมาส 2 ปี 2562 ของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ แสดงให้เห็นเห็นถึงดัชนีราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาในกรุงเทพฯ-ปริมณฑล มีค่าดัชนีเท่ากับ 236.9 จุด ปรับเพิ่มขึ้น 3.1% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งมีค่าดัชนีเท่ากับ 217.8 จุด และเพิ่มขึ้น 8.8% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว โดยทิศทางราคาที่ดินเปล่าไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นต่ำสุดหลังจากขยายตัวอย่างรวดเร็วเป็นตัวเลขสองหลักติดต่อกันถึง 9 ไตรมาสตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2560 ถึงไตรมาส 1 ปี 2562 โดยสาเหตุมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และกำลังซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่ลดลงจากมาตรการควบคุมสินเชื่อที่อยู่อาศัย หรือ LTV ของธนาคารแห่งประเทศไทย ประกอบกับที่ผ่านมาราคาที่ดินเพิ่มขึ้นไปมากแล้ว
สามพราน-พุทธมณฑลเนื้อหอม ราคาที่ดินพุ่ง 62.6%
สำหรับ 5 อันดับทำเลที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 2 ปี 2562 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
1. จังหวัดนครปฐม มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นมากที่สุด 62.6% ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณอำเภอสามพราน อำเภอพุทธมณฑล และอำเภอเมืองนครปฐม เนื่องจากมีแผนโครงการรถไฟฟ้าในอนาคตสายสีน้ำเงินหัวลำโพง-บางแค ส่วนต่อขยายไปพุทธมณฑลสาย 4 ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณนี้เพิ่มขึ้น
2. จังหวัดสมุทรสาคร มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 47.3% ราคาที่ดินปรับเพิ่มสูงขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในบริเวณอำเภอเมืองสมุทรสาคร และอำเภอกระทุ่มแบน เนื่องจากจะมีการก่อสร้างมอเตอร์เวย์กรุงเทพ-วังมะนาว เชื่อมต่อจากทางด่วนพิเศษช่วงพระราม 2 ส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณนี้เพิ่มขึ้น
3. เขตบางกรวย-บางใหญ่-บางบัวทอง-ไทรน้อย มีการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 45.8%
4. เขตบางเขน-สายไหม-ดอนเมือง-หลักสี่ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 40.5%
5. เมืองสมุทรปราการ-พระประแดง-พระสมุทรเจดีย์ มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 29.3% เนื่องจากมีโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา จึงส่งผลให้ราคาที่ดินในบริเวณนี้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ ราคาที่ดินเปล่าใน 5 ทำเลข้างต้น สะท้อนให้เห็นแนวโน้มความต้องการที่ดินเพื่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยได้ขยายตัวไปในพื้นที่จังหวัดปริมณฑลและชานเมืองมากขึ้น ซึ่งเป็นทำเลที่ยังมีฐานราคาต่ำ จึงมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นสูงกว่าบริเวณใจกลางเมือง เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งราคาที่ดินในเมืองได้มีการขยับขึ้นไปสูงแล้วในก่อนหน้านี้
ผู้ประกอบการเบนเข็มเจาะตลาดชานเมือง หนีราคาที่ดินแพง
ด้านภาพรวมตลาดอสังหาริมทรัพย์ปี 2562 มีหลายตัวแปรที่ส่งผลกระทบ การจะลงทุนพัฒนาโครงการใหม่จึงต้องเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบมากยิ่งขึ้น ทั้งผู้ประกอบการรายใหญ่ รายกลาง และรายเล็ก โดยจะเห็นได้จากการลดจำนวนการพัฒนาโครงการใหม่ และหันไประบายสินค้าในสต็อก รวมทั้งแสวงหาแหล่งเงินทุนใหม่ ๆ หรือพันธมิตรร่วมทุนมาเสริมความแข็งแกร่งทางธุรกิจ อีกหนึ่งการปรับตัวของผู้ประกอบคือการเบนเข็มเปิดโครงการใหม่เจาะตลาดในย่านชานเมืองมากขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินในเมืองมีราคาแพง ดังนั้นทำเลการพัฒนาโครงการใหม่ของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายกลางและรายเล็กจึงกระจายอยู่ในย่านชานเมืองเป็นหลัก ทั้งโครงการแนวราบและคอนโดมิเนียม โดยเฉพาะในทำเลที่มีระบบขนส่งรถไฟฟ้าที่เชื่อมต่อการเดินทางเข้าสู่แหล่งงานหรือใจกลางเมืองได้สะดวก ซึ่งปัจจุบันนี้ รถไฟฟ้าที่มีเส้นทางออกไปย่านชานเมืองที่ก่อสร้างเสร็จแล้ว คือ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วง โดยนับตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน พบว่า แนวรถไฟฟ้าสายสีม่วงมีซัพพลายสะสมในพื้นที่รวมประมาณ 40,000 ยูนิต โดยในจำนวนนี้เป็นซัพพลายที่อยู่ระหว่างการขาย 7,000-8,000 ยูนิต ไม่นับรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและเปิดตัวใหม่ ขณะที่ในแนวรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินมีซัพพลายสะสมอยู่กว่า 50,000 ยูนิตเศษ ซึ่งในจำนวนนี้มีการระบายออกไปแล้ว 90% ส่งผลให้มีห้องชุดอยู่ระหว่างการขาย 5,000-6,000 ยูนิต ไม่นับรวมโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและโครงการเปิดใหม่
ราคาที่ดินเปล่าขยับรอสายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) ขึ้น 33.5%
ในส่วนของทำเลที่ดินเปล่าในเส้นทางที่รถไฟฟ้าพาดผ่าน 5 อันดับแรกที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้นสูงสุด เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ได้แก่
1. สายสีเขียว (คูคต-ลำลูกกา) ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 33.5%
2. สายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 29.3% ซึ่งเป็นโครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการไปเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา ส่วนสายสีเขียวช่วงสมุทรปราการ-บางปู เป็นโครงการในอนาคตซึ่งเป็นส่วนต่อขยายจากสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) แม้ว่าขณะนี้ยังไม่เริ่มก่อสร้าง แต่ราคาที่ดินเปล่าก่อนการพัฒนาก็มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 29.3% เช่นเดียวกับราคาที่ดินช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่เปิดให้บริการแล้ว
3. สายสีแดงอ่อน (ตลิ่งชัน-ศาลายา) ซึ่งเป็นโครงการในอนาคต มีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 22.7%
4. สายสีชมพู (แคราย-มีนบุรี) เป็นโครงการอยู่ระหว่างก่อสร้างมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 17.8%
5. สายสีน้ำเงิน (บางแค-พุทธมณฑล สาย 4) เป็นโครงการในอนาคตมีอัตราการเปลี่ยนแปลงของราคาเพิ่มขึ้น 12.8%
จะเห็นได้ว่ารถไฟฟ้าถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันให้เกิดทำเลใหม่ ๆ เชื่อว่าในอนาคตเรายังจะได้เห็นภาพการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และพฤติกรรมการเลือกซื้อที่อยู่อาศัยจะไม่กระจุกตัวอยู่แต่ใจกลางเมืองอีกต่อไป แต่กระจายสู่พื้นที่ชานเมืองตามแนวรถไฟฟ้ามากขึ้น
Cr.DDproperty