#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
แน่นอนว่า ยิ่งเราอายุมากขึ้นๆ ค่าใช้จ่ายก็สูงขึ้นตามมาเช่นกัน ทั้งภาระผ่อนหนี้สิน ค่าใช้จ่ายเพื่อดูแลคนในครอบครัว และที่สำคัญ คือ เมื่อถึงวัยที่ร่างกายโรยรา ค่ารักษาพยาบาลก็ค่อนข้างสูง ดังนั้น ยิ่งอายุมากขึ้น เราจึงควรหาเงินได้มากขึ้น แต่ก็ด้วยร่างกายที่โรยราเช่นกัน ที่ทำให้เราไม่สามารถหารายได้ได้มากเท่าเดิ
โดยทั่วไปแล้ว กล่าวกันว่า เมื่อเกษียณ ค่าใช้จ่ายของเราจะเหลือ 70% ของค่าใช้จ่ายปีสุดท้ายก่อนเกษียณ นั่นเพราะว่า เมื่อเราไม่ต้องไปทำงานแล้ว ค่าใช้จ่ายจำพวกค่าเดินทาง ค่าใช้จ่ายเมื่อออกสังคม หรือภาระผ่อนสินทรัพย์ลดลง
อย่างไรก็ตาม ก็มีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นมามากๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นมา รวมทั้ง ค่าประกันต่างๆ , ค่าท่องเที่ยว เพราะการมีเวลามากขึ้น หลายๆ คนก็ฝันอยากจะไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ ก่อนที่จะไม่มีแรง , ค่าบำรุงรักษาสินทรัพย์ เพราะนอกจากร่างกายของเราจะโรยราแล้ว สินทรัพย์อย่างรถและบ้านก็เสื่อมโทรมลงเช่นกัน
วางแผนเพื่อชีวิตหลังเกษียณที่เป็นสุขใน 3 ขั้นตอน
1.สำรวจตัวเอง
ก่อนที่จะเริ่มต้นวางแผน ก็มีสิ่งที่เราต้องมาสำรวจกันก่อนว่า ตอนนี้เราอยู่จุดไหน มีตัวช่วยอะไรบ้าง และสิ่งที่ควรเตรียมให้พร้อม คุณพร้อมแล้วหรือยัง เพื่อจะได้มาแปรเป็นเป้าหมายและวางแผนการเก็บเงินต่อไป
สิ่งที่ต้องสำรวจก่อนวางแผนการเงินหลังเกษียณ มีดังต่อไปนี้
รายรับรายจ่าย
การบันทึกรายรับ-รายจ่าย เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากๆ ไม่ว่าคุณจะไปอ่านบทความการเงินหรือลงเรียนคอร์สการเงิน สิ่งนี้คือเรื่องพื้นฐาน เช่นเดียวกับการวางแผนเกษียณ เราต้องรู้ว่าค่าใช้จ่ายของเรามีอะไรบ้าง และสรุปแล้ว แต่ละปีจะใช้จ่ายเท่าไร เพื่อจะได้นำมาคูณกับจำนวนปีที่จะใช้ชีวิตหลังเกษียณ ตามที่ได้กล่าวไปแล้วข้างต้น
ภาระหนี้สิน
ภาระหนี้สินก็เป็นรายจ่ายสำคัญที่ควรรีบสะสางให้หมดโดยเฉพาะหนี้เสีย (หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เช่น หนี้บัตรเครดิต หนี้ผ่อนรถยนต์) เพื่อที่เราจะสามารถแบ่งส่วนรายได้ไปชำระหนี้สินระยะยาว (เช่น สินเชื่อบ้าน) และแบ่งเก็บเงินสำหรับเกษียณได้มากขึ้น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่ต้องนำเข้ามาไว้ในแผนการเงินหลังเกษียณด้วย
รายได้ที่จะได้หลังจากเกษียณ
ให้สำรวจว่า เมื่อเกษียณแล้วคุณจะมีรายได้จากทางใดได้บ้าง เช่น เงินบำเหน็จ-บำนาญ (กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ) กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (สำหรับพนักงานเอกชนบางที่) หรือกองทุน LTF/RMF เพื่อที่จะได้ทราบว่าตกลงแล้ว เมื่อเกษียณจะมีเงินต้น ณ ตอนนั้น ประมาณเท่าไร
ประกัน
สำรวจดูว่าขณะนี้ เรามีประกันตัวใดที่คุ้มครองเราอยู่บ้าง โดยเฉพาะประกันชีวิตและประกันสุขภาพ แล้วประกันเหล่านั้น คาดว่าคุ้มครองได้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในวันที่เราอาจไม่มีรายได้จากงานประจำแล้วหรือไม่ หากคุณใกล้เกษียณในอีก 10 15 ปี อาจเริ่มพิจารณาเพิ่มความคุ้มครองให้ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในวันที่ไม่ได้มีรายได้เท่าเดิมแล้ว
2.กำหนดเป้าหมายและวางแผนการเงิน
เมื่อรู้รายจ่ายจากการติดตามและบันทึกการใช้จ่ายของเราแล้ว เราก็จะสามารถประเมินได้ว่า 70% ของรายได้ปัจจุบันสำหรับใช้ในอนาคตคือเท่าไร ก็ให้ยึดจำนวนเงินนี้เป็นเป้าหมายเก็บเงินเกษียณ เราควรจะต้องจัดสรรเงินเพื่อเก็บออมในรูปแบบอื่นๆ เพื่อเป็นการลงทุนให้เงินเพิ่มมูลค่าในข้อต่อไป
3.วางแผนเก็บออมและลงทุน
แผนการเก็บออมและการลงทุนสำหรับชีวิตหลังเกษียณนั้น ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อสร้างรายได้อย่างจริงจัง แต่คือการสร้างความมั่นคงให้ชีวิตบั่นปลาย ดังนั้น แผนการออมและลงทุนไม่ควรมีความเสี่ยงสูง
1.ผลิตภัณฑ์เงินฝาก 35% เพื่อสมดุลความมั่นคงของพอร์ตการลงทุน แนะนำให้ออมในเงินฝากประจำที่ให้ดอกเบี้ยสูงและมีเงื่อนไขในการถอน เพื่อให้เราสามารถเก็บเงินเพื่อชีวิตหลังเกษียณได้จริง
2.หุ้นและกองทุนรวมหุ้น 15% เพื่อเป็นส่วนที่ใช้เร่งมูลค่าของเงินให้เติบโตขึ้น เพราะให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างสูงเฉลี่ย 10 12%
3.ตราสารหนี้ 50% เพื่อเป็นอีกทางที่สร้างผลตอบแทนให้ได้ แต่ความเสี่ยงต่ำมาก แนะนำให้แบ่งเงินเพื่อนำไปซื้อตราสารหนี้รัฐบาลและตราสารหนี้ที่มีความมั่นคงระยะ 10 ปี ขึ้นไป เท่านี้เงินก้อนสำหรับชีวิตวัยเกษียณของเราก็จะโตวันโตคืน
และนอกจากแผนพอร์ตการออมและการลงทุนข้างต้นแล้ว ยังมีวิธีเก็บออมเงินที่ทำให้เงินเก็บเกษียณเติบโตขึ้น และถึงเป้าหมายได้ นั่นคือ การสร้าง Passive income
สร้าง Passive Income ให้ชีวิตหลังเกษียณด้วยอสังหาริมทรัพย์
นอกจากการเก็บหอมรอมริบเม็ดเงินในแต่ละเดือนแล้ว ขอแนะนำว่าให้คุณเปิดก๊อก Passive income ให้เงินไหลเข้ามาเอง ด้วยการลงทุนอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งก็มีอยู่หลักๆ ด้วยกัน 3 วิธี ได้แก่
1. ลงทุนทำบ้านเช่า
2. ลงทุนบ้านมือสอง
3. ลงทุนทำอพาร์ทเม้นท์/ห้องเช่า
วิธีการนี้ สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่ช่วงที่ทำงานและเริ่มมีเสถียรภาพทางการเงิน และสามารถกู้เงินธนาคารได้ ด้วยการลงทุนแบบ OPM: Other peoples money ทำให้เราสามารถสร้างรายได้ได้ทันที เพียงกู้สินเชื่อบ้าน มาทำบ้านเช่า ห้องเช่า ซื้อบ้านหรือคอนโดฯ เพื่อปล่อยเช่า หรือปรับปรุงบ้านมือสองเพื่อปล่อยเช่า โดยให้สินทรัพย์เหล่านี้สร้างผลตอบแทนให้สูงกว่ายอดผ่อน และเมื่อผ่อนหมด อสังหาริมทรัพย์ที่ลงทุนไว้ก็จะให้ดอกผลเราแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ต้องห่วงว่าจะขาดรายได้
เราไม่สามารถหลีกเลี่ยงวัยเกษียณได้ แต่เราสามารถเตรียมพร้อมเพื่อจะมีชีวิตหลังเกษียณที่เป็นสุขได้ หัวใจสำคัญสำหรับการเก็บเงินเกษียณ คือ การเริ่มต้นให้เร็ว เพราะยิ่งเก็บเงินเร็วเท่าไร เราก็ยังไม่ลำบาก อีกทั้ง ยิ่งเริ่มเร็ว ก็จะยิ่งรู้แนวทางในการปรับเปลี่ยนแผนเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย
Cr. ธนาคารอาคารสงเคราะห์