วิเคราะห์อสังหาฯ ปี 63: ปีแห่งการปรับสมดุลดีมานด์-ซัพพลาย

วิเคราะห์อสังหาฯ ปี 63: ปีแห่งการปรับสมดุลดีมานด์-ซัพพลาย

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
ภาพรวมตลาดที่อยู่อาศัยขยายตัวต่อเนื่องจากปลายปี 62 ผลจากมาตรการกระตุ้น เผยตัวเลขที่อยู่อาศัยใหม่เปิดตัวใกล้เคียงปี 61 แสดงถึงความต้องการซื้อยังมี ขณะที่ปี 63 ผู้ประกอบการเผชิญความท้าทาย และควบคุมซัพพลายให้สมดุล
จากข้อมูลของศูนย์ข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัยไตรมาส 3 ต่อเนื่องไตรมาส 4 ปี 2562 พบว่า หลังจากที่รัฐบาลประกาศมาตรการลดค่าธรรมเนียมจดทะเบียนการโอนกรรมสิทธิ์ จากเดิม 2% เหลือ 0.01% และค่าจดทะเบียนการจำนองอสังหาริมทรัพย์ จากเดิม 1% เหลือ 0.01% สำหรับที่อยู่อาศัยราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท
จากมาตรการดังกล่าวคาดว่าจะทำให้ตัวเลขการโอนกรรมสิทธิ์ที่อยู่อาศัย จากเดิมที่ประเมินว่าภาพรวมจะติดลบ 7.7% แต่เมื่อมีมาตรการมากระตุ้น ประมาณการได้ว่าในปี 2562 การโอนกรรมสิทธิ์ทั่วประเทศ ณ สิ้นปี น่าจะลดลงจากปี 2561 ประมาณ 0.6% มูลค่าลดลงประมาณ 2.2%
ย้อนวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดที่อยู่อาศัย สู่โค้งสุดท้ายปี 62
หากประเมินสถานการณ์ไตรมาส 4 ปี 2562 ในพื้นที่กรุงเทพฯ-ปริมณฑล คาดว่าจะมีการเปิดโครงการใหม่ทั้งบ้านจัดสรรและคอนโดมิเนียมเพิ่มขึ้นมากกว่า 3 ไตรมาสที่ผ่านมาอย่างเห็นได้ชัด โดยคาดว่าโครงการบ้านจัดสรรจะเปิดโครงการใหม่ 14,954 หน่วย เป็นคอนโดมิเนียม 29,399 หน่วย
นอกจากนั้นยังคาดอีกว่าจะมีการเปิดตัวโครงการใหม่ทั้งปี 2562 จำนวน 112,044 หน่วย ลดลงจากปี 2561 คิดเป็น 23.2% แบ่งเป็นโครงการบ้านจัดสรร 46,010 หน่วย คิดเป็น 41.1% ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 คิดเป็น 24.4% เป็น
โครงการคอนโดมิเนียม 66,034 หน่วย คิดเป็น 58.8% ลดลง 22.4% จากช่วงเดียวกันของปี 2561
ในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 หลังจากได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นจากรัฐบาล คาดว่าจะเหลืออุปทานในตลาด 257,969 หน่วย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ดีขึ้นกว่าไม่มีมาตรการรองรับ คิดเป็น 2.4% และคาดว่าจะมียอดการโอนกรรมสิทธิ์รวมทั่วประเทศประมาณ 361,696 หน่วย เป็นมูลค่ารวม 820,624 ล้านบาท ซึ่งน่าจะลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2561 คิดเป็น 2.2%
หากจะประเมินทิศทางตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2563 ถือได้ว่าปรับตัวเข้าสู่ภาวะสมดุลและขยายตัวต่อเนื่อง เช่นเดียวกับความต้องการซื้อที่อยู่อาศัย โดยมีปัจจัยสำคัญคืออัตราดอกเบี้ยขาลง และมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ของรัฐบาล ทั้งการลดค่าธรรมเนียมการโอนกรรมสิทธิ์และค่าจดจำนอง รวมถึงโครงการบ้านดีมีดาวน์ ส่งผลให้อุปทานในตลาดจะถูกทยอยดูดซับและอยู่ในภาวะที่สมดุล โดยภาพรวมทั่วประเทศครึ่งแรกปี 2563 คาดว่าจะมีที่อยู่อาศัยเหลือขายประมาณ 245,371 หน่วย
CR.DDproperty