ส่องทำเลเด่นรับผังเมืองกรุงเทพฯ ใหม่ ‘เปลี่ยนสี’

ส่องทำเลเด่นรับผังเมืองกรุงเทพฯ ใหม่ ‘เปลี่ยนสี’

#สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ #อยู่ต่างประเทศซื้อบ้านในไทย #สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน #อยู่ต่างประเทศอยากซื้อบ้านในไทย
ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีทิศทางการปรับผังเมืองในหลายพื้นที่สำคัญเพื่อให้สอดรับกับการพัฒนารถไฟฟ้าสายใหม่ อาทิ สายสีเหลือง สายสีน้ำตาล สายสีเขียวอ่อน สายสีชมพู สายสีแดงเข้ม และสายสีม่วง โดยมีการปรับจากพื้นที่สีเหลือง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นพื้นที่สีส้ม ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และพื้นที่สีน้ำตาล ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
การปรับผังเมืองดังกล่าวส่งผลให้ผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ จะมีพื้นที่สีเหลือง ลดลงจาก 438.33 ตารางกิโลเมตร เหลือ 393.79 ตารางกิโลเมตร หรือลดลง 10.14% ส่วนพื้นที่สีส้ม เพิ่มขึ้นจาก 248.08 ตารางกิโลเมตร เป็น 345.65 ตารางกิโลเมตร หรือเพิ่มขึ้น 39.33% ส่วนพื้นที่สีน้ำตาล เปลี่ยนแปลงเล็กน้อยเพียง 0.57% ขณะที่พื้นที่สีแดง หรือพื้นที่สำหรับพาณิชยกรรมเพิ่มขึ้น 9%
ทำเลเด่น อานิสงส์ผังเมือง ‘เปลี่ยนสี’
ทำเลเด่นที่ผังเมืองกรุงเทพมหานคร ฉบับใหม่ (ปรับปรุงครั้งที่ 4) มีการปรับสีผังเมืองที่เอื้อต่อการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น ได้แก่
ฝั่งธนบุรี มีการปรับจากพื้นที่สีเขียว หรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม เป็นพื้นที่สีเหลือง หรือที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นน้อย และปรับจากพื้นที่สีเหลือง หรือที่ดินประเภทอยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เป็นพื้นที่สีส้ม หรือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง และพื้นที่สีน้ำตาล หรือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
ตลิ่งชัน ปัจจุบันผังเมืองกำหนดให้เป็นพื้นที่สีเขียวลาย หรือพื้นที่อนุรักษ์ชนบท และเกษตรกรรม จะเปลี่ยนเป็นพื้นที่สีเหลือง-ส้ม หรือที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง ซึ่งจะเชื่อมต่อกับ จ.นนทบุรี ที่เป็นพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่พาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก เพื่อส่งเสริมให้เป็นศูนย์ชุมชนชานเมืองฝั่งตะวันตก
กรุงเทพฯ ตอนเหนือ ได้แก่ แนว ถ.พหลโยธิน และ ถ.วิภาวดีรังสิต ครอบคลุมแยกรัชโยธิน ห้าแยก
ลาดพร้าว และจตุจักร มีการปรับผังเมืองจากพื้นที่สีส้ม ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง เป็นพื้นที่สีน้ำตาล ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก
ลาดพร้าวและวังทองหลาง แนวรถไฟฟ้าสายสีเหลือง เปลี่ยนจากพื้นที่สีเหลือง ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นน้อย เปลี่ยนเป็นพื้นที่สีส้ม ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นปานกลาง
มีนบุรี หนองจอก ลาดกระบัง คลองสามวา เหนือสนามบินสุวรรณภูมิ เนื้อที่กว่า 1 แสนไร่ ปัจจุบันเป็นพื้นที่สีเขียวลาย หรือที่ดินประเภทอนุรักษ์และเกษตรกรรม โดยจะลดพื้นที่ฟลัดเวย์ และปรับเป็นพื้นที่สีเขียว ที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรม เปิดโอกาสให้สามารถพัฒนาบ้านเดี่ยวได้
พระราม 9 ยกระดับเป็นศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ หรือพื้นที่สีแดง ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก ครอบคลุมพื้นที่ตั้งแต่สุขุมวิท พระราม 9 ศูนย์วัฒนธรรมฯ และเดอะสตรีท รัชดา จากปัจจุบันที่เป็นพื้นที่สีน้ำตาล ที่ดินประเภทที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก เช่นเดียวกับทำเลรอบสถานีสุทธิสาร และห้วยขวาง
3 ศูนย์กลางคมนาคม พื้นที่ใช้ประโยชน์ที่ดินปรับสูงสุด คือ 3 ศูนย์คมนาคมในอนาคต ได้แก่ สถานีกลางบางซื่อ ศูนย์กลางคมนาคมมักกะสัน และศูนย์กลางคมนาคม ตากสิน-วงเวียนใหญ่ ปรับจากพื้นที่สีน้ำเงิน ที่ดินประเภทหน่วยงานราชการ เป็นพื้นที่สีแดง ที่ดินประเภทพาณิชยกรรมและที่อยู่อาศัยหนาแน่นมาก รองรับการเป็น Sub-CBD หรือพื้นที่ศูนย์กลางเศรษฐกิจของกรุงเทพฯ รองจากสีลม สาทร และสุขุมวิทในอนาคต

Cr.DDproperty