เมื่อกลางดึกที่ผ่านมา เวลาประมาณ 2.42 น. สำนักงานประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร รายงานผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร โดยมีรายละเอียดดังนี้
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นสมควรให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นและผู้บริหารท้องถิ่นของกรุงเทพมหานคร และคณะกรรมการการเลือกตั้งได้ประกาศกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) และผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2565 ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำกรุงเทพมหานคร (นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร) จึงประกาศกำหนดระยะเวลารับสมัครรับเลือกตั้งระหว่างวันที่ 31 มีนาคม – 4 เมษายน 2565 ณ ห้องบางกอก อาคารไอราวัตพัฒนา และให้มีการเลือกตั้ง ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2565 เวลา 08.00 – 17.00 น.
ทั้งนี้ เมื่อนับคะแนนเลือกตั้งแล้วเสร็จทั้ง 50 สำนักงานเขต รวม 6,817 หน่วยเลือกตั้ง ผลการนับคะแนนผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ก. และผู้ว่าฯ กทม. อย่างไม่เป็นทางการ ในเวลา 01.10 น. ของวันที่ 23 พฤษภาคม 2565 มีดังนี้
การเลือกตั้ง ส.ก.
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั้งหมดของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 4,357,098 คน
ผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งของหน่วยที่นับคะแนนแล้ว 2,635,283 คน
ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.48
เป็นผู้สมัครสังกัดพรรคเพื่อไทย จำนวน 19 คน พรรคก้าวไกล 14 คน พรรคประชาธิปัตย์ 9 คน พรรคไทยสร้างไทย 2 คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน กลุ่มรักษ์กรุงเทพ 2 คน และผู้สมัครอิสระ 2 คน
การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในบัญชีรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง จำนวน 4,402,948 คน
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มาแสดงตนขอรับบัตรเลือกตั้ง จำนวน 2,673,696 คน
ร้อยละของผู้มาใช้สิทธิ 60.73
บัตรดี จำนวน 2,561,447 บัตร คิดเป็นร้อยละ 95.80
บัตรเสีย จำนวน 40,017 บัตร คิดเป็นร้อยละ 1.50
บัตรไม่ประสงค์ลงคะแนน จำนวน 72,227 บัตร คิดเป็นร้อยละ 2.70
เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งมากที่สุด คือ เขตทวีวัฒนา ร้อยละ 67.65
เขตที่มีผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งน้อยที่สุด คือ เขตดุสิต 45.82
ผลการนับคะแนนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ปรากฏว่า หมายเลข 8 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร สังกัดอิสระ ได้รับคะแนนเสียงเลือกตั้งสูงสุด จำนวน 1,386,215 คะแนน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่าปริมาณคะแนนดังกล่าวทำลายสถิติผู้ชนะในสนามเลือกตั้งผู้ว่าฯ เมืองหลวง กลายเป็นคะแนนสูงสุดในประวัติศาสตร์การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร
กกต.ประกาศรับรองผลการเลือกตั้งภายใน 30 วัน
ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ.2562 มาตรา 17 ระบุให้ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใด เมื่อคณะกรรมการการเลือกตั้งตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุอันควรเชื่อว่าผลการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้ประกาศผลการเลือกตั้งนั้นภายในสามสิบวันนับแต่วันเลือกตั้ง
สรุปรายงานเหตุการณ์ประจำวัน
ภาพรวมการเลือกตั้งตลอดทั้งวันพบมีฝนตกในหลายพื้นที่ ซึ่งสำนักงานเขตพื้นที่ได้จัดเจ้าหน้าที่เร่งอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ มีการรายงานการฉีกบัตรเลือกตั้ง จำนวน 3 ราย (เขตสวนหลวง เขตบางซื่อ เขตสัมพันธวงศ์) // ขยำบัตรเลือกตั้ง จำนวน 1 ราย (เขตคลองเตย) // นำบัตรเลือกตั้งออกจากหน่วยเลือกตั้ง จำนวน 1 ราย (เขตบางซื่อ) โดยเจ้าหน้าที่ได้ประสาน สน.เตาปูน ติดตามและนำตัวไปดำเนินคดี // มีการทำบัตรเลือกตั้งชำรุด จำนวน 1 ราย (เขตหนองแขม) เนื่องจากเข้าใจว่าหย่อนบัตรผิดหีบ จึงดึงบัตรเลือกตั้งกลับคืน ทำให้บัตรชำรุด เจ้าหน้าที่ รปภ. นำตัวไปลงบันทึกประจำวันที่ สน.หนองแขม // มีผู้ใช้สิทธิเลือกตั้งทำเครื่องหมายกากบาทลงในบัตรลงคะแนน แล้วใช้โทรศัพท์มือถือถ่ายภาพบัตรเลือกตั้งขณะอยู่ในคูหาเลือกตั้ง เพื่อให้เห็นเครื่องหมายลงคะแนนในคูหาเลือกตั้ง เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ทำการจับกุมและส่งพนักงานสอบสวน สน.พญาไท (เขตราชเทวี) // ภาพรวมผู้ป่วยโควิด-19 มาใช้สิทธิเลือกตั้ง จำนวน 93 ราย ผู้มีอุณหภูมิเกิน 37.5 องศาเซลเซียส จำนวน 25 ราย
แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565
ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้เนื่องจากมีเหตุอันสมควรให้แจ้งเหตุที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งต่อนายทะเบียนท้องถิ่น ระหว่างวันที่ 23-29 พฤษภาคม 2565 โดยสามารถแจ้งเหตุได้ 3 ช่องทาง คือ
ทำเป็นหนังสือยื่นด้วยตนเองหรือมอบหมายให้บุคคลอื่นยื่นแทน
ทำเป็นหนังสือจัดส่งทางไปรษณีย์ โดยถือเอาวันที่ไปรษณีย์ลงรับเป็นวันแจ้งเหตุฯ และ
แจ้งทางอิเล็กทรอนิกส์ที่เว็บไซต์ www.bora.dopa.go.th หรือ www.ect.go.th หรือ แอปพลิเคชัน Smart Vote หัวข้อ การแจ้งเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งทางอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้ เหตุที่ถือเป็นเหตุจำเป็นที่ไม่อาจไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้ ประกอบด้วย
มีกิจธุระจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ห่างไกล
เจ็บป่วยและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
เป็นคนพิการหรือทุพพลภาพ หรือผู้สูงอายุและไม่สามารถเดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้งได้
เดินทางออกนอกราชอาณาจักร
มีถิ่นที่อยู่ห่างไกลจากที่เลือกตั้งเกินกว่า 100 กิโลเมตร
ได้รับคำสั่งจากทางราชการให้ไปปฏิบัติหน้าที่นอกเขตเลือกตั้ง และ
เหตุสุดวิสัยอื่น
💬 ที่มา: https://www.sanook.com/news/8565402/
🖼 ภาพจาก: https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1005807
Sun Gateway, ซัน เกทเวย์, บริษัท ซัน เกทเวย์ จํากัด, สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างประเทศ, สินเชื่อเพื่อคนไทยในต่างแดน, สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน, สินเชื่อบ้านคนไทยในต่างแดน, สินเชื่อต่างแดน, ธอส สินเชื่อคนไทยในต่างประเทศ, สินเชื่อ ธอส เพื่อคนไทยในต่างประเทศ, โครงการบ้าน ธอส